สำนักจุฬาราชมนตรี ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไม่ให้ส่งตัวชาวอุยกูร์ที่เหลือไปประเทศจีน
2015.07.15
ในวันพุธที่ 15 ก.ค. 2558 สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องการส่งตัวผู้แสวงหาที่พักพิงชาวอุยกูร์ของรัฐบาลไทย โดยยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1. ให้รัฐบาลไทยติดตามการดำเนินคดีของรัฐบาลจีนอย่างใกล้ชิด 2. ให้รัฐบาลไทยระงับการส่งตัวชาวอุยกูร์ที่เหลืออยู่ในประเทศไทย 3. ขอให้รัฐบาลไทยมองความมั่นคงในมิติของจริยธรรม เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความมั่นคงชาติอย่างยั่งยืน 4. รัฐบาลไทยควรชี้แจงเหตุผลและทำความเข้าใจในการส่งตัวชายอุยกูร์กลับประเทศจีนในครั้งนี้กับโลกมุสลิม
“เราขอรัฐบาลไทยให้ให้คำมั่นต่อทุกๆ ท่านว่า จะไม่มีการส่งสิบสองคนกลับประเทศจีน เนื่องจากความกังวลต่อภัยประหัตประหาร” อารี อารีฟ เจ้าหน้าที่ สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา
และในวันเดียวกันนี้ นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ได้กล่าวก่อนการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อติดตามความเป็นอยู่ของอุยกุร์ 109 คน ที่ไทยได้ส่งตัวกลับไปตั้งแต่วันที่ 8 เดือนนี้ว่า การเดินทางไปในครั้งนี้ ตนจะไปพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน จากนั้นจะเดินทางไปดูความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์ ที่เมืองอูรุมฉี เมืองหลวงของมณฑลซินเจียง ส่วนจะมีการรายงานผลไปยังประเทศตุรกีทราบหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ จะพิจารณาว่าจะสมควรหรือไม่ ซึ่งตนเชื่อว่านานาชาติจะเข้าใจถึงสถานการณ์ของไทย
ส่วนรายละเอียดเนื้อหาการแถลงการณ์ของสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้วยมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ที่เผยแพร่ในวันนี้ ได้กล่าวแสดงความตระหนักดีถึงท่าทีอันระมัดระวังของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาผู้แสวงหาที่พักพิงกลุ่มนี้ เพราะเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน และรัฐบาลต้องเผชิญกับแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศ และได้ขอบคุณรัฐบาลในการตัดสินใจส่งผู้แสวงหาที่พักพิงชุดแรกจำนวน 172 คน ไปยังประเทศตุรกีตามคำร้องขอของบุคคลกลุ่มนี้
แต่สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมฯ มีความกังวลใจและห่วงใยอย่างยิ่งที่รัฐบาลได้ตัดสินใจส่งผู้แสวงหาที่พักพิงจำนวน 109 คน กลับไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนได้เปิดเผยท่าทีและมีทัศนคติอย่างชัดแจ้งแล้วว่า บุคคลกลุ่มนี้ เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ซึ่งอาจทำให้บุคคลกลุ่มนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดี
ด้าน นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า “สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศช่วยตรวจสอบ และคำนึงว่าผู้แสวงหาที่พักพิงชาวอุยกูร์ที่เหลือไม่ควรส่งไปยังประเทศจีน เนื่องจากจีนมีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะเชื่อมโยงไปเรื่องการก่อการร้าย ทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เราก็เข้าใจรัฐบาลในสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ การที่จะไปประณามอะไรที่รุนแรงก็ใช่ที่ แต่ควรที่จะเห็นอกเห็นใจกันมากกว่า”
ในวันที่ 14 ก.ค. 58 ที่หอประชุมกองทัพเรือ มีประชุมทางวิชาการกองทัพเรือครั้งที่ 8 ในหัวข้อ “บทบาทมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลไทย” นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการประทรวงการต่างประเทศไทยและอดีตเลขาธิการอาเซียน ได้กล่าวถึงกรณีมีการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ช่วงหนึ่ง ว่า “กรณีที่ประเทศไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ไปยังประเทศจีน เรื่องนี้ประเทศไทยต้องชี้แจงให้สังคมโลกเข้าใจถึงสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว และเห็นด้วยที่รัฐบาลให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้าไปดูการปฏิบัติของจีนที่จะดำเนินการกับชาวอุยกูร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องนำผลการปฏิบัตินั้น มาชี้แจงให้สังคมโลกเข้าใจต่อไป แต่ทั้งนี้ จะต้องระวังว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไปกระทบต่อกิจการภายในของจีนด้วย อย่างไรก็ตาม มองว่ากระแสโลกให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งไทยจะต้องให้ความกระจ่างและตอบสังคมโลกให้ได้”