ผู้นำไทยมุสลิมเรียกร้องให้ชาวไทยพุทธ-มุสลิม สร้างความเข้าใจระหว่างกัน

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.11.11
TH-religious-conflict-800 ดร.วิสุทธิ์ บิลลาเตะ (คนกลาง) ในขณะพูดคุยเรื่องศาสนา กับชาวบ้านที่มัสยิดบ้านหนองทะเล จ. กระบี่ วันที่ 10 พ.ย. 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธ (11 พฤศจิกายน 2558) นี้ ดร. วิสุทธิ์ บิลลาเตะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี ประจำภาคใต้ ได้เรียกร้องให้ชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในท่ามกลางโลกยุคข้อมูลข่าวสาร ที่มีการเผยแพร่ข้อมูล อันทำให้เกิดความชิงชังต่อกัน

ดร.วิสุทธิ์ ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในวันนี้ว่า ตนเองไม่อยากเห็นความขัดแย้งทางศาสนาเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า

“การเอาเรื่องศาสนามาสร้างความเกลียดชัง ไม่อยากให้เหมือนพม่า ที่พระออกมาสร้างความเกลียดชังต่อพี่น้องชาวโรฮิงญา แค่เพราะเขาเป็นมุสลิม” ดร. วิสุทธิ์ กล่าว

ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์ทำร้ายพระสงฆ์ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองพระสงฆ์จนบาดเจ็บ หรือถึงแก่ชีวิต โดยเหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้น ในตอนเช้าของวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 ที่ตลาดเทศบาลอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้ พระเอกพล ศรีโอสถ อายุ 39 ปี มรณภาพที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา และพระพยอม สุครี อายุ 59 ปี ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนั้น ยังมี เจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองพระเสียชีวิตหนึ่งนาย บาดเจ็บสองนาย และยังมีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บอีก 2 ราย อีกด้วย

จากนั้น ในเฟสบุ๊คของพระมหาอภิชาติ ปุณณจันโท ได้มีการเรียกร้องให้ใช้มาตรการตอบโต้การทำร้ายพระสงฆ์ ด้วยการเผามัสยิดหนึ่งแห่งต่อการที่พระสงฆ์ถูกฆ่าหนึ่งรูป จนเป็นเหตุให้ทางราชการขอให้ยุติการแสดงความคิดเห็นต่างๆ และพระมหาอภิชาติได้ประกาศยุติการแสดงความคิดเห็นในเรื่องความรุนแรงต่อพระสงฆ์ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

นายรักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ จังหวัดยะลา กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า ตนไม่ได้มองเรื่องนี้ว่าเป็นความขัดแย้งเรื่องศาสนา เพียงแต่ว่าอาจจะมีคนบางกลุ่มนำใช้ศาสนามาเป็นข้ออ้างไปในทางที่ไม่ถูกต้อง

“ผมไม่ได้มองว่าเป็นความขัดแย้งเรื่องศาสนา เรามองว่าศาสนาเป็นสิ่งที่ดี แต่ละคนที่หยิบศาสนาเป็นตัวแทน อิสลามเองเอาไปใช้แตกต่างจากความหมายที่แท้จริง พุทธเองก็มีคนเอาไปใช้แตกต่าง” นายรักชาติ กล่าว

“เรื่องที่พระออกมาพูด พระเสียชีวิต 1 รูป ต้องเผามัสยิด 1 มัสยิด คนพุทธส่วนหนึ่งตกใจ คิดไม่ถึงว่าจะมีพระออกมาพูดแบบนี้ แต่ก็ยอมรับว่าคนอีกส่วนหนึ่ง ที่ถูกกระทำ เมื่อมีพระออกมาพูดแบบนี้ ก็มีความรู้สึกฮึกเหิม ซึ่งการทำงานสันติภาพในบ้านเรา ไม่เห็นความจำเป็นเลยที่ต่างฝ่ายต่างต้องใช้ความรุนแรง” นายรักชาติ กล่าวเพิ่มเติม

สำนักจุฬาราชมนตรีเรียกร้องราชการระงับความบาดหมาง

เมื่อในวันจันทร์นี้ ตัวแทนสำนักจุฬาราชมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการตรวจควบคุมข้อความในอินเตอร์เน็ตที่มีเนื้อหาสร้างความขัดแย้ง และเรียกร้องให้มีการจัดการสัมมนาพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน พร้อมทั้งได้ออกแถลงการณ์ทางเวบไซต์ของสำนักจุฬาราชมนตรีว่า ชาวมุสลิมไม่ได้มีความปรารถนาครอบครองประเทศไทยแต่อย่างใด

ดร. วิสุทธิ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการถกเถียงเรื่องประวัติศาสตร์แห่งดินแดนว่า "เรื่องแบบนี้ไม่น่าเกิดขึ้นในกลุ่มคนไทย เพราะเป็นการสะท้อนความไม่เข้าใจบริบทของประวัติศาสตร์ การใช้ชีวิต ประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้"

"เมื่อเป็นของประเทศไทยแล้ว ก็ต้องมาร่วมกันอยู่ให้เกิดความสงบสุข คนไทยต้องร่วมคิดต้องหาทางออกร่วมกัน มุสลิมกันเองก็ไม่ควรนำเรื่องชาตินิยมต่างๆ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งโดยการใช้ศาสนา เพราะศาสนาบอกแล้วว่า สันติ ไม่มีเรื่องที่ทำให้คนเกิดความเกลียดชัง ฆ่ากัน นอกจากคนที่มีความคิดอื่นเป็นพื้นฐาน แต่ไม่ใช่ศาสนา” ดร. วิสุทธิ์ กล่าว

โดย ดร. วิสุทธิ์ ยังได้เรียกร้องให้ประชาชนชาวไทยทุกศาสนา รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันยับยั้ง และขจัดการแพร่กระจายข่าวสารที่สร้างความเกลียดชัง และความแตกแยกในสังคมไทย

“ขอให้พี่น้องชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิม ที่มีใจเป็นธรรม ประสานความร่วมมือกัน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างศาสนา และร่วมกันหาทางขจัดอคติที่มีต่อกัน อันเป็นผลจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องในสื่อสังคมออนไลน์” ดร. วิสุทธิ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้าน นางมารียะ เล๊าะมิ อายุ 40 ปี กลุ่มผู้หญิง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา กล่าวว่า “ใช่ทุกวันนี้ โลกออนไลน์จะมีอิทธิพลกับคนที่นี่ ตื่นเช้ามา จะไปกรีดยาง หรือค้าขาย พอทำงานเสร็จจะให้ความสนใจเฟสบุ๊ค หรือไมก็ไลน์ เพราะสามารถดูสะดวก สมัครเน็ตวันละ 9 บาท ก็สามารถเล่นได้แล้ว ถ้าเขารับข่าวที่มีประโยชน์ถือว่าดี แต่ถ้าเขารับข่าวที่ไม่ดี ก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้ง่าย”

จากข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากปี 2547 ถึงวันที่ 11 พ.ย. 2558 มีพระเสียชีวิตทั้งหมด 19 รูป แยกเป็น ปี 2547 จำนวน 3 รูป ปี 2548 จำนวน 1 รูป ปี 2550 จำนวน 3 รูป ปี 2552 จำนวน 1 รูป ปี 2553 จำนวน 1 รูป ปี 2554 จำนวน 5 รูป ปี 2555 จำนวน 1 รูป ปี 2556 จำนวน 1 รูป ปี 2557 จำนวน 3 รูป และ ปี 2558 จำนวน 1 รูป

พระได้รับบาดเจ็บ ทั้งหมด 24 รูป แยกเป็น ปี 2547 จำนวน 2 รูป ปี 2549 จำนวน 7 รูป ปี 2550 จำนวน 4 รูป ปี 2553 จำนวน 1 รูป ปี 2554 จำนวน 8 รูป ปี 2555 จำนวน 2 รูป และ ปี 2558 จำนวน 1 รูป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง