พล.อ.ประยุทธ์: “ผมสนใจงานการเมือง”
2018.09.24
กรุงเทพฯ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยถึงอนาคตทางการเมืองเป็นครั้งแรก ในวันจันทร์นี้ว่า มีความสนใจทำงานด้านการเมือง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจในขณะนี้ โดยในวันเดียวกัน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศพร้อมเป็นโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกมองว่าเป็นพรรคที่ตั้งมารองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช.
โดยพลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ยอมรับเป็นครั้งแรกว่าสนใจงานทางการเมือง เพราะอยากติดตามสิ่งที่ได้ทำลงไปแล้วว่าถึงไหน อย่างไร และวันข้างหน้าจะได้รับการสืบสานต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งก็ได้ติดตามรับฟังจากบรรดากลุ่มการเมือง นักการเมือง หรือพรรคการเมืองต่างๆ พร้อมระบุด้วยว่า ตนเองยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะสนับสนุนใครและจะยังไม่ลาออกจากการเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
“ผมสนใจงานการเมือง เพราะผมรักประเทศชาติของผม เช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ แม้กระทั่งสื่อมวลชนก็ต้องรักประเทศชาติไทยของเรา เพราะฉะนั้น มันก็สุดแล้วแต่ว่าประชาชนจะว่ายังไงในอนาคต” พลเอกประยุทธ์ กล่าวกับสื่อมวลชน
“ผมก็ตอบได้ในขณะนี้ว่า ผมสนใจงานการเมือง แต่การที่ผมจะตัดสินใจอย่างไร การจะสนับสนุนใครก็ตาม เป็นเรื่องของอีกระยะหนึ่งที่ผมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง” พลเอกประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศหลังจากที่นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยให้เหตุผลว่าเข้ามาระงับเกิดความขัดแย้งที่ประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายใช้กำลังทำร้ายกัน
จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ มีอายุมากกว่า 4 ปี ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายาวนานกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยปกติ และอาจไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จนในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้ง คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติอนุญาตให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมบางประเภท เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งได้ โดยพลเอกประยุทธ์ ให้เหตุผลว่าเป็นไปตามโรดแมปของ คสช. และไม่อยากให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก
หลังจากคำสั่งของ หัวหน้า คสช. ดังกล่าว ทำให้หลายพรรคการเมืองเริ่มดำเนินการประชุมกรรมการบริหารพรรค และเตรียมการประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคในการเลือกตัวหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในการวางยุทธศาสตร์ แนวทาง นโยบายสำหรับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แม้ว่าการประชุมกำหนดนโยบายการการหาเสียงเลือกตั้งยังคงเป็นกิจกรรมที่ต้องห้ามอยู่ก็ตาม
พรรคพลังประชารัฐ
ที่ผ่านมาบทบาทความเคลื่อนไหวของพลเอกประยุทธ์ ถูกนำมาเชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากพันเอกสุชาติ จันทรโชติกุล แกนนำคนสำคัญและผู้เข้าขอจดแจ้งชื่อพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหาร (ตท.12) ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 รวมถึงกระแสข่าวที่ระบุว่า รัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลปัจจุบัน อาจร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐในตำแหน่งสำคัญภายในพรรคฯ
ทั้งนี้ หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ ได้ประกาศยอมรับว่า สนใจเข้าสู่ถนนการเมืองแล้ว นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้เผยถึงทิศทางทางการเมืองว่า ความจริงตนก็ทำงานการเมืองอยู่แล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ได้ช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตก็คงจะได้ทำงานเหล่านี้ต่อไป
“ถามว่าสนใจการเมืองหรือไม่ ความจริงผมทำงานการเมืองอยู่แล้ว ช่วยเหลือประชาชน ผมจึงมีความสนใจเช่นกัน นี่คือบ้านเมืองของเรา เรารักประเทศ รักประชาชน... เราอยากทำให้ประเทศดีที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อทุกคน” นายกอบศักดิ์ ระบุ
โดยนายกอบศักดิ์ ระบุว่า ไม่ปฏิเสธหากได้รับการเสนอชื่อให้เป็นโฆษกพรรคพลังประชารัฐ แต่ขอให้รอความชัดเจนทางการเมืองของตนและรัฐมนตรีบางคนในวันที่ 29 กันยายน นี้ ซึ่งเป็นวันประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐ ประชาชนจะได้เห็นหน้าทีมงานและการวางตำแหน่งสำคัญๆ ของพรรคฯ
นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐ ถูกโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มสามมิตร ที่นำโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตแกนนำกลุ่มวังน้ำยม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ว่ามีการดำเนินการบางอย่างในการดึงตัวอดีตนักการเมือง รัฐมนตรี มาร่วมงานการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ พรรคพลังประชารัฐ กลายเป็นพรรคที่ถูกจับตามองว่าได้เปรียบทางการเมืองมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ในเวลานี้
นิด้าโพลชี้ ประชาชนเลือกประยุทธ์ เป็นนายกฯ
จากการณีที่ พลเอกประยุทธ์ ออกมาประกาศเข้าสู่เส้นทางการเมือง ซึ่งคาดกันว่าอาจจะสังกัดพรรคพลังประชารัฐ นักวิชาการ นักการเมือง ต่างแสดงความเห็นว่าไม่ได้ประหลาดใจกับการแสดงจุดยืนดังกล่าว เพราะเป็นเพียงแค่การแย้มไพ่ช่วงใกล้การเลือกตั้ง
นายอุเชนทร์ เชียงเสน สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ว่า การประกาศของประยุทธ์ไม่ได้มีความสำคัญอะไร เนื่องจากนายกฯ ได้แสดงจุดยืนนี้มานานแล้ว เพียงแต่สถานการณ์ตอนนี้ ประชาชนอยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่รัฐบาลทหารของพลเอกประยุทธ์
“ผมไม่ได้บอกว่า พลเอกประยุทธ์จะไม่ชนะเลือกตั้ง การเลือกตั้งครั้งหน้าเขาอาจจะเลือกพรรคประยุทธ์ก็ได้ แต่กำลังบอกว่า ประชาชนอยากให้มีการเลือกตั้งตามระบบ ซึ่งเขาอาจจะเลือกพรรคพลเอกประยุทธ์ก็ได้” นายอุเชนทร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ทางโทรศัพท์
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจ “นิด้าโพล” ในการสอบถามความคิดเห็นประชาชนว่า อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งผลโพลระบุว่าเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รองลงมาคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ จากพรรคเพื่อไทย และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แต่เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ผลโพลระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย รองลงมา คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอนาคตใหม่ นอกจากนี้ ผลโพลยังระบุด้วยว่า ประชาชนอยากได้พรรคการเมืองใหม่ๆ คนใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศให้ไปในทางที่ดีขึ้น