ประเพณีชักพระ สานวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวใต้
2015.10.28
วันพุธที่ 28 ตุลาคม 2558 บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ จ. ปัตตานี นายภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นพระธานเปิดพิธีงานประเพณีชักพระ หรือ ประเพณีลากพระ เป็นประเพณีพื้นเมืองของชาวภาคใต้ ครั้งที่ 66 จัดขึ้น 10 วัน 10 คืน ระหว่างวันที่ 23 ต.ค.-1 พ.ย. 2558 บรรยากาศภายในงาน มีประชาชนทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน มาเที่ยว และร่วมขายของเป็นจำนวนมาก
เรือแต่ละลำมีการตกแต่งอย่างสวยงาม บางลำนำไม้มาแกะสลักเป็นพุทธประวัติ บอกเล่าเรื่องราวของพระเจ้าสิบชาติก่อนเสวยชาติเป็นพระพุทธเจ้า บางลำแกะสลักโฟมเป็นลวดลายไทยโบราณอันอ่อนช้อยงดงาม มีริ้วขบวนแห่ฟ้อนรำหน้าเรือพระ และ ประกวดตีกลองตะโพนเสียงดังทั่วพื้นที่ เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของงาน ขณะที่ สองข้างทางริมถนนเพชรเกษมหน้าอำเภอ เต็มไปด้วยร้านค้าตลอดเส้น มีร่มใหญ่สีฉูดฉาดเป็นสัญลักษณ์ ส่วนใหญ่เป็นร้านขายอาหาร ทั้งไก่ฆอ และ ข้าวเหนียวหลาม ลูกชิ้นปิ้ง ลูกชิ้นทอด ขนมจีน ขนมหวาน ผลไม้ พ่อค้าแม่ค้าเป็นมุสลิมมากกว่าพุทธ ส่วนลูกค้าก็มีปะปนกันไป ทั้งคนในพื้นที่เอง และคนที่มาจากต่างถิ่น
ประเพณีชักพระ เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวใต้ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเชื่อกันว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนจึงมารอรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าขึ้นประทับบนบุษบก แล้วแห่ไปรอบเมือง
นางปราณี ไชยสงคราม อายุ 70 ปี ชาวบ้าน ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า ประเพณีชักพระที่ อ.โคกโพธิ์ เป็นประเพณีเก่าแก่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ ถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของ จ.ปัตตานี จัดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 โดย พระอธิการแดง สุนทรโร (หลวงปู่แดง) เจ้าอาวาสวัดมะเดื่อทอง ปีนั้นหลวงปู่แดงได้นัดหมายให้ลากเรือพนม (เรือที่จัดตกแต่งเป็นทรงพุ่มยอดแหลม) มาจอดชุมนุมสมโภชน์ร่วมกัน 1 คืน มีเรือมาจากสามจังหวัดคือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมทั้ง สงขลา
ต่อมาในปี พ.ศ.2492 ได้มีการลากเรือมาชุมนุมพร้อมกันที่ลานหน้าที่ว่าการ อ.โคกโพธิ์ ถือเป็นงานประเพณีชักพระอย่างเป็นทางการครั้งแรกของอำเภอ และได้จัดสืบทอดกันมาจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 66 ด้วยความเจริญของพื้นที่และประชาชน จึงมีการจัดงานชักพระมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้เรือที่ลากมาร่วมงานที่นี่ มีเพียงเรือที่มาจากเขตอำเภอโคกโพธิ์อำเภอเดียว สำหรับปีนี้มีเรือมาร่วมจำนวน 100 ลำ
พอถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจากแต่ละหมู่บ้านจะพร้อมใจกันลากเรือพระออกจากวัด มุ่งสู่ลานหน้าที่ว่าการอำเภอ พร้อมกับตีกลองโห่ร้องตลอดเส้นทาง และคนในชุมชนก็จะมาร่วมลากเรือกัน ทั้งหนุ่มสาว คนแก่ หรือ เด็กมาร่วมกันชักเรือพระ พอลากเรือมาจอดหน้าที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ เรือพระทุกลำจะจอดรวมกัน เพื่อประกวดเรือพระ เมื่อถึงวันแรม 6 ค่ำเดือน 11 ทุกคนก็จะลากเรือกลับวัด
“ยายเองก็มาทุกปี ปีนี้ยายอายุ 70 ปีแล้ว ยายก็มาร่วมรำ เพื่อนำริ้วขบวนเรือ รู้สึกมีความสุข ได้บุญ และได้เห็นความสามัคคีของพี่น้องเรา ยายมาทุกปี บรรยากาศที่นี่ เหมือนเดิมทุกปี ทุกคนร่วมกันเที่ยวกันอย่างสนุกสนานอย่างไม่แบ่งศาสนาไม่แบ่งพวก สถานการณ์ความไม่สงบไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้พวกเรามาร่วมงานกันไม่ได้ ทั้งกลับมองว่าเป็นโอกาสที่ทำให้พวกเรา ทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ยิ่งสานวัฒนธรรมที่ดีต่อกันให้แน่นแฟ้นขึ้น”
นายชาลี ชีวะสาธน์ นายกเทศมนตรี อ.โคกโพธิ์ จ. ปัตตานี และเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน อยู่ที่ อ.โคกโพธิ์ กล่าวว่า “ทุกปีงานชักพระของ อ.โคกโพธิ์ จะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 66 แล้ว ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก จนมาเป็นนายกเทศมนตรีเอง ที่มาจัดงานร่วมกับทุกฝ่าย รู้สึกว่างานชักพระที่นี่ ยิ่งใหญ่ทุกปี มีประชาชนมาร่วมเที่ยวงานเป็นจำนวนมากทุกปีเช่นเดียวกัน”
"คนไทยพุทธ คนอิสลาม และ คนจีน เคยมาเที่ยวยังไงสมัยอดีต ปัจจุบันพวกเขาก็มาเที่ยวเหมือนเดิมปกติ มาขายของบ้าง มาซื้อของ และเที่ยวงานบ้าง ทุกคนก็มา ปีนี้ เลขา ศอ.บต. มีการ แจกรางวัลทุกคืน เป็นโทรทัศน์คืนละ 5 เครื่อง คิดว่า จะยิ่งทำให้มีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก พวกเขาลืมความไม่สงบที่เกิดขึ้น เมื่อสัปดาห์ก่อนแล้ว วันนี้เกิดเหตุพรุ่งนี้เขาก็ลืม"
นายอับดุลเลาะ หมัดแหม ชาวบ้านอำเภอโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าว “สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกคนกลัว แต่ก็ทำให้ทุกคนระวังตัวเองมากขึ้น อย่างงานชักพระวันนี้ ก่อนจะมีงานในพื้นที่ ก็มีเหตุระเบิดเกิดขึ้น แม้เหตุการณ์ไม่ได้ใหญ่ ไม่มีความสูญเสียชีวิต แต่เหตุก็เกิดขึ้น และเป็นช่วงเวลานานอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่นี่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายดูแลความสงบมีการแบ่งเขตรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่นหลายชั้นกว่าจะเข้างานได้ เช่นเดียวกับประชาชน ช่วยสอดส่องร่วมกัน สามัคคีกัน มีความเข้าใจดีต่อกัน มีการสานความรู้สึกร่วมกันในงานบุญ”