บรรณาธิการ “ภูเก็ตหวาน” ขึ้นศาลวันแรก
2015.07.14
14 กรกฎาคม 2558 การพิจารณาคดีของ นายอลัน มอริสัน และ น.ส. ชุติมา สีดาเสถียร บรรณาธิการและผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ สำนักข่าวภูเก็ตหวาน (Phuketwan.com) ในข้อหาหมิ่นประมาท และฐานละเมิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ 2550 ซึ่งห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติได้เริ่มขึ้นแล้ว ที่ศาลจังหวัดภูเก็ตวันนี้
ทั้งสองถูกตั้งข้อหาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 หากถูกพิพากษาลงโทษ นายอลัน มอริสัน และ น.ส. ชุติมา สีดาเสถียร อาจถูกจำคุกสูงสุดเป็นเวลาเจ็ดปี และถูกปรับเป็นจำนวน 300000 บาท สำนักข่าวเอพีกล่าว
คดีอาญานี้เป็นผลมาจากการที่ภูเก็ตหวานได้ตีพิมพ์บทความส่วนหนึ่งของรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนที่ตีพิมพ์โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ในเดือนกรกฎาคม 2556 อีกครั้ง บทความนี้พาดพิงถึงบุคลากรของกองทัพเรือว่า มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบขนชาวมุสลิมโรฮิงญาจากเมียนมาผ่านทางภาคใต้ประเทศไทย
การพิจารณาคดีดังกล่าวจะเริ่มจากการสืบพยานโจทก์ของฝ่ายกองทัพเรือ และถัดมาเป็นการสืบพยานฝ่ายจำเลย คาดว่าจะใช้เวลาสามวัน และการพิพากษาคดีจะมีขึ้นภายใน 30 วัน
ด้านนายอลัน มอริสัน กล่าวแก่ เอเอฟพีก่อนเริ่มการพิจารณาคดีว่า “เราก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมรัฐบาลไทยไม่ถอนฟ้อง”
“ทางกองทัพเรือไทยตัดสินใจไม่ฟ้องสำนักข่าวรอยเตอร์ เราอ้างอิงบทความในย่อหน้าเดียวกัน (แต่กลับฟ้องบรรณาธิการของภูเก็ตหวาน) เพียงย่อหน้าเดียวที่นำมาลงเผยแพร่อีกครั้ง อ้างคำต่อคำจากสำนักข่าวรอยเตอร์”
บทความรายงานสืบสวนดังกล่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ของอังกฤษ ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ในหมวดการรายงานข่าวต่างประเทศเมื่อปีที่แล้ว
สัปดาห์ก่อนหน้านี้ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน 8 องค์กร รวมถึง องค์กรฮิวแมนไรท์ซวอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐอเมริกา ได้ยื่นจดหมายลงวันที่ 8 กรกฎาคม เรียกร้องต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ให้ยุติการดำเนินคดีต่อบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวาน
ขณะที่ สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในแถลงการณ์ แสดงความกังวลอย่างมากต่อการดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าวทั้งสองของสำนักข่าวภูเก็ตหวาน
"ในฐานะที่เป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิ ทางการเมือง ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (มาตรา 19) ..." สำนักข้าหลวงใหญ่ฯ กล่าวในแถลงการณ์
"เสรีภาพของสื่อมวลชน รวมทั้งเสรีภาพของผู้สื่อข่าวที่จะทำงานได้โดยไม่กลัวการโต้ตอบ และแก้แค้น เป็นสิ่งจำเป็นในการส่งเสริมความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ" แถลงการณ์ระบุ