นายกฯ มอบนโยบาย ครม.ใหม่แก้วิกฤตเศรษฐกิจ
2020.08.13
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงเรื่อง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ และการเดินหน้าประเทศไทย ระบุว่า ได้มอบหมายให้ ครม. เดินหน้าทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ฝ่าฟันปัญหาโควิด-19 โดยต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ขณะเดียวกันกล่าวถึงประชาชนว่า จำเป็นต้องอยู่เหนือความขัดแย้ง เลิกแบ่งเขาแบ่งเรา เพื่อเดินหน้าประเทศไทยฝ่าวิกฤตโรคระบาดและเศรษฐกิจ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า ปัจจุบัน โลกกำลังต้องเผชิญกับวิกฤต ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องร่วมมือ เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ และเดินหน้าประเทศไทยให้ดีขึ้น
“เมื่อเราอยู่ในพายุวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังโหมกระหน่ำ เราเองก็ไม่สามารถหนีไปไหนได้ ซึ่งดูแล้วว่า เศรษฐกิจประเทศไทยจะเริ่มกลับมาเป็นปกติได้ ก็ต่อเมื่อประเทศอื่น ๆ ในโลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติด้วย… สิ่งที่เราทำได้ คือการให้คนที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามาทำงาน และทำทุกอย่างที่จะช่วยเหลือประชาชนให้อยู่รอดได้ ในช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุงาน 5 อย่างที่ ครม. ต้องดำเนินการ คือ งานที่ 1 เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก และประชาชนที่ตกงานในช่วงที่ผ่านมา งานที่ 2 แก้ปัญหาต่าง ๆ ในแนวทางที่จะช่วยประเทศอย่างยั่งยืน โดยต้องตระหนักว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกอยู่อีกนาน สร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และทำโครงการที่ถูกต้อง
งานที่ 3 ต้องสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจจ้างงาน งานที่ 4 ต้องมีแผนเรื่องการจ้างงานคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจบใหม่ และ งานที่ 5 ต้องทำงานต่าง ๆ ด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
“การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง ซึ่งกีดขวางการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวของคนไทย ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ควรจะมีอยู่แค่ในอดีต เราต้องหยุดพูดคำว่า พวกเขา หรือ พวกเรา… เราต้องอยู่เหนือการโต้เถียงกัน และเราต้องอยู่เหนือการเมือง เพราะเรามีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก รออยู่ตรงหน้า นั่นคือ ความอยู่รอดในการหาเลี้ยงชีวิตของคนนับล้าน ๆ ที่กำลังเดือดร้อนจากหายนะของโควิด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ วันพฤหัสบดีนี้เป็นวันแรกของการประชุม ครม. ชุดใหม่ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีใหม่ รวม 7 คน 8 ตำแหน่ง โดยถือเป็นการปรับ ครม. ครั้งแรก โดยตำแหน่งใหม่ ประกอบด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเข้ามาแทนการลาออกของ รองนายกรัฐมนตรี 1 คน และ รัฐมนตรี 5 คน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563
เพนกวิ้น ถูกแจ้งความข้อหาหมิ่นเบื้องสูง
นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักเคลื่อนไหวการเมือง เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ตนเองถูกแจ้งความดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
“โดนแจ้งความ 112 เพราะรณรงค์ยกเลิก 112” นายพริษฐ์ ระบุ
โดยเอกสารแจ้งความระบุว่า นายสุขสันต์ เวียงจันทร์ ชาวจังหวัดเลย เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีกับนายพริษฐ์ กล่าวหาว่าหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาตรร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ ร้าน อ.สันต์ ออกแบบทรงผม เลขที่ 23/23 ถ.เจริญรัฐ ซ.5 ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 เวลาประมาณ 18.00 น. โดยการแจ้งความครั้งนี้ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2563 มี ร.ต.อ.หญิงวิรินทร์ญา กุลนนท์เลิศสิน รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองเลย รับคำร้องทุกข์
ในวันเดียวกัน พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า ได้ออกหมายเรียก นายพริษฐ์ ไปรับทราบข้อกล่าวหา ความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดการชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 อย่างไรก็ดี นายพริษฐ์ ได้ขอเลื่อนการรายงานตัวไปก่อน เนื่องจากยังอยู่ในต่างจังหวัด
ก่อนหน้านี้ นายพริษฐ์ และเพื่อนนักกิจกรรมทางการเมือง ได้เปิดเผยว่า ถูกเจ้าหน้าที่คุกคามโดยการติดตามเฝ้าคอยอยู่หน้าที่พักจนทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย โดยการติดตามดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งมีการยื่นข้อเสนอ 10 ข้อให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีประชาชนบางคนมองว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์
ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 นายอานนท์ นำภา และ นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวและนำไปแจ้งข้อกล่าวหาที่ สน.สำราญราษฎร์ ก่อนที่จะถูกนำตัวไปสอบสวน และขออำนาจศาลอาญา รัชดาภิเษก เพื่อฝากขัง แต่ศาลไม่รับคำร้องจากนั้น จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องควบคุมตัวทั้งสองคนต่อที่ สน.ห้วยขวาง เป็นเวลา 1 คืน และศาลฯ ได้พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวในวันเสาร์ โดยศาลระบุเงื่อนไขว่า ห้ามกระทำผิดซ้ำกับที่ถูกกล่าวหาอีก โดยการจับกุมเกิดขึ้นหลังจากนายอานนท์ ปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุมหลายครั้งก่อนหน้านั้น