นายกรัฐมนตรีเปิดงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้าประเทศไทย

โดย นาตาลี
2015.06.05
TH-antitrafficking-620 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางกลับถึงสนามบิน ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย หลังจากการเยี่ยมเยียนประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558
เอเอฟพี

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในระหว่างการเปิดงาน “วันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์” ประจำปี พ.ศ. 2558 ในวันศุกร์นี้ (5 มิถุนายน 2558) ว่า รัฐบาลไทยจะพยายามแก้ไขการกระทำผิดต่อเพื่อนมนุษย์ที่มีมาอย่างยาวนานให้สิ้นไป แม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมายเพียงใดก็ตาม ทั้งนี้เพราะปัญหาดังกล่าวได้ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งยังส่งผลต่อการค้ากับต่างประเทศ

“ปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพการเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน ยังเป็นสาเหตุของการลดความเชื่อมั่น ในการค้าขายหรือส่งออกภาคอุตสาหกรรม แต่ปัจจัยสำคัญที่ต้องตระหนักมากที่สุด คือหลักมนุษยธรรม ที่ทำให้ภาพรวมของประเทศเสียหาย ทั้งในด้านสังคม ความรุนแรง และอื่นๆ ตามมา เราจึงต้องดูแลและปราบปรามอย่างจริงจัง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาล นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการออกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2551 จากนั้น ได้มีการกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์” เพื่อให้หน่วยงาน องค์กร และทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง จากนั้นมีการแก้ไขบทลงโทษต่อผู้กระทำผิดให้รุนแรงขึ้น

และเพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังของรัฐบาล ต่อเหตุการณ์ที่มีการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา และบังกลาเทศ ที่มีการพบศพเหยื่อกว่าสามสิบศพ ในปาดังเบซาร์ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมปีนี้ จนนำไปสู่การจับกุมนายทหารยศพลโทเมื่อเร็วๆนี้นั้น พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวต่อ คณะทูตานุทูตและผู้เข้าร่วมงานรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ว่า

“เราเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หรือผู้มีอิทธิพลที่ไหนก็ตาม จะไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล ซึ่งผมเองก็ได้ย้ำหลายครั้งแล้วว่า ใครหรือบริษัทใดที่หากินกับเพื่อนมุนษย์ด้วยกัน จะต้องไม่มีที่ยืนต่อไปในสังคมไทย”

“เรากำลังดำเนินการอย่างจริงจัง และรวดเร็วในการดำเนินการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการการค้ามนุษย์หรือทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งผู้มีอิทธิพลและบุคคลในเครื่องแบบ บุคคลเหล่านี้ จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส แต่ผู้ที่กระทำผิดจริง ผมขอยืนยันว่า จะได้รับการลงโทษตามความผิดที่พวกเขาได้กระทำไว้” พลเอกประยุทธ์กล่าวเพิ่มเติม

พลตำรวจเอก เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แจ้งให้ผู้สื่อข่าวทราบก่อนหน้านี้ว่า มีผู้ต้องหาถูกออกหมายจับจำนวนทั้งสิ้น 84 คน ในจำนวนนั้น มีผู้ต้องหาสำคัญที่มียศระดับนายพล คือ พลโทมนัส คงแป้น ที่ถูกแจ้งรวมทั้งสิ้น 13 ข้อหาด้วยกัน

นอกจากนั้นพลเอกประยุทธ์ ยังได้กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการค้ามนุษย์ เช่น การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว การดำเนินคดีต่อผู้ประกอบการและใช้บริการทางเพศกับเด็ก และปัญหาขอทาน เป็นอาทิ

และในปีนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีโครงการ “รวมใจไทย ต้านการค้ามนุษย์” (Thailand AGAINST Human Trafficking) เพื่อช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์อีกด้วย

ปัจจุบัน ตามตัวเลขของศูนย์ปฎิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้า มีชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศ เข้าเมืองผิดกฎหมายอยู่ 779 คน ในประเทศไทยโดยมีจำนวนหนึ่ง ได้รับการพิจารณาว่า เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง