มาเลเซียส่งตัวหญิงไทย 21 คน ที่ถูกล่อลวงไปกลับ ชุดแรก 12 คน

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2017.01.19
จังหวัดชายแดนภาคใต้
TH-women-620 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้อนรับหญิงไทย 12 คน ที่เจ้าหน้าที่มาเลเซียปล่อยตัวเดินทางกลับไทย หลังจากกักตัวเป็นพยาน ในรัฐยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย วันที่ 19 มกราคม 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี(19 มกราคม 2560) หญิงไทย 12 คน จากทั้งหมด 21 คน ซึ่งถูกล่อลวงไปขายแรงงานผิดกฎหมาย ในประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนกันยายน 2559 เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว โดยที่เหลืออีก 9 คน รัฐบาลมาเลเซียจะช่วยเหลือส่งตัวกลับภายหลัง

นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังจากต้อนรับหญิงไทยทั้ง 12 คน ที่ทางการมาเลเซียส่งตัวกลับประเทศไทยว่า เหตุผลที่หญิงไทยทั้งหมดต้องอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียเป็นระยะเวลานานนั้น เนื่องจากทางการมาเลเซียต้องการกันทั้งหมดไว้เป็นพยานในคดีค้ามนุษย์

“หญิงไทย 12 คนได้กลับมาถึงบ้านแล้ว พวกเขาเป็นพยานไม่ใช่เหยื่อ เพราะกฏหมายเรากับกฏหมายมาเลเซียต่างกัน ของเราไปด้วยความสมัครใจถือว่า ไม่ได้เป็นเหยื่อ” นายศุภณัฐกล่าว

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขา ศอ.บต. ยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า จะพยายามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นกับหญิงไทยทั้ง 21 คนนี้อีก เพราะเชื่อว่าการต้องไปติดอยู่ในต่างประเทศเป็นเรื่องที่ลำบาก

“ภาพที่เห็นวันนี้รู้สึกจุกเลย และคิดในใจว่าจะไม่ทำให้พวกเขาต้องไปลำบากในต่างประเทศอีก หลังจากนี้จะหาอาชีพที่มั่นคงให้พวกเขาได้ทำอยู่ที่บ้านกับครอบครัว” พล.ร.ต.สมเกียรติกล่าว

หญิงไทยกลุ่มแรกจำนวน 12 คนที่ได้กลับมายังประเทศไทยนั้น ได้เดินทางออกจากรัฐยะโฮร์บารูในเวลา 00.00 น. และถึงด่านชายแดนไทย-มาเลเซียในเวลา 08.00 น. โดยครอบครัว และเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. เป็นผู้เดินทางไปต้อนรับ

 

 

 

 

 

 

 

 

นางฮามีด๊ะ สาและ 1 ใน 21 หญิงไทยที่ติดอยู่ในประเทศมาเลเซีย และได้รับการส่งตัวกลับประเทศรอบแรกนี้ เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้กลับบ้าน และในอนาคตจะไม่มีความคิดเดินทางไปไหนอีก

“ดีใจมากที่ได้กลับบ้าน หลังจากนี้จะไม่ไปแล้ว ขอเลี้ยงหลานอยู่บ้าน สิ่งที่เจอถือว่าโชคชะตากำหนด” นางฮามีด๊ะกล่าว

นายมะสาดี สาะและ ลูกชายนางฮามีด๊ะ สาและ เปิดเผยว่า รู้สึกลำบากใจที่ต้องเป็นผู้บอกกับมารดาของตนว่า บิดาได้เสียชีวิตระหว่างที่มารดาติดอยู่ในประเทศมาเลเซีย

"คำแรกที่แม่ถามเมื่อเจอกันคือ พ่อไม่ได้มาด้วยหรือ ผมพยายามกลั้นไม่ให้ร้องไห้ออกมาแล้วตอบว่า พ่ออยู่บ้าน ครอบครัวเราสูญเสียมากพอแล้ว เสียทั้งเงิน 7 หมื่นบาทและเสียพ่อไป ได้แม่กลับมาก็ขอภาวนาอย่าให้ตกใจเป็นอะไรอีกเลย” นายมะสาดีกล่าว

นางกอยะห์ กาเจมูซอ 1 ใน 12 หญิงไทยที่ได้กลับประเทศกลุ่มแรก เปิดเผยว่า ถูกเจ้าหน้าที่มาเลเซียควบคุมตัวหลังจากเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียได้เพียง 2 วันเท่านั้น รู้สึกดีใจมากที่ได้กลับบ้านอีกครั้ง

“ได้ไปขายของ 2 วัน ก็ถูกจับ แล้วเถ้าแก่ไม่ยอมรับว่ารู้จักกัน ส่วนภรรยาเถ้าแก่อ้างว่า หาพวกเราไม่เจอไม่รู้ถูกจับไว้ที่ไหน พวกเราขึ้นศาลเสร็จ เจ้าหน้าที่บอกว่าจะได้กลับก็ดีใจมาก” นางกอยะห์กล่าว

ด้านนายมะสุกรี เจะเหาะ สามีของนางซิติแอเสาะ ลาเต๊ะ หนึ่งในหญิงไทย 21 คน ที่ถูกกักตัวอยู่ในประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่า ดีใจกับ หญิงไทยกลุ่มแรก 12 คนที่จะได้กลับประเทศ แม้ภรรยาของตนจะยังไม่ได้กลับมาด้วยในรอบนี้ก็ตาม

“เสียใจมากที่ภรรยาไม่ได้กลับมารอบนี้ ดีใจกับทุกคนที่ได้กลับมา อยากขอให้เจ้าหน้าที่มาเลเซียรีบดำเนินการตามกระบวนการให้เร็ว ภรรยาจะได้กลับมาหาลูกๆ และตนเอง” นายมะสุกรีกล่าว

หญิงไทย 12 คนแรกที่ได้รับการส่งกลับมีดังนี้ 1.น.ส.สะละมา บาโล 2.นางลีหม๊ะ เจะโด 3. นางลิเยาะ สุหลง 4. นางฮาสือนะ อาแว  5.รอเมาะ เดหล่ำ 6.นางกอยะห์ กาเจมูซอ 7.น.ส.ลีเมาะ สาและ  8.นางกอรีเยาะ สาแม  9.นางคอบเสาะ ลาเต๊ะ 10.น.ส.ฮามีด๊ะ สาและ 11.นางเจะมือลอ เจะลี   และ 12.นางปิอะ เจะหะ

สำหรับหญิงไทยอีก 9 คน ที่รอการส่งตัวกลับในรอบหลังประกอบด้วย 1.นางเจะเนาะ แวกือจิ 2.นางซีพะ ดามัย 3.นางซิติแอเสาะ ลาเต๊ะ 4.นางรอฮานี เปาะโซ๊ะ 5.นางตีเมาะ มะมิง 6.นางปีซะ ดาเหม 7.สัลลามะ สะแลแม 8.มารีเยาะ หะมะ และ 9.นางดอยะ กาตีมูซอ

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2559 หญิงชาวไทยมุสลิมจำนวน 21 คนได้เดินทางเข้าไปในประเทศมาเลเซียผ่านจุดผ่านแดนไทย-มาเลเซีย ที่จังหวัดสงขลา เพื่อไปขายข้าวเกรียบตามการชักชวนของนายหน้าแรงงาน แต่เมื่อเข้าสู่รัฐยะโฮร์ หญิงกลุ่มดังกล่าวกลับขาดการติดต่อจากครอบครัว จนสมาชิกครอบครัวได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยตามหา เนื่องจากเชื่อว่าหญิงไทยกลุ่มดังกล่าวอาจถูกหลอกไปค้าแรงงานผิดกฎหมายในประเทศมาเลเซีย

จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2559 มีการเปิดเผยจากทางการมาเลเซียว่า หญิงไทยทั้งหมด 21 คน ถูกหลอกไปค้าแรงงานผิดกฎหมายในประเทศมาเลเซีย แต่ได้รับการช่วยเหลือจากทางการมาเลเซียแล้ว รัฐบาลมาเลเซียจึงได้นำหญิงไทยทั้งหมดมาดูแล เพื่อกันไว้เป็นพยานสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์ผิดกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ดี ครอบครัวของหญิงไทยทั้งหมดได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือ ผลักดันให้เกิดการส่งตัวกลับโดยเร็วที่สุด จนกระทั่งนำไปสู่การส่งตัวกลับในวันพฤหัสบดีนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง