กลุ่มสตรีชาวพุทธ และมุสลิม ร่วมกันเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อพลเรือน โดยเฉพาะต่อเด็กและสตรี

นาซือเราะ
2015.04.28
TH-violence-620 “คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้” ชูป้ายเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง ที่บริเวณหน้ามัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี ในวันครบรอบการลุกฮือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนปีที่สิบเอ็ด 28 เมษายน 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธที่ (28 เมษายน 2558) กลุ่มผู้หญิงทั้งชาวพุทธและมุสลิม ที่รวมตัวกันเป็น “คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้” ได้รวมตัวกันที่จังหวัดปัตตานี ในวันครบรอบที่สิบเอ็ดปีเหตุการณ์กรือเซะ เพื่อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อพลเรือนโดยเฉพาะต่อเด็กและสตรี รวมทั้งให้มีการเปิดเผยความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

โดยคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ประกอบด้วยกลุ่มผู้หญิง ที่ทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพ การช่วยเหลือเยียวยา  การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การสื่อสาร และกระบวนการสร้างสันติภาพ ในพื้นที่ 4  จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 21 กลุ่ม ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ที่โรงแรมปาร์ควิวว่า   เมื่อมีการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเริ่มโดยฝ่ายใดก็ตาม จะเกิดการตอบโต้จนกลายเป็นวงจรความรุนแรงเสมอมา ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือน โดยเฉพาะต่อกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและผู้หญิง

กลุ่มคณะทำงานฯ ได้ยกตัวอย่าง กรณีการวิสามัญฆาตกรรมเยาวชน 4 ศพ โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ว่าได้ทำให้เกิดความรุนแรงตามมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนมีการวางระเบิด 7 ครั้ง ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึงการลอบยิงราษฎรและเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 30 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน โดยในจำนวนนี้ เป็นเด็กและผู้หญิง 9 คน และบาดเจ็บรวมอีกทั้งหมด 20 คน

นางปาตีเมาะ เปาะอีแตดาโอ๊ะ สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ WEPEACE กล่าวว่า ที่ผ่านมา เรามีความพยายามผลักดันผู้หญิงทางการเมือง ให้สามารถมีเสียงในสภา แล้วสามารถนำเข้าบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ถือว่ารัฐบาลไม่ได้ลืมพวกเรา และไม่เสียแรงที่ต่อสู้กันมา

“เราขอพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและผู้หญิง ขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงในพื้นที่สาธารณะ ตลาด โรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน ขอให้ทุกคนในพื้นที่มีความอดทนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ต้องใช้แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทุกรูปแบบ โดยการยึดหลักสันติวิธี” นางปาตีเมาะ

และเนื่องในวาระครบรอบ 11 ปีเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 อันนับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งของวงจรความรุนแรงในพื้นที่ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จึงมีข้อเรียกร้องเพื่อยุติวงจรความรุนแรงดังกล่าว และสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพ ดังนี้

1. ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายต้องยุติการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนโดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง และยุติการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่สาธารณะ

2. รัฐต้องรับผิดชอบในการค้นหาและนำเสนอความจริงต่อสาธารณะโดยเร็วในกรณีเกิดเหตุสะเทือนขวัญ ได้แก่ การเสียชีวิตของเด็กและผู้หญิง การเสียชีวิตของนักต่อสู้เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การฆ่าด้วยวิธีการทารุณโหดร้าย การฆ่าล้างครอบครัว การเสียชีวิตที่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด จนลุกลามเป็นวงจรความรุนแรงต่อไป

3. รัฐต้องมุ่งมั่นที่จะขจัดวัฒนธรรมคนทำผิดลอยนวล (impunity) โดยคุ้มครองทั้งสิทธิของผู้เสียหาย และผู้ถูกกล่าวหาอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงให้การดูแลเยียวยาโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา หรือสถานะทางสังคม

4. พี่น้องประชาชนทุกศาสนา ต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อแรงยั่วยุ จากการก่อเหตุความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม เพื่อไม่ให้วงจรความรุนแรงขยายตัว ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความขัดแย้งทุกรูปแบบต้องเป็นไปโดยยึดหลักสันติวิธี เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และใช้การพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน

หลังจากที่มีการแถลงการณ์เสร็จทางคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ได้เดินทางไปรณรงค์แสดงเชิงสัญลักษณ์ในที่สาธารณะต่าง เพื่อต้องการเรียกร้องให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและสตรี เช่น  ที่มัสยิดกรือเซะ โรงเรียนเทศบาล  โรงพยาบาลปัตตานี วัดตานีสโมสรณ์  ตลาดนัด และมัสยิดกลางปัตตานี

นอกจากนั้น คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ยังได้เรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติสุข เพื่อแสวงหาความสงบสุขในพื้นที่ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนหน้านี้ด้วย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง