อาชีวะช่วยชาติชุมนุมปกป้องสถาบันกษัตริย์
2020.07.30
กรุงเทพฯ
ในวันพฤหัสบดีนี้ กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ และประชาชนรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แถลงการณ์เรียกร้องให้ กลุ่มเยาวชนปลดแอกหยุดการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยชี้ว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอกบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จึงจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
การชุมนุมของกลุ่มประชาชนผู้รักสถาบันพระมหากษัตริย์ครั้งนี้ จัดขึ้นในเวลาประมาณ 14.00 น. บริเวณทางเท้าใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยการนำของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า อาชีวะช่วยชาติ เป็นการรวมตัวประชาชนหลายสิบคน ซึ่งจำนวนมากเป็นผู้สูงอายุ มีการชูป้ายข้อความ ตะโกนโห่ร้อง และปราศรัยแสดงจุดยืนในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัฐบาลโดยเรียกร้องให้ กลุ่มเยาวชนปลดแอกยุติการเคลื่อนไหวที่กระทบสถาบันพระมหากษัตริย์
นายทศพล มนูญรัตน์ แกนนำกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ได้อ่านแถลงการณ์กลุ่มระบุว่า การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และประชาชนทั่วประเทศ แสดงออกถึงการต่อต้านสถาบันทั้งทางตรงและทางอ้อม
“การที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกและสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563
ต่อมาได้มีการจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กิจกรรมดังกล่าวจะขอยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่ปรากฎหลักฐานและข้อเท็จจริงว่า มีการแสดงออกเพื่อต่อต้าน ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งโดยตรงและทางอ้อม ทั้งยังมีข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือเฟกนิวส์ เพื่อปลุกระดมให้เกิดความเข้าใจผิด” นายทศพล กล่าว
“สิ่งเหล่านี้ ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง และก็จุดประสงค์ของการชุมนุมเพื่อขับไล่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อย่างใดเลย อีกทั้งยังกระทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทย แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมกลับบ่ายเบี่ยง ปฏิเสธ และยืนกรานไม่รู้ไม่เห็นกับหลักฐานที่ปรากฎข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ กลุ่มอาชีวะ... จึงขอแสดงความห่วงใยกับการชุมนุมที่เกิดขึ้น.. จะเคลื่อนไหวโดยนำกิจกรรมและข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และเจตนาที่แท้จริงของผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการใช้เยาวชนในการต่อต้านล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์” นายทศพล กล่าวเพิ่มเติม
การชุมนุมในวันนี้ มีการถือป้ายข้อความ เช่น “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”, “ปกป้องสถาบัน”, “ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป”, “กูจะปกป้องสถาบัน ลุงตู่อยู่ต่อ พลังประชารัฐ”, “หยุดก้าวล่วงสถาบัน” มีการชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์การเรียกร้องโดยระบุว่า สามนิ้วมีความหมายถึง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก่อนจะมีการสลายตัว ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสื่อมวลชน
ในวันเดียวกัน ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กลุ่มนักศึกษา และกลุ่มประชาชน ได้รวมตัวกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยมีการปราศรัย และเรียกร้องใน 3 ข้อตามแนวทางของกลุ่มเยาวชนปลดแอก คือ 1. เรียกร้องการยุบสภา 2. เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน และ 3. เรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเริ่มชุมนุมในช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. และใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนสลายตัวไป โดยมีประชาชน และนักศึกษากว่าร้อยคนเข้าร่วม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชนเฝ้าสังเกตการณ์
นายภานุพงศ์ จาดนอก นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในผู้ร่วมปราศรัย กล่าวว่า ผ่านมาเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์แล้ว แต่ข้อเรียกร้องของนักศึกษา และกลุ่มเยาวชนปลดแอก ยังไม่ได้รับการตอบรับของรัฐบาล
“เราไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่ได้มาจาก คสช. เป็นการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ ให้ ส.ว. มาเลือกนายกฯ ที่มีสมองแค่ 8.4 หมื่นเซลส์ ขึ้นมาบริหารประเทศ ทำให้ประเทศตกต่ำขนาดนี้ เรื่องการให้หยุดคุกคามประชาชน ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ที่เราได้ยื่นข้อเสนอกับรัฐบาล ยังไม่มีการตอบรับอะไรทั้งสิ้น” นายภานุพงศ์ กล่าว
นอกจากการชุมนุมที่ มจพ. ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม, อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล จังหวัดชัยภูมิ และ อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงเทพฯ ก็มีการจัดชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเช่นกัน โดยในแต่ละที่มีประชาชน นักเรียน และนักศึกษาเข้าร่วมหลายร้อยคน มีการปราศรัย ชูป้าย และร้องเพลง โดยใช้ข้อเรียกร้องเดียวกันกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก
ทั้งนี้ การชุมนุมของประชาชน โดยการนำของกลุ่มเยาวชนปลดแอก มีขึ้นครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 2 พันคน ทำให้ต่อมาเกิดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันในหลายจังหวัด และหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เช่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น ปัตตานี นครศรีธรรมราช นครราชสีมา พิษณุโลก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอีกหลายสถานที่ โดยในแต่ละที่มีประชาชนเข้าร่วมหลายร้อยคน และใช้ข้อเรียกร้องเดียวกันกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยแก่สื่อมวลชนในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ว่า เป็นห่วงเยาวชนที่มาร่วมชุมนุม โดยเสนอให้ผู้ชุมนุมนำข้อเสนอ 3 ข้อนั้นไปดำเนินการในรัฐสภา
“เรื่องข้อสามข้อก็ไปเสนอกันในสภา ตั้งคณะกรรมการอะไรก็ว่ากันไป มีอยู่แล้ว.. ผมเป็นห่วงกังวลเท่านั้นเอง ในการที่มีการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ได้มีการสั่งการอย่างเดียวว่า ขอให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เห็นใจในบรรดาเด็ก ๆ ของพวกเรา บรรดานิสิต นักศึกษา แล้วก็เป็นห่วงแทนผู้ปกครองเขาด้วย เท่านั้นเอง.. ก็ระมัดระวังการละเมิด ก้าวล่วง ผมคิดว่าประชาชนคงไม่ยอมนักหรอก ไม่ยอมจะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ไม่สมควรจะเกิดในประเทศไทยของเรา ผมจะไม่พูดมากในเรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องการจะให้เป็นประเด็น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ต่อมาในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 พรรคร่วมรัฐบาลได้ขอให้ สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ซึ่งจัดชุมนุม โดย ส.ส. 260 คน ออกเสียงเห็นด้วยให้จัดตั้ง กมธ. ขณะที่ ส.ส. 178 คน ไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ทำให้จะมีการจัดตั้ง กมธ. ดังกล่าว โดยมีกรรมาธิการ 39 คน มีระยะเวลาทำงาน 90 วัน อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทย, ก้าวไกล, เสรีรวมไทย และประชาชาติ ไม่ได้เสนอชื่อบุคคลเข้าร่วมเป็น กมธ. ดังกล่าว โดยระบุว่า ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ มารับฟังข้อเรียกร้องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีท่าทีจากฝ่ายรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรกับข้อเสนอดังกล่าว
ก่อนหน้านั้น พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ได้ตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวน และรวบรวมหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ในแนวทางของกลุ่มเยาวชนปลดแอกแล้ว แต่ยังไม่มีรายงานว่า ได้ดำเนินคดีกับผู้ร่วมชุมนุมคนใด