ประเทศไทย: ผู้เห็นต่างทางภาคใต้ไม่ใส่ใจต่อโอกาสการพูดคุยเพื่อสันติสุข รายงานกล่าว
2015.07.14
รัฐบาลไทยกำลังพยายามประชุมอีกครั้งกับกลุ่มผู้เห็นต่างในภาคใต้ เพื่อปูทางสำหรับการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเป็นทางการ แต่กลับถูกเมินจากกลุ่มผู้เห็นต่างส่วนใหญ่ ตามรายงานฉบับหนึ่งที่แพร่งพรายออกมา
“ผู้เห็นต่างส่วนใหญ่ในภาคสนาม ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพราะเชื่อว่าความพยายามนี้จะไม่มีความยั่งยืน และว่า การพูดคุยกับรัฐบาลจะทำให้ตนเสียเปรียบ” ตามรายงานความคืบหน้าที่ทีมข่าวเบนาร์นิวส์ได้จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงท่านหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยนาม
รายงานยาว 11 หน้าดังกล่าว มีรายละเอียดเกี่ยวกับความพยายามอย่างลับ ๆ เพื่อโน้มน้าวให้บรรดากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและกลุ่มย่อยต่าง ๆ ในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย กลับสู่โต๊ะเจรจา ระบุว่า สองผู้นำสูงสุดฝ่ายคุมกองกำลังทหาร ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มสำคัญ กำลังหลีกเลี่ยงกระบวนการเพื่อสันติภาพ
“ปัจจุบันกลุ่มที่มีปัญหาที่สุดคือ กลุ่ม BRN [บีอาร์เอ็น หรือ กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี]” รายงานนั้นกล่าว “โดยผู้อาวุโสรุ่นเก่า ซึ่งบางส่วน เห็นด้วยกับการพูดคุย กำลังถูกลดบทบาทลงจากฝ่ายที่คุมกองกำลังทหาร”
“คือกลุ่มของ นาย สะแปอิง บาซอ และดูนเลาะ แวมะนอ รวมทั้งฝ่ายเยาวชน ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยดังกล่าว” รายงานนั้นเสริม
“โดยเห็นว่า ทางฝ่ายขบวนการ ยังคงได้เปรียบในการต่อสู้ และการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด อีกทั้ง เป้าหมายหลัก คือ เอกราช ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติสุข”
รายงานฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีฐานอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ และมีบทบาทในการพยายามป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง กล่าวว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทย และกลุ่มผู้เห็นต่าง ต่างก็ขาดความเป็นเอกภาพในประเด็นเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุข และยังเป็นการยากที่จะโน้มน้าวให้พวกหัวรุนแรงของกลุ่มบีอาร์เอ็นยินยอมที่จะเข้าร่วมในการพูดคุย
ข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ต้องการให้ไทยมอบอธิปไตยให้แก่สามจังหวัดภาคใต้ พื้นที่ที่ราษฎรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และยอมรับ “รัฐปาตานีมลายู” เป็นประเด็นที่ทำให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขรอบสุดท้าย ภายใต้รัฐบาลที่นำโดยพลเรือน สะดุดลงเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556
รายงานนั้นยังกล่าวด้วยว่า กลุ่มผู้เห็นต่างยังกังขาเกี่ยวกับการเจรจากับรัฐบาลไทย “เพราะรัฐบาลนี้เป็น [รัฐบาล] ชั่วคราว และพวกตนไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะตั้งใจที่จะทำตามข้อตกลงหรือไม่”
รัฐบาลกดดันต่อไป
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็กำลังพยายามจัดให้มีการประชุม ก่อนการพูดคุยอีกครั้งในประเทศมาเลเซีย กับตัวแทนของกลุ่มผู้เห็นต่าง จากกลุ่มต่าง ๆ ตามรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิดกับความพยายามนี้
“(เรา) ได้ติดต่อกับผู้เห็นต่างกลุ่มต่าง ๆ แม้จะไม่แน่ใจนัก แต่เราก็คาดหวังว่าจะมีการประชุมก่อนการพูดคุยรอบใหม่ในประเทศมาเลเซีย ในเดือนสิงหาคมนี้” พล.ต. นักรบ บุญบัวทอง บอกแก่เบนาร์นิวส์
เป้าหมายของรัฐบาลคือ เพื่อเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่าง และให้กลุ่มเหล่านี้ยอมรับโรดแมพสู่สันติสุขก่อนสิ้นปีนี้หรือในต้นปี 2559 พล.ต. นักรบ กล่าว
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ ไม่ควรถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการนำกลุ่มผู้เห็นต่าง/ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้กลับสู่การพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นครั้งแรก นับแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 พล.ต. นักรบ เสริม
สุดสัปดาห์มฤตยู
เมื่อวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีการลอบวางระเบิดเพิ่มขึ้นในพื้นที่นี้ โดยสงสัยว่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน
ตั้งแต่คืนวันศุกร์ถึงวันเสาร์ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย และบาดเจ็บ 11 ราย จากการลอบวางระเบิดหลายครั้งติดต่อกัน และเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นจากการระเบิด ในตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอธารโต จังหวัดยะลา เจ้าหน้าที่ทหารกล่าว
เมื่อวันจันทร์ มีการลอบวางระเบิดสองจุดในจังหวัดปัตตานี ทำให้เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยสี่นายได้รับบาดเจ็บ สำหรับที่อื่น มีการลอบยิง ในจังหวัดนราธิวาส และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน และเสียชีวิต 2 ราย เจ้าหน้าที่ทหารในสามจังหวัดภาคใต้เตือนว่า อาจมีการโจมตีเพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในช่วงวันสุดท้ายของเทศกาลรอมฎอน
การประชุมในมาเลเซีย
รายงานความคืบหน้าดังกล่าวยืนยันว่า เป็นเวลานานพอสมควรแล้วที่รัฐบาลกำลังพยายามจัดการประชุมก่อนการพูดคุยอีกครั้งในปุตราจายา ศูนย์กลางบริหารของรัฐบาลกลางมาเลเซีย ในเดือนสิงหาคม
เมื่อเดือนที่แล้ว มีการประชุมก่อนการพูดคุยเกิดขึ้นสองครั้ง ตามข้อมูลจากรายงานดังกล่าว ครั้งแรกมีขึ้นในปุตราจายา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน และครั้งที่สองมีขึ้นหนึ่งสัปดาห์ต่อมาที่ค่ายกัลยาณิวัฒนา ในจังหวัดนราธิวาส
ตามรายงานดังกล่าว การประชุมครั้งต่อไปจะมีผู้แทนไทย 10 คน และผู้แทนขององค์กรสภาพันธะแห่งประชาชนปาตานี องค์กรร่มที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มบีอาร์เอ็น อีก 10 คน เข้าร่วมในการประชุม
“การพูดคุยครั้งใหม่ในปุตราจายา จะมุ่งไปที่การบรรลุข้อกำหนดของการเจรจา และจะหารือถึงระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ทั้งก่อน ในระหว่าง และหลังการพูดคุย ที่ผู้เข้าร่วมต้องปฏิบัติตาม” รายงานนั้นกล่าว
“จะมีการระบุจำนวนผู้เข้าร่วม และชื่อของผู้แทนแต่ละคน ผู้ที่เป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาลไทย จะได้รับการยกเว้นจากการถูกจับ”