ตำรวจจับผู้ต้องหา อยู่เบื้องหลังการค้ามนุษย์ได้สี่ราย

โดย นาซือเราะ
2015.05.04
TH-survivor-620 ผู้ที่รอดชีวิตเพียงคนเดียว จากค่ายกักกันของกลุ่มค้ามนุษย์ ขณะมีผู้เยี่ยมเยียน ที่โรงพยาบาล ในปาดังเบซาร์ จ. สงขลา วันที่ 4 พฤษภาคม 2558
เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นสามคนของไทย เป็นสามในสี่ผู้ต้องสงสัย ที่ถูกจับกุม ในวันจันทร์นี้ คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของ 26 ศพ ที่ค่ายกักกัน ของกลุ่มค้ามนุษย์ ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย

ผู้ตายทั้งหมดเป็นเหยื่อของขบวนการการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ซึ่งประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย และพม่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าว

ชาวบังคลาเทศ หนึ่งเดียวที่รอดชีวิต หลังจากถูกพบเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในค่ายพักชั่วคราว กล่าวกับ
บางกอกโพสต์เมื่อวันจันทร์นี้ว่า ตนได้เห็นคนตายทั้งหมด 40 ราย และในนั้นเป็น ชาวบังคลาเทศ 10 ราย

บางกอกโพสต์รายงานว่า ผู้นำชุมชนของโรฮิงญาในประเทศไทย กล่าวว่า ยังมีค่ายกักกันอย่างนี้อีก อย่างน้อย 60 แห่ง ในแถบภูเขาตามแนวชายแดน

"การค้นพบของแคมป์นี้ (ค่ายกักกัน ในปาดังเบซาร์) เป็นเพียงปลายติ่งของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น" อับดุล คาลาม อดีตประธาน สมาคมโรฮิงญา ประเทศไทย กล่าวแก่บางกอกโพสต์

การจับกุมผู้ต้องสงสัย

ในวันจันทร์นี้ (4 พ.ค.2558) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจ พร้อมคณะ ได้แถลงข่าวการจับกุมผู้อยู่เบื้องหลังการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ที่สถานีตำรวจหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ว่าสามารถจับกุมตัวได้แล้วสี่รายจากจำนวนผู้ต้องสงสัยในชั้นต้นรวมแปดราย และจะออกหมายจับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก

“ขณะนี้ เจ้าหน้าที่กำลังเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักการเมืองท้องถิ่น หากพบว่าเกี่ยวข้องก็จะจับกุมทั้งหมด” พล.ต.อ.สมยศ กล่าวในระหว่างการแถลงข่าว

สำหรับผู้ต้องหาทั้งสี่คนถูกแจ้งข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ กักขังหน่วงเหนี่ยว และเรียกค่าไถ่ แต่ทั้งหมดให้การปฏิเสธทุกข้อหา

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องสงสัย ตามหมายจับของศาลจังหวัดนาทวี ได้แล้ว 4 คน ประกอบด้วย 1. นายอ่าสัน หรือบังสัน อินทธนู อายุ 42 ปี สมาชิกสภาเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ ถูกจับพร้อมอาวุธปืนขนาด 9 มม. อีก 1 กระบอก พร้อมกระสุน 8 นัด และซองพก 1 ซอง และยังถูกแจ้งข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกหนึ่งข้อหา  2. นายร่อเอน สนยาแหละ อายุ 41 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 ต.ปาดังเบซาร์ ทั้ง 2 คน ทำหน้าที่จัดหาเสบียง 3. นายอาหลี ล่าเม๊าะ อายุ 47 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.ปาดังเบซาร์ ทำหน้าที่ควบคุมแคมป์  และ 4. นายโซ หนาย อานู หรืออันวา อายุ 40 ปี ชาวพม่า

ส่วนผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในระหว่างการติดตามจับกุมอีกสี่ราย ประกอบด้วย นายประสิทธิ์ เหล็มแหล๊ะ รองนายกเทศบาลตำบลปาดังเบซาร์ นายยาหลี เขร็ม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านตะโละ นายพรรคพล เบ็ญล่าเต๊ะ อายุ 47 ปี และ นายเจริญ ทองแดง อายุ 45 ปี

สรุปยอดศพ ขุดพบ 26 ศพ ที่เขาแก้ว

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า จากการขุดบริเวณที่คาดว่าเป็นหลุมศพ รวมสามสิบสองหลุม ในที่พักพิงชั่วคราวของชาวโรฮิงญาที่อยู่ในกลางป่าไม้แก้ว ในพื้นที่ ม.8 บ้านตะโล๊ะ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา นั้น ปรากฏว่าพบศพจริงจำนวนทั้งสิ้น 26 ศพ รวมทั้งศพที่ยังไม่ได้ฝัง โดยค่ายแห่งนี้มีนานแล้ว มีชาวพม่า ไทย มาเลเซีย ร่วมแก๊งค์

“ส่วนผลการตรวจสอบเก็บหลักฐานภายในค่าย เจ้าหน้าที่พบศพทั้งหมด 26 ศพ เป็นชาย 25 ศพ และหญิง 1 ศพ มีทั้งที่เสียชีวิตมาแล้วเป็นปี และเพิ่งเสียชีวิต ซึ่งชี้ว่าค่ายแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมานานแล้ว ส่วนสาเหตุของการตายนั้น ต้องรอผลการตรวจจากเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน แต่เบื้องต้นคาดว่าตายเพราะป่วยและขาดอาหาร ซึ่งขบวนการค้ามนุษย์กลุ่มนี้ เป็นอาชญากรข้ามชาติ มีทั้งไทย พม่า และมาเลเซีย ทำมาแล้วอย่างน้อย 3-4 ปี” พล.ต.อ.สมยศ กล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.ต.อำพล บัวรับพร ผู้บังคับการตำรวจ จ.สงขลา ได้ออกคำสั่งให้ ร.ต.ต.อารีย์ หมันสมัน รองสารวัตรป้องกันปราบปราม ปาดังเบซาร์ และ ด.ต.อัศณีย์รัญ นวลรอด ผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจปาดังเบซาร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตำรวจประจำป้อมเขารูปช้าง บ้านตะโล๊ะ ต.ปาดังเบซาร์ ไปช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ไม่มีกำหนด จนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จ หลังพบว่าเข้าไปมีส่วนพัวพันกับคดีโรฮิงญาครั้งนี้อีกด้วย

วันนี้ หลังจากคณะของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจเดินทางกลับกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ได้นำหญิงชาวโรฮิงญา ซึ่งมีอาการป่วยหนัก ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อีก 1 ราย เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลปาดังเบซาร์ หลังรับแจ้งจากชาวบ้านพบชาวโรฮิงญาคนดังกล่าวบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย

เปิดเส้นทางขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา

ด้านผู้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์รายหนึ่ง กล่าวว่า ชาวโรฮิงญา ส่วนใหญ่อายุประมาณ 12-25 ปี จะเริ่มออกเดินทางจากฝั่งชายแดนรัฐอาระกันหรือยะไข่ ของพม่า แล้วจะเดินทางผ่านน่านน้ำพม่าภาคอิรวดี เกาะโกโก้ รัฐมอญ ภาคตะนาวศรี ต่อไปยังเขตน่านน้ำไทย ด้านจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา และจังหวัดใกล้เคียง ตามโอกาสและสถานการณ์จะเอื้ออำนวย การเดินทางจากจุดนี้ ใช้เวลา 12 วัน ในการเดินทางแต่ละคนต้องมีค่าใช้จ่าย 1,000 บาท เพื่อหาซื้ออาหารระหว่างเดินทาง ส่วนนายหน้า จะได้รับผลประโยชน์ 50,000-100,000 บาท ตลอดการเดินทาง

“การนำส่งโรฮิงญาแต่ละช่วง จะมีใบสั่งมาจากหัวหน้าสายที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งก็เป็นชาวโรฮิงญา คือเขาจะติดต่อกันเองมาก่อนแล้ว ก่อนที่จะมา เราเป็นแค่คนกลางช่วยส่งต่อให้เขา เพราะพี่น้องชาวโรฮิงญาที่อยู่ในประเทศมาเลเซียมีเยอะ ทุกคนก็อยากให้พี่น้องตัวเองมาอยู่ที่สบาย เพราะบ้านเขามีปัญหา”

ในปาดังเบซาร์ มีกลุ่มที่ทำธุรกิจเช่นนี้หลายกลุ่ม และเขาแก้วที่เป็นข่าวนั้น เป็นพื้นที่รับผิดชอบของ บังลี กับฟาริดา ภรรยาของเขา 8 จุด ที่เจ้าหน้าที่กำลังค้นหาถือว่า ใช่ทั้งหมด

เครือข่ายให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนแก่ชาวโรฮิงญา ในจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ชาวบ้านทราบดีถึงปัญหาที่มีมานานตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2556 แต่ส่วนใหญ่มักจะนิ่งเฉย เพราะคิดว่าไม่ได้เป็นปัญหาของตน หรือเกรงกลัวต่ออิทธิพลของแก๊งค์ค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายหวังว่า ทางรัฐบาลจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดสิ้น

การตอบสนองของ มาเลเซีย และ บังคลาเทศ

"ขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานปรากฏว่า พลเมืองของประเทศนี้ มีส่วนร่วมกับขบวนการ เพราะกฎหมายที่นี่เข้มงวดมาก"  ดาโต๊ะ ดร.วัน จูไนดิ ตวนกู จาฟาร์ (Datuk Dr. Wan Junaidi Tuanku Jaafar) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ของประเทศมาเลเซีย กล่าวกับ เบนาร์นิวส์

ส่วนทางด้าน นาง คาลีดา เบกัม (Khaleda Begum) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประจำกระทรวงต่างประเทศ ของบังคลาเทศ  กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า  "สถานทูตบังคลาเทศ ประจำประเทศไทยกำลังขอให้กระทรวงต่างประเทศไทย ช่วยจัดการให้ พบกับ นาย ตู ดอน คา ผู้รอดชีวิต ชาวบังคลาเทศ โรฮิงญา ซึ่งทางไทยรับปากจะจัดการให้โดยด่วน ซึ่งเราคงจะได้พบเขาเร็ว ๆ นี้"

"เรากำลังช่วยเหลือพวกเขาอยู่"

นายหน้ารายเดียวกันกล่าว ต่อกรณีของชาวโรฮิงญาที่เสียชีวิต และพบศพเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานั้น ตนคิดว่า ไม่ได้มีการทำร้ายอย่างที่เป็นข่าว แต่พวกเขาเสียชีวิตเพราะขาดลมหายใจระหว่างการเดินทาง เพราะใช้ระยะทางไกล และไม่สามารถหยุดพักระหว่างทางได้ อีกทั้ง ต้องอยู่ภายในรถอย่างแออัดทำให้คนที่อยู่ด้านล่างขาดลมหายใจ กว่าจะรู้ว่าเสียชีวิตก็เดินทางมาถึงแคมป์แล้ว เมื่อมีคนตายพวกเขาก็มีการทำพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จแล้วก็ร่วมกันฝังอย่าง เรียบง่าย

ในส่วนของการถูกทำร้าย ยอมรับว่ามีจริง เพราะชาวโรฮิงญาหลายคนพยายามหนีออกจากแคมป์ เมื่อเขาหนีไปเราก็จะไม่สามารถเรียกเก็บค่านำส่งจากญาติเขาที่อยู่มาเลเซีย ได้เลย และในการทำงานเช่นนี้มันเสี่ยงมาก ต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่ทุกจุดที่ผ่าน ทั้งไทยและมาเลเซีย ค่าใช้จ่ายก็หมดไป แล้วจะมาหนีง่ายๆ ก็ต้องมีการทำร้ายเพื่อให้คนที่เหลือไม่กล้าเอาอย่าง

“ทุกครั้งที่มีการเดินทางของชาวโรฮิงญา ไม่เคยมีการบังคับ พวกเขายินยอมมาเองเพื่อไปประเทศที่สาม เพราะที่นั่น ญาติพี่น้องเขาอยู่กันเยอะ ไปแล้วเขาจะสบายกว่าอยู่ที่บ้านเขา อย่างน้อยมีคนไม่รังแกเขา"

"จะมาหาว่าเป็นการค้ามนุษย์ก็ไม่ถูก แต่ยอมรับว่าทำแบบนี้ ผิดกฎหมาย”

 

คำกล่าวอ้างอิง โดย ฮาตา วาฮาริ จากกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย และ ชาริอาร์ ชาร์ริฟ จาก ดาห์กา บังคลาเทศ
ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง