ศาลจำคุก 9 ปี ผู้นำเข้าไม้ล้างป่าช้า GT200 ฐานฉ้อโกง
2018.09.26
กรุงเทพฯ
ในวันนี้ ศาลแขวงดอนเมืองมีคำพิพากษาให้จำคุก นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหาร บจก.เอวีเอ แซทคอม เป็นเวลา 9 ปี และปรับ 18,000 บาท ในความผิดฐานฉ้อโกง กรณีการจัดจำหน่ายเครื่องตรวจสอบระเบิดรุ่น GT200 ซึ่งไม่มีคุณสมบัติจริงตามที่โฆษณาให้แก่กรมราชองครักษ์
สำหรับคดีนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท เอวีเอ แซทคอม จำกัด (AVIA SATCOM CO., LTD.) จำเลยที่ 1 นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหาร บจก.เอวีเอ แซทคอม จำเลยที่ 2 นายเดชพิภัทร์ วัฒนกิจ จำเลยที่ 3 และนางศศกร ปลื้มใจ จำเลยที่ 4 ในความผิดฐานฉ้อโกง กรณีที่ได้จัดจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและยาเสพติด รุ่น GT200 จำนวน 2 ชุดๆ ละ 900,000 บาท เป็นเงิน 1.8 ล้านบาท เครื่องตรวจสารระยะไกลและอุปกรณ์ยี่ห้อ Global Technical รุ่น GT200 จำนวน 3 ชุด วงเงิน 3.6 ล้านบาท เครื่องตรวจหาสสารระยะไกลและอุปกรณ์ยี่ห้อ โกลบอล รุ่น GT200 จำนวน 3 ชุด วงเงิน 3.6 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 9 ล้านบาท ให้กับ "กรมราชองครักษ์" ซึ่งเป็นผู้เสียหาย แต่เครื่องใช้งานไม่ได้ ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดีในชั้นศาล
“ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานโจทก์แล้วเห็นว่า การกระทำของ นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหาร บจก.เอวีเอ แซทคอม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้นำเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซึ่งไม่สามารถใช้งานได้จริงตามประสิทธิภาพการโฆษณานั้นมาขายให้กับผู้เสียหาย เป็นความผิดตามฟ้องฐานฉ้อโกง จึงพิพากษาให้จำคุก "นายสุทธิวัฒน์" ผู้บริหาร บจก.เอวีเอฯ 3 กระทงๆ ละ 3 ปี รวมจำคุก 9 ปี และให้ปรับ บจก.เอวีเอ แซทคอม จำเลยที่ 1 ด้วย 3 กระทงๆ ละ 6,000 บาท รวมเป็นเงิน 18,000 บาท ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง” คำพิพากษาระบุ
นายวรอรรถ สุนทรอภิชาต ทนายความให้สัมภาษณ์หลังศาลมีคำพิพากษาว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอประกันตัวนายสุทธิวัฒน์ ซึ่งศาลตีราคาประกันไว้จำนวน 900,000 บาท และพร้อมต่อสู้คดีต่อชั้นอุทธรณ์
“ที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกวันนี้ เนื่องจากศาลเห็นว่า เราเป็นผู้ขาย เมื่อเครื่องใช้งานไม่ได้เราต้องรู้ ทั้งที่ความจริงเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดเป็นยุทธภัณฑ์เอกชนไม่สามารถครอบครองได้ เราจึงสั่งซื้อตามสเป็คที่มีการกำหนดมา พอเครื่องตรวจวัตถุระเบิดลงจากสนามบินก็มีรถทหารมารอรับแล้ว การทดสอบก็ต้องกระทำในห้องแล็บที่มีศักยภาพทดสอบได้ ตรงนี้ เราจึงไม่รู้เห็นว่าเครื่องชำรุด ไม่ได้มาตรฐาน” นายวรอรรถ กล่าวกับผู้สื่อข่าว
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลเเขวงดอนเมือง มีคำพิพากษาสั่งจำคุกนายสุทธิวัฒน์ เป็นเวลา 10 ปี กรณีซื้อขายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดรวม 12 สัญญา รวมมูลค่า 600 ล้านบาท ให้แก่กองทัพบก
ข้อกังขาในการจัดซื้อจัดหาของหน่วยงานราชการไทย
หลังจากเกิดเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ เมื่อปี 2547 หน่วยงานของไทย ได้แก่ กองทัพต่างๆ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น ได้จัดซื้ออุปกรณ์ที่โฆษณาว่าสามารถตรวจจับดินระเบิดและยาเสพติดได้จากระยะไกล (Remote substance detector) โดยส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ตามรายงานของไทยรีพับลิกา โดยภาพรวม ในห้วงปี 2548 ถึง 2553 หน่วยงานต่างๆ ของไทยได้ซื้อ Alpha 6 ผลิตโดยบริษัท Comstrac Limited และรุ่น GT200 จากบริษัท Global Technical Limited ซึ่งเป็นบริษัทของประเทศอังกฤษทั้งคู่รวม 1,398 เครื่อง มูลค่า 1,134 ล้านบาท ในราคาเครื่องละ 4.26 แสนบาท จนถึง 1.38 ล้านบาท ทำให้มีการดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อขึ้น รวมทั้งบางส่วนจัดจำหน่ายโดยบริษัท เอวีเอ แซทคอม ซึ่งมีผู้ผลิตบางรายถูกศาลในประเทศอังกฤษลงโทษฐานฉ้อโกงไปแล้ว
ด้าน ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เป็นพยานในคดีบริษัท เอวีเอ แซทคอม กล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าว มีราคาเพียงชิ้นละประมาณสามร้อยห้าสิบบาทเท่านั้น
จากฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ พบว่า นับตั้งแต่ปี 2550-2553 มีหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงาน ที่จัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด แบบ GT200 มาใช้งาน รวมจำนวน 19 สัญญา คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 688,287.49 บาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ)
จากการตรวจสอบสำนวนการไต่สวนในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พบว่า มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ GT200 รวม 4 สำนวน ผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 42 ราย จำนวนเครื่องที่จัดซื้อ 760 เครื่อง รวมวงเงินทั้งสิ้น 693,726,000 บาท
สำหรับสำนวนการไต่สวนการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ที่ ปปช.กำลังตรวจสอบอยู่ มีทั้งหมด 4 สำนวน ได้แก่ หนึ่ง กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติดและวัตถุระเบิดจีที200 ของกรมสรรพาวุธทหารบก ปีงบประมาณ 2550-2552 ที่ไม่มีการตรวจสอบราคาที่หน่วยราชการอื่นเคยจัดซื้อ ทำให้กองทัพบกต้องจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวในราคาแพงเกินจริง เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหายใน 12 สัญญา จำนวน 747 เครื่อง วงเงิน 683.9 ล้านบาท มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 39 ราย
สอง กรณีการจัดซื้อเครื่อง GT200 ของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง โดยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิคส์ จำนวน 6 เครื่อง วงเงิน 2.5 ล้านบาท ในราคาแพงเกินจริง สาม กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที200 ของกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท จำนวน 1 ชุด วงเงิน 5.5 แสนบาท ในราคาแพงเกินจริง และ สี่ กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที200 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม จำนวน 6 เครื่อง วงเงิน 6.7 ล้านบาท ในราคาแพงเกินจริง
ในส่วนการตรวจสอบความผิดของหน่วยงานรัฐบาลนั้น ล่าสุด นายสุรศักดิ์ กรรมการ ปปช. กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า การทำการวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิดนั้นทำได้ยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่องมือ แต่เป็นเหมือนความเชื่อเหมือนพระเครื่อง ที่เจ้าหน้าที่ผู้นำไปใช้รู้สึกคุ้มค่า