ศาลอาญากำหนดการพิจารณาคดีค้ามนุษย์ถึงเกือบสิ้นปี 2559
2015.11.13
ในวันศุกร์ (13 พ.ย. 2558) ศาลอาญากรุงเทพเหนือ ได้ประชุมสรุปสำนวนคดีการค้ามนุษย์โรฮิงญา และได้กำหนดการเริ่มพิจารณาอย่างเป็นทางการไว้คร่าวๆ ในเดือนมีนาคม 2559 ไปจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 แต่ก่อนหน้านั้น จะมีการสืบพยานล่วงหน้าควบคู่กันไปด้วย เพื่อความรวดเร็วของกระบวนการพิจารณาคดี
โดยในวันนี้ ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลได้กล่าวว่า หลังจากการตรวจสำนวนคดีที่ทางอัยการยื่นในวันจันทร์ที่ผ่านมาแล้วนั้น มีความจำเป็นที่ต้องตัดพยานโจทก์จากเกือบห้าร้อยปากลงเหลือ 406 ปาก ส่วนพยานจำเลยนั้น ในเบื้องต้นประมาณว่าจะมีเกือบสี่ร้อยปาก
ทั้งนี้ ทางศาลยังจะต้องตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีกในวันที่ 22-23 ธันวาคม 2558 และ ช่วงต้นเดือนมกราคม 2559 เพื่อบริหารคดีให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วที่สุด หลังจากนั้น จะสามารถสืบพยานในเดือนมีนาคม โดยกำหนดให้มีการสืบพยานเดือนละแปดวัน
นอกจากนั้น ศาลยังได้เตรียมล่ามแปลภาษาให้กับพยาน และจำเลยชาวพม่า บังกลาเทศ และโรฮิงญาอีกด้วย
ในจำนวนจำเลย 88 คน มีผู้หญิงตั้งครรภ์ 6 เดือนรวมอยู่ด้วยหนึ่งคน และมีผู้ป่วยรายอื่นอีกสี่ราย ที่ทางศาลได้กำชับให้มีการดูแลสุขภาพกับทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์อีกด้วย
ในวันนี้ ได้มีญาติผู้ต้องหาจำนวนประมาณสามสิบราย ได้มาร่วมฟังการตรวจสอบพยานหลักฐานทางทีวีวงจรปิด ที่ศาลจัดให้ญาติได้ติดตามที่ห้อง 701
นางฟารียา บิลล่าเต๊ะ ซึ่งพี่ชายและหลานอีกสามราย ถูกข้อกล่าวหามีส่วนในการร่วมค้ามนุษย์กล่าวว่า และได้เดินทางมาจากจังหวัดสงขลา เพื่อมาฟังการตรวจพยานหลักฐานในวันนี้นั้น กล่าวว่า ตนเองมีความต้องการที่จะยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้งสี่คน เนื่องจากว่าน้องชายของตน เพียงแค่เป็นผู้ซื้อยารักษาโรคให้แก่คนที่ถูกนำพาเข้าเมือง ที่ซ่อนตัวอยู่ในสวนแห่งในปาดังเบซาร์ เพราะเหตุผลทางมนุษยธรรมเท่านั้น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแก๊งค์ค้ามนุษย์แต่อย่างใด ส่วนหลานสามคน แทบจะไม่มีพยานหลักฐาน ที่มีน้ำหนักยืนยันถึงการกระทำความผิดแต่อย่างใด
“พี่ชายของก๊ะ บอกทนายว่า เขาได้ซื้อยารักษาโรคให้แก่คนที่ถูกนำพาในสวนแห่งหนึ่งที่ปาดังเบซาร์ สะเดา เพราะความสงสารเขา เขาป่วยและขาดแคลนอาหาร” นางฟารียา กล่าว
เหตุแห่งคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงระหว่าง มกราคม พ.ศ. 2554 ถึง พฤษภาคม 2558 ที่มีการนำพาชาวโรฮิงญา และบังกลาเทศ เพื่อส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย จนได้กลายเป็นข่าวใหญ่ เมื่อมีการค้นพบหลุมฝังศพของผู้ถูกลักลอบนำพาเข้าเมือง ถูกฝังไว้ที่เทือกเขาแก้ว ในอำเภอปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ศกนี้
โดยจำเลยเป็นคนสำคัญ เช่น นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ อดีตนายก อบจ. สตูล จำเลยที่ 29 พล.ท. มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54 รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนจำนวนหนึ่ง และจำเลยรายอื่นๆ ถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกระทำกันเป็นขบวนการ
คดีนี้ เป็นคดีหมายเลขดำ ดม.29/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายบรรจง ปองพล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ กับพวกรวม 88 ราย เป็นจำเลย มีความผิด 16 ข้อหา ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2546 ได้มีการโอนคดีจากศาลนาทวี มาพิจารณาคดีที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558
พล.ต.ต. ปวีณ พงษ์สิรินทร์ อดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา กล่าวในวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ในขณะนี้ ยังมีผู้ต้องหาหลบหนีอยู่อีก 62 ราย