ตึกอายุร้อยปีย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ ยังยืนหยัดอีกนานเพียงใด
2021.06.17
กรุงเทพฯ
ตึกและอาคารเก่าอายุร่วมร้อยปีในพื้นที่เมืองเก่าที่เรียงรายไปตามย่านต่าง ๆ บนถนนเจริญกรุง เยาวราช หัวลำโพง จนถึงย่านปทุมวัน เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีเสน่ห์ให้คนยุคปัจจุบันได้ชื่นชมถึงสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตการค้าขายเดิม ๆ ของชาวไทยเชื้อสายจีนที่สืบทอดกันมา ตั้งแต่ยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ลมหายใจของวิถีชีวิตชาวบ้านที่สืบทอดกันมานานนี้ กำลังอ่อนแรงลงด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจตามโลกยุคใหม่
ด้วยความต้องการพัฒนาคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า และระบบรถไฟฟ้าของภาครัฐ พื้นที่ในย่านเหล่านี้จึงมีการซื้อขายกันในราคาสูง จนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินยอมรับตามข้อเสนอ ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสถานที่หรืออาคารเก่าของเอกชน และไม่มีการกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อให้เจ้าของอาคารช่วยอนุรักษ์อาคารไว้ อาคารเก่าในกรุงเทพฯ จึงมีการเปลี่ยนมือและถูกรื้อทำลายไปแล้วจำนวนหนึ่ง
โรงภาพยนต์สกาลา เป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลง หลังจากหมดสัญญาเช่าที่ดินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลง สกาลาได้เปิดฉายรอบอำลาไปเมื่อกลางปี 2563 ณ ปัจจุบัน โรงภาพยนต์แห่งนี้ยังไม่ได้มีการทุบทิ้ง
“สกาลา คือราชาโรงหนังแห่งสยาม เพราะมีที่นั่งขนาด 900 ที่ ตกแต่งหรูหราด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นเรื่องน่าเสียดายที่โรงหนังแสตนอโลนสุดท้ายของกรุงเทพฯ แห่งนี้ต้องปิดตัวลง ประวัติศาสตร์ความทรงจำของคนไทยมีความผูกพันธ์กับโรงหนังแห่งนี้เยอะ” พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู นักวิชาการภาพยนตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
อาคารเก่าเหล่านี้ เป็นเสมือนเสียงบอกกล่าวให้เราได้รับรู้ว่า มีสิ่งใดเกิดขึ้นกับยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านบ้าง แต่ถ้าหากมันไม่สามารถต้านทานอำนาจของเม็ดเงินได้ ในไม่ช้าก็เร็ว มันก็ต้องถูกทดแทนที่ด้วยสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่ทำรายได้ให้กับทั้งเจ้าของที่ดินและนายทุนได้มากกว่า