ประธาน กกต. ย้ำคำสั่งคสช. ห้ามหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย
2018.09.28
กรุงเทพฯ
ในวันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินการแก่พรรคการเมืองและผู้ขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ในการชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ 13/2561 โดยมีหัวหน้าพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และสมาชิกกว่า 700 คน ร่วมฟัง ซึ่งทุกคนต่างยังข้องใจในประเด็นการถูกห้ามใช้สื่อโซเชียลในการรณรงค์หาเสียง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ก่อนเข้าร่วมประชุมว่า วันนี้ ประชาชนอยากเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง รัฐบาลไม่ควรนำข้ออ้างเกี่ยวกับความมั่นคงมาเป็นเงื่อนไขในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นช่องทางที่ประหยัดและสะดวกในการสื่อสารกับประชาชนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยนายภูมิธรรม เรียกร้องให้ กกต.จัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมกับทุกฝ่าย
“ผมเห็นว่า กกต. ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ต้องใช้ดุลพินิจในการดำเนินการให้เกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่ใช่ยอมติดกรอบกับที่ผู้มีอำนาจจะใช้กฎหมายที่ตัวเองร่างขึ้นมาในการเอื้ออำนวย เพื่อให้ตัวเองชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น” นายภูมิธรรม ระบุ
“ตลอดเวลาตั้งแต่ ปี 40 เป็นต้นมา กกต. ทำงานเป็นอิสระในการจัดการเลือกตั้งและส่งเสริมกิจกรรมพรรคการเมือง แต่ตอนนี้เห็นได้ชัดว่า องค์กรที่เป็นองค์กรอิสระมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งยังต้องทำงานอยู่ภายใต้ คสช. ตลกมากๆ” นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์
ซึ่งในวันนี้ นายสมบัติ แต่งกายในชุดกู้ภัยสีส้ม ระบุว่าเป็นชุดซ่อมแซมประเทศ สวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ พร้อมหมวกโจรสลัด ซึ่งนายสมบัติ อธิบายว่าเป็นสัญลักษณ์คล้าย pirate party ในต่างประเทศ คล้องกับชื่อพรรค “เกียน” ที่แปลว่า อ่าว หรือ ทะเล เข้ามาลงทะเบียนเพื่อร่วมประชุมในฐานะผู้ขอจดแจ้งพรรค ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับหรือปฏิเสธ จาก กกต. อย่างไรก็ตาม นายสมบัติ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมฟังคำชี้แจงของ กกต. โดยให้เหตุผลว่า แต่งกายไม่สุภาพ ทำให้นายสมบัติไม่พอใจมาก จึงได้นั่งลงหน้าประตูทางเข้า พร้อมชูป้ายสีแดงมีข้อความว่า กกต. ซึ่งนายสมบัติบอกว่า เป็นการให้ใบแดง กกต.
จากการสอบถามตัวแทนพรรคการเมือง และ กลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เข้ามาร่วมประชุมในวันนี้ ต่างมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกำหนด กติกา การดำเนินการของพรรคการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย ทำอย่างไรจึงจะถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมาย
ด้าน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า การประชุมในวันนี้ เป็นการชี้แจงทำความเข้าใจการเตรียมการเลือกตั้ง สส. สว. และการปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ที่ 13/61 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า กรอบเวลาการเลือกตั้งว่าเป็นช่วง ก.พ. ถึง พ.ค. 62 และย้ำว่า ห้ามพรรคการเมืองหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นไปตามคำสั่ง คสช. ที่อนุญาตให้เฉพาะการติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค หรือสมาชิกของพรรคการเมืองได้เท่านั้น
“ประเด็นการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ในคำสั่ง คสช. เขียนชัดเจนว่า ให้ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ติดต่อกับผู้มีตำแหน่งในพรรค และ สมาชิกพรรคได้ ทั้งนี้ห้ามมิให้มีการหาเสียง คำสั่งเขียนไว้ชัดเจน” ประธาน กกต. ระบุ
ส่วนประเด็นข้อความขัดแย้งระหว่างคำสั่งของ คสช. กับ กฎหมายพรรคการเมืองนั้น ประธาน กกต. ย้ำว่า ให้ยึดคำสั่ง คสช. เป็นหลักเนื่องจาก คำสั่ง คสช. ถือว่าเป็นกฎหมายอย่างหนึ่ง คำสั่งคสช. เขียนมาว่าอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น
“คำสั่งของ คสช. มีผลเสมือนหนึ่งเป็นกฎหมาย ถ้าออกมาแล้วต้องใช้บังคับได้ เป็นเรื่องพรรคการเมือง ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.” ประธาน กกต. กล่าว
ในการประชุมชี้แจงระหว่าง กกต. กับ พรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองในวันนี้ มีตัวแทนพรรคการเมืองเก่าเข้าร่วม 59 พรรค จากทั้งหมด 73 พรรค ขณะที่มีตัวแทนของกลุ่มการเมืองจำนวน 84 กลุ่ม จาก 119 กลุ่ม ที่ขอจดทะเบียนพรรคใหม่ อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมทั้ง นายวราวุธ ศิลปอาชา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค และ นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค ด้านพรรคภูมิใจไทยมี นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค และนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรค ส่วนพรรคชาติพัฒนา มีนายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคฯ พรรคพลังประชารัฐ มีนายวิเชียร ชวลิต ส่วนกลุ่มการเมืองที่รอให้ กกต. รับรองเป็นพรรคการเมือง มีนาย นายปิยบุตร แสงกนกกุล จากกลุ่มอนาคตใหม่ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จากกลุ่มเกียน เป็นต้น
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนภายหลังการประชุมกับ กกต. ว่า วันนี้ มีการชี้แจงหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเงื่อนเวลาต่างๆ การเงิน การบัญชี ซึ่งได้รับความชัดเจนและสบายใจขึ้น เว้นแต่เรื่องการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ยังไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้
“ประเด็นการหาเสียงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ขณะนี้ ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองกำลังรอคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องอยู่ แต่เบื้องต้นพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอ กกต. ว่า ควรแยกกันระหว่างการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย กับการหยั่งเสียงเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนนายภูมิธรรม กล่าวว่า สิ่งที่ชัดเจนคือความไม่ชัดเจน หรือความไม่เข้าใจของ กกต. เอง เพราะยังมีความสับสนในเรื่องการจัดตั้งสาขาพรรค การหาสมาชิกพรรคอยู่ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ยังเหนื่อย ส่วนพรรคขนาดเล็กลำบากแน่นอน แต่ขณะนี้สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือเรื่องความหวาดระแวงและความกังวลใจในความไม่มั่นคงของผู้มีอำนาจเอง
“ทางออกที่ชัดเจน และ กกต. จะสามารถทำหน้าที่เอื้ออำนวยให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้คือ กกต. ต้องไปหารือ คสช. ในการปลดล็อก เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานได้ตามปกติ” นายภูมิธรรม ระบุ
นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ทัศนะว่า“การต่อสู้ไม่เท่าเทียม เพราะทุกพรรคมีโอกาสไม่เท่ากันในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง