การพิจารณาคดีภูเก็ตหวานในจังหวัดภูเก็ตสิ้นสุดลงแล้ว
2015.07.16
ในวันที่ 1 กันยายนปีนี้ สองนักข่าวในภาคใต้ของไทยจะทราบผลการตัดสินคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาท หลังการพิจารณาคดีในศาลจังหวัดภูเก็ตเป็นเวลาสามวัน และได้สิ้นสุดลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
อัยการปฏิเสธที่จะซักค้านพยานฝ่ายจำเลย รวมทั้งจำเลยทั้งสองคน
นายอลัน มอริสัน และ น.ส. ชุติมา สีดาเสถียร บรรณาธิการภูเก็ตหวาน เว็บไซต์ข่าวที่มีฐานอยู่บนเกาะภูเก็ต จังหวัดทางภาคใต้ของไทย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทกองทัพเรือไทย ในบทความหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 ที่พาดพิงถึงบุคลากรของกองทัพเรือว่า มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบขนคน
ย่อหน้าที่ทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมายแก่บุคคลทั้งสองนี้ เป็นบทคัดย่อจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เกี่ยวกับการค้ามนุษย์
บุคคลทั้งสองยังถูกตั้งข้อหาภายใต้พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ 2550 ฐานเผยแพร่เนื้อหาที่มีข้อความหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ต หากถูกพิพากษาลงโทษ นายอลัน มอริสัน และ น.ส. ชุติมา สีดาเสถียร อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดเจ็ดปี
พยานชาวโรฮิงญา
หนึ่งในพยาน ที่ให้ปากคำเมื่อวันพฤหัสบดี คือ นายอับดุล กาลัม ชาวมุสลิมโรฮิงญา หัวหน้ามูลนิธิแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่ให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ที่เดินทางทางทะเล และทางบกจากเมียนมาผ่านประเทศไทยไปยังมาเลเซีย การเดินทางของคนเหล่านี้ มักจะถูกจัดการโดยเครือข่ายผู้ค้ามนุษย์
นายอับดุล กาลัม ซึ่งพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว บอกแก่ผู้พิพากษาว่า เขาอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย และทำงานในอุตสาหกรรมอาหาร
เขายังช่วยเจ้าหน้าที่ของไทยในฐานะล่าม และได้สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนมาก
ผู้ลี้ภัยได้บอกเขาว่า พวกเขาเห็น ‘เรือของกองทัพเรือ’ สกัดเรือของบรรดาผู้ลี้ภัยในน่านน้ำของจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และสตูล จากนั้น จึงได้โทรศัพท์ถึงหัวหน้าขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นชาวโรฮิงญา
หลังจากนั้นหลายชั่วโมง หัวหน้าคนดังกล่าวจะปรากฏตัวขึ้น และ “ซื้อตัว” ผู้ลี้ภัย ก่อนที่จะประสานงานเพื่อลักลอบคนเหล่านั้นเข้าสู่มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของไทย นายอับดุล กาลัม ให้การเป็นพยาน
เมื่อผู้พิพากษาถามเขาว่า “กองทัพเรือไหน” ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง นายอับดุล กาลิม ตอบว่า “กองทัพเรือของไทย”
คำแปลผิดพลาด
หลังการพิจารณาคดีในศาล นายอลัน มอริสัน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน บอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า เขาดีใจที่การพิจารณาคดีนี้ ทำให้ประเด็นเรื่องเสรีภาพสื่อในประเทศไทย และชะตากรรมของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ซึ่งได้รับการรายงานเป็นประจำในเว็บไซต์ของเขา ได้รับความสนใจ
เขากล่าวว่า เขาหวังว่าคำตัดสินจะเป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย
นายอลัน มอริสัน อ้างว่า จุดสำคัญของคดีนี้คือคำแปลที่ผิดพลาด
เขาอ้างว่า กองทัพเรือแปลบทคัดย่อจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน เป็นภาษาไทยอย่างผิด ๆ
บทความฉบับภาษาอังกฤษเขียนว่า “กำลังพลทหารเรือ” มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบขนคน ขณะที่ฉบับแปลพาดพิงถึง “ราชนาวีไทย” ทั้งหมด ตามคำพูดของนายอลัน มอริสัน
ผู้บังคับกอง ถนอม ลำไซอี รองหัวหน้ากองพระธรรมนูญ ประจำกองบัญชาการทัพเรือภาคที่สาม อธิบายเกี่ยวกับคดีของกองทัพเรือที่ฟ้องเว็บไซต์ภูเก็ตหวานว่า
“เมื่อเราเห็นบทความดังกล่าวปรากฏบนเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน เราถือว่าบทความนั้นเป็นการหมิ่นประมาท และได้ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายและภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะยื่นฟ้องอย่างเป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตำบลวิชิต” เขากล่าว หลังการพิจารณาคดีเมื่อวันพุธ
เนื่องจากข้อความหมิ่นประมาทที่กล่าวหานั้น ถูกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต จึงมีการยื่นข้อหาภายใต้พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ด้วย
“เหมือนกับการที่คุณโพสต์ข้อความที่ทำลายชื่อเสียงคนอื่นลงในเฟซบุ๊ก ถ้าคนคนนั้นต้องการความยุติธรรม คุณก็อาจถูกฟ้อง แค่นั้นเอง” ถนอมกล่าว