พยาบาลวิชาชีพในจังหวัดแดนใต้ ร้องคณะกรรมการสิทธิ ถูกลดค่าตอบแทน

โดย นาซือเราะ
2015.05.08
TH-nurse-620 นางวิภา คณะไชย ผู้แทนชมรมพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสมาชิกชมรมฯ จำนวน 15 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียน ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมี ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี 8 พ.ค.2558
เบนาร์นิวส์

วันนี้ 8 พ.ค. 2558 ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี นางวิภา คณะไชย ผู้แทนชมรมพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสมาชิกชมรมฯ จำนวน 15 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียน ขอความเป็นธรรมให้กับพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมี ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน

คำสั่งลดค่าตอบแทน

นางวิภา คณะไชย แทนชมรมพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า จากนโยบายด้านการสาธารณสุขของรัฐ ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุข ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี โดยยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น ทำให้มีการขยายบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมากขึ้น มีภาระงานล้นมือ ทั้งเชิงรุกเชิงรับ ทั้งงานด้านการรักษาพยาบาล งานวิชาการ และต้องปฏิบัติงานทั้งในและนอกสถานที่บริการ ในชุมชนที่ห่างไกลและทุรกันดาร  แต่กระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งให้ลดค่าตอบแทนของพยาบาลวิชาชีพ ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลงจากเดิม คือ จากเดิมที่เคยได้รับเป็นแบบเหมาจ่าย 3000 บาทต่อเดือน เหลือเพียง 1,200 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ที่ปฎิบัติงาน 1-3 ปี และ 1,800 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ที่ปฎิบัติงาน 4 ปีขึ้นไป จึงเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งดังกล่าว

ตำแหน่งงาน ไม่ก้าวหน้า และขาดความมั่นคง

“พยาบาลวิชาชีพที่บรรจุใหม่ ไม่สามารถเลือกปฎิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนได้ทุกคน บางคนถูกส่งไปอยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทำให้มีรายได้จากการทำงานที่แตกต่างกันมาก กับผู้ที่บรรจุในโรงพยาบาลชุมชน การย้ายลำบาก ไม่มีความก้าวหน้า ปัจจุบันพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีจำนวน 35 คน เจ้าหน้าที่เหล่านี้สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฯ มาเป็นเวลานาน ทำงานได้ดี ไม่มีข้อบกพร่อง แต่เป็นได้เพียงตำแหน่งรักษาการ ไม่มีความก้าวหน้า แม้บางคนทำงานมานานถึง 10 ปีแล้ว หรือทำงานจนเงินเดือนเต็มขั้น ตำแหน่งสูงสุดเป็นเพียงพยาบาลวิชาชีพชำนาญการเท่านั้น จากความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ บวกกับสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย ทำให้พวกเขาขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน”

ข้อเรียกร้อง ขอความเป็นธรรม

ชมรมพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสมาชิก 857 คน เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมด 4 ข้อ คือ 1. ขอให้พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนของพยาบาลวิชาชีพ ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเท่ากับค่าตอบแทนของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชน  2.พิจารณาออกคำสั่ง การเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน จากเงินงบประมาณเท่านั้น ไม่ใช้เงินจากงบบำรุงของโรงพยาบาล เนื่องจากมีความล่าช้า ไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด ทำให้ได้รับความเดือดร้อน  3. ขอให้พิจารณากำหนดตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ให้กับพยาบาลวิชาชีพ ที่ปฎิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นเวลานาน มีคุณสมบัติเหมาะสมได้ 4. ขอให้พิจารณาให้พยาบาลวิชาชีพ ที่ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ สามารถดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนสายงาน เป็นนักวิชาการสาธารณสุขเหมือนปัจจุบัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง