การเสียชีวิตของเด็กน้อย ชี้สภาพชาวอุยกูร์ที่ถูกกักกัน อีกนับร้อยในไทย
2015.04.30
นับเป็นเวลาห้าเดือนแล้ว หลังจากการเสียชีวิตของเด็กชายอายุ 3 ปี ชาวอุยกูร์ ที่อยู่ในภาคใต้ของไทย ทำให้มีคำถามตามมาอีกมากมาย ถึงสาเหตุการตายของเขา จนถึงสภาพของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์อีก 370 คน ที่ถูกกักกันมานานกว่าหนึ่งปี หลังจากที่หลบหนีออกมาจากมณฑลซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน
เด็กชาย อับดุลลาห์ อับดุเวลี ได้รับการรักษาตัวจากวัณโรค ซึ่งเป็นโรคติดต่อ จากการติดเชื้อแบคทีเรียในปอด เขาเสียชีวิต หลังจากอยู่โรงพยาบาลนานร่วมสองเดือน ที่โรงพยาบาลในเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อเช้าวันที่ 22 ธันวาคม 2557 แหล่งข่าวรายงาน
อับดุลลาห์ ได้รับเชื้อติดต่อจากในศูนย์กักกันคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ปาดังเบซาร์ ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ที่เขาและชาวอุยกูร์อีก 70 คน ถูกกักกันอยู่รวมกัน ในสภาพที่แออัด คับแคบและไม่ถูกสุขลักษณะ ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว แหล่งข่าวกล่าว
ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวว่า เธอไม่สามารถไปเยี่ยมเด็กชายอับดุลลาห์ได้ เพราะเมื่อเขามาถึงโรงพยาบาล เมื่อปลายเดือนตุลาคม เขาก็อยู่ในสภาพที่แย่มากแล้ว
"หมอพยายามช่วยเขา และดูแลเขาอย่างดีที่สุดแล้ว" เธอกล่าว
"เขาล้มป่วยในศูนย์กักกันฯ และเชื้อ(วัณโรค)ได้ลามถึงศีรษะแล้ว จึงทำให้เขาอยู่ในสภาพที่แย่ที่สุดแล้ว"
โรคติดต่อของอับดุลลาห์ เป็นปัญหาสุขภาพที่รุนแรงรายแรก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเด็กๆในศูนย์กักกันฯ ปาดังเบซาร์ แต่รัฐบาลไทยก็จัดการน้อยมาก ในเรื่องการปรับปรุงสภาพที่นั่น ชลิดากล่าว
เธอกล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีเด็กถูกส่งไปรักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องมาจากสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ได้พูดอะไร (เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของเด็ก)
"แม้ว่าเขาไม่ได้เป็นคนไทย แต่เขาเป็นพลเมืองของโลก และเขามีสิทธิที่จะมีชีวิต"
นอกจากผู้ถูกกักกัน ชาวอุยเกอร์ร่วม 70 คน ในปาดังเบซาร์แล้ว ยังปรากฎว่ามีชาวอุยเกอร์-เตอร์ก ที่ใช้ภาษาตุรกีอีกกว่า 300 คน ที่ถูกกักกันอยู่ในประเทศไทย หลังจากหลบหนีจากเขตปกครองตนเองซินเจียง ที่เกิดเหตุการณ์การใช้ความรุนแรง รัฐบาลจีนกล่าวว่า เป็นการก่อการร้ายของกลุ่มก่อการร้ายอิสลาม ที่ต้องการจะแยกตัวเป็นรัฐอิสระ อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนตั้งแต่ปี 2555
ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ และกลุ่มสิทธิมนุษยชน ต่างกล่าวถึง ทางการจีนว่า ใช้กฎเหล็กในการปกครองมณฑล ทั้งตำรวจจีนยังบุกทำลายครอบครัวชาวอุยกูร์ ทั้งประกาศอย่างเป็นทางการว่า อิสลามเป็นสิ่งผิดกฏหมายและลงโทษทุกคน ห้ามศึกษาศาสนาและปฎิบัติตามหลักอิสลาม รวมทั้งวิถีวัฒนธรรม และภาษาของชาวอุยกูร์ ทำให้ชาวอุยกูร์จำนวนมาก หลบหนีเพื่ออพยพไปประเทศอื่น มุ่งผ่านเส้นทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
'สภาพที่เลวร้าย'
เซยิด อับดุลคาเดอร์ ทัมเตอร์ก (Seyyid abdulkadir TumTurk) ผู้แทนขององค์กรวัฒนธรรมและความร่วมมือเตอร์กิซฐานตะวันออก ของอุยกูร์-ตุรกี กล่าวว่า เขาได้พบกับเด็กชายอับดุลลาห์ ในศูนย์กักกันคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ปาดังเบซาร์
"มีเด็กจำนวนมากที่นั่น บางส่วนมาพร้อมกับพ่อแม่ของพวกเขา และบางส่วนก็มาด้วยความช่วยเหลือของคนอื่น" เขากล่าว
"มีคนบอกว่า แม่ของอับดุลลาห์ ถูกทิ้งไว้ที่นู่น ในอักซู (มณฑลซินเจียงของจีน) ผมเชื่อ และคิดว่าเขามากับพ่อ ซึ่งเดินทางมาเป็นกลุ่ม ผ่านกัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า"
ทัมเตอร์ก (TumTurk) กล่าวว่า เขารู้มาว่า เมื่ออับดุลลาห์ ถูกย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาล ในเดือนตุลาคม มุสตาฟา พ่อของอับดุลลาห์ ได้รับอนุญาตให้ออกมาพร้อมอับดุลลาห์ โดยให้อยู่ภายใต้การควบคุม แต่พ่อของเขาหลบหนีไป เมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงโรงพยาบาล
"ผมอยากรู้ว่า พ่อสามารถทิ้งลูกชายของเขาและหลบหนีไปได้อย่างไร" เขากล่าว
"แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกับมุสตาฟา (ทางโทรศัพท์ หลังจากที่เขามาถึงตุรกีแล้ว) ผมก็ไม่ตำหนิเขา เพราะสภาพของศูนย์กักกันฯ เป็นอะไรที่เลวร้ายมาก ผู้ถูกกักกัน 40-50 คน ต้องอยู่ด้วยกันอย่างแออัด ในที่ที่ร้อนและสกปรกที่สุด อีกทั้งลูกชายของเขากำลังจะตาย เขาไม่ต้องการที่จะถูกส่งตัวกลับไปประเทศจีนอีก"
หลังจาก อับดุลลาห์เสียชีวิต ทัมเตอร์ก กล่าวว่าเขาพยายามที่จะส่งศพไปตุรกี แต่ทางการไทยไม่อนุญาต ศพของอับดุลลาห์จึงถูกฝังตามพิธีทางศาสนาอิสลาม เมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่กุโบร์บ้านเหนือ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของหาดใหญ่
เขาเล่าอีกว่า เมื่อเขาได้โทรศัพท์ติดต่อกับมุสตาฟาอีกครั้ง เขาบอกเรื่องการเสียชีวิตของอับดุลลาห์ มุสตาฟาเสียใจมาก และรู้สึกผิดในการทิ้งลูกชายของเขาไว้ เขาเอ่ยว่า "มันเป็นการสูญเสียที่ต้องอยู่กับเขาไปตลอดชีวิตนี้" พร้อมขอให้อัลเลาะห์นำส่งดวงวิญญาณของลูกสู่สวรรค์
อนาคตที่ไม่แน่นอน
ผู้ถูกกักกันชาวอุยกูร์ ในประเทศไทย ยังคงอยู่อย่างไม่รู้อนาคตในศูนย์กักกันฯ มาปีกว่าแล้ว ในขณะที่รัฐบาลจีนในกรุงปักกิ่งได้ขอให้ส่งตัวพวกเขากลับไปประเทศจีน
หลังจากการตาย ของอับดุลลาห์ ผู้ถูกกักกันอุยกูร์ ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับสภาพต่างๆที่เลวร้ายในศูนย์ฯ และอาหารที่คุณภาพแย่ และพร้อมกับอดอาหารประท้วง เมื่อเดือนมกราคม เพื่อเรียกร้องให้ทางการ ปรับปรุงสภาพโดยรวมของศูนย์กักกันฯ
พวกเขาบอกว่า ที่ศูนย์กักกันฯนี้ อยู่ในความดูแลของรัฐ ผู้ถูกกักกันจึงอยู่กันในสภาพแออัด ขาดแคลนเตียง และห้องน้ำ ดังนั้นหลายคนที่นี่จึงล้มป่วย จากเชื้อโรคต่างๆเพราะขาดสุขอนามัย
เมื่อเดือนที่แล้ว ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ตัดสินปฏิเสธว่า ครอบครัวของผู้อพยพ ผู้ต้องสงสัย ชาวอุยกูร์ทั้ง 17 คน ที่ถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม) จับกุม และถูกกักกันที่ สตม. มาร่วมปีกว่าอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้กลุ่มทนายความและผู้สนับสนุนพร้อมใจกันจะอุทธรณ์ ในชั้นต่อไป
ชาวอุยกูร์ทั้ง 17 คน มีผู้ใหญ่ 4 คน และเด็ก 13 คน สองคนในนั้นเป็นเด็กที่เพิ่งเกิดที่โรงพยาบาลตำรวจ ภายใต้การควบคุมของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หลังจากที่พวกเขาเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ผ่านมาทางประเทศกัมพูชา เมื่อมีนาคมปีที่แล้ว (2557) และอ้างว่าเป็นคนชาติทั้งตุรกีและจีน
ศาลวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีสิทธิที่จะควบคุมตัว ชาวอุยกูร์ทั้ง 17 คน แต่ไม่ได้ตัดสินว่า คนเหล่านั้นถือสัญชาติใด ตามกฎหมายไทย เจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองจะต้องขออนุญาตศาล หากมีการกักตัวนานกว่าหนึ่งสัปดาห์
ในงานแถลงข่าววันที่ 22 เมษายน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ตอบคำถามเรื่องอุยกูร์ “ผมบอกอย่างนี้ ขณะนี้ชาวอุยกูร์ เราก็ดำเนินการร่วมกันในการพิสูจน์สัญชาติ ขึ้นอยู่กับทางจีน"
“เรานี่ไม่ได้บอกว่าจะต้องกลับเมืองจีนทั้งหมดแต่อย่างใด เราก็บอกว่า ถ้าเขาไม่มีเรื่องเกี่ยวกับคดี เกี่ยวกับเรื่องอะไรต่างๆ ที่ทางเมืองจีนเขาขัดข้อง เราก็จะให้เขาไปไหนก็ได้ แล้วแต่เขาอยากจะไป"
ถ้าทางตุรกีเขารับ มีประเทศที่สามรับ เราก็ให้ไป ไปทันที เราไม่เกี่ยวข้อง เราจะส่งให้ ไม่มีปัญหาหรอกครับในเรื่องของการส่ง”
“จะเอากลับไปที่เดิม ต้องมีข้อแม้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องให้เกิดความปลอดภัย ของผู้ที่จะกลับไปยังที่เดิม หรือคนที่จะเอาไปใหม่ประเทศที่สามจะต้องรับ”
"เพราะฉะนั้นเรามีระเบียบอยู่แล้ว สมช. เราจัดการอยู่แล้ว ฝ่ายความมั่นคงดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง นี่เป็นนโยบายชาติชัดเจนครับ”