เพนกวิน-รุ้ง และผู้ชุมนุมอีก 4 คน รับทราบข้อหา ม.112
2020.12.09
กรุงเทพฯ
ในวันพุธนี้ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และผู้ชุมนุมคณะราษฎรอีก 4 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และ สน.ทุ่งมหาเมฆ ตามลำดับแล้ว โดยนายพริษฐ์ ยืนยันว่า การเคลื่อนไหวในปี 2564 จะเข้มข้นขึ้น พร้อมทั้งได้ย้ำสามข้อเรียกร้องเดิม
พ.ต.ท.นิติธร เดชระพีร์ และ ร.ต.อ.ปิยวัฒน์ ปรัญญา พนักงานสอบสวน เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ นายพริษฐ์ เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมานั้น นายสุเฑพ ศิลปะงาม ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินคดีกับเจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” จากการเผยแพร่เนื้อหาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่พาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
ขณะที่ ข้อกล่าวหาของ น.ส.ปนัสยา สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 นายนิติพงษ์ ห่อนาค หรือ ดี้ แจ้งความเอาผิดผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Panusaya Sithijirawattanakul” ที่เผยแพร่ข้อความของแฟนเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 เกี่ยวกับ 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร คือ 1. เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยทั้งนายพริษฐ์ และ น.ส.ปนัสยา ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
“เรายืนยันว่า เราไม่ได้ทำอะไรผิด และการดำเนินคดีกับเรา มันไม่ชอบธรรมตั้งแต่ตั้งข้อหาแล้ว เราไม่ยอมรับกระบวนการอยุติธรรมที่เกิดขึ้นวันนี้ นี่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม” นายพริษฐ์ ระบุ
ในวันเดียวกัน นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่, น.ส.รวิศรา เอกสกุล, น.ส.สุธินี จ่างพิพัฒน์นวกิจ และ น.ส.ณัชชิมา อารยะตระกูลลิขิต เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ม.112 ที่ สน. ทุ่งมหาเมฆ โดยเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาจากการร่วมชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563
“เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า มีโทษจากการปราศรัยหน้าสถานทูตเยอรมัน ส่วนของน้อง ๆ ก็เป็นการอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาต่าง ๆ ทั้งภาษาอังกฤษและเยอรมัน ก็ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ถามว่าในคดีนี้มีโกรธเคืองใครมาก่อนหรือไม่ ผมก็ให้การไปว่าโกรธเคืองพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาสถาบันมาเป็นคู่ขัดแย้งเพื่อสืบทอดอำนาจของตัวเอง” นายอรรถพล กล่าวต่อสื่อมวลชน
ต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนในนาม คณะราษฎร นายพริษฐ์ เปิดเผยว่า ยังคงยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อตามเดิม แต่เน้นหนักที่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
“ตอนนี้ประชาชนเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กันอย่างกว้างขวาง สถาบันกษัตริย์จะรับฟังเสียงของประชาชนบ้างหรือไม่… ประเทศไทยเราอยู่ในทางสามแพร่งแล้ว มีแยกซ้าย แยกขวา เป็นทางแยก ระหว่างสามข้อกับข้อเดียว ถ้าสถาบันกษัตริย์ยอมรับฟังเสียงประชาชน และยอมปรับปรุงตัวเอง… ก็ได้ทางปฏิรูป แต่ถ้าสถาบันกษัตริย์เลือกที่จะปราบปรามประชาชน สถาบันกษัตริย์เลือกที่จะไม่รับฟังเสียงประชาชน แต่กลับใช้กำลังกับประชาชน มันก็อาจจะเป็นข้อเดียวก็ได้ ผมก็ไม่ทราบได้ ส่วนตัวผมยืนยันในสามข้อ” นายพริษฐ์ กล่าว
ประชาชนในนามคณะราษฎรชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา โดยข้อเรียกร้องหลักคือ การให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยที่ผ่านมารัฐบาลพยายามปราบปรามการชุมนุมของผู้เห็นต่างจากรัฐบาลด้วยกฎหมาย โดยนับแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 มีประชาชนอย่างน้อย 90 ราย ถูกควบคุมตัวระหว่างการต่อต้านรัฐบาล และมีการพยายามสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และแก๊สน้ำตาอย่างน้อย 3 ครั้ง จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง รวมทั้งเหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า การ์ดของผู้ชุมนุมใช้อาวุธปืนยิงกันเอง และทำร้ายกันเองอีกด้วย
ปัจจุบัน มีการพยายามแจ้งข้อกล่าวหา ม. 112 กับแกนนำ และผู้ร่วมชุมนุมแล้วอย่างน้อย 19 ราย จากการชุมนุม และการเขียนข้อความซึ่งเกี่ยวกับการชุมนุม
ไผ่-ลูกเกด-จ่านิว และผู้ชุมนุมเข้ารับทราบข้อกล่าวหาชุมนุมในที่ต่าง ๆ
ในวันเดียวกัน นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, นายอรรถพล และพวกรวม 4 คน ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ตามความผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯและ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ที่สี่แยกราชประสงค์ ด้าน น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว และพวกรวม 3 คน เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ที่ สน.พญาไท
ขณะที่ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว และพวกรวม 3 คน ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ที่ สน.บางนา จากกรณีการชุมนุมที่หน้าสำนักงานสำนักข่าวเนชั่น เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 และ การเดินขบวนจากแยกอุดมสุขไปยังสี่แยกบางนา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 7 ธันวาคม 2567 นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ หัวหน้ากลุ่มการ์ดอาสา หรือ Wevo ได้นำประชาชนกว่า 10 คน ทำการเก็บลวดหนามหีบเพลง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตั้งไว้ บริเวณริมถนนเพชรบุรี ใกล้แยกอุรุพงษ์ ต่อมานายปิยรัฐ และพวกรวม 19 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตัว โดยอ้างว่า พยายามทำลายทรัพย์สินของราชการ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวคนทั้งหมด ในช่วงเช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม 2563 และไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา
รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เดินหน้าตั้งข้อหา
ในวันพุธนี้ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) แถลงข่าวเปิดเผยว่า จะเร่งดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่เหลืออีกกว่า 80 คดี ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ
“ในส่วนกรุงเทพมหานคร ขณะนี้มีดำเนินคดี 120 คดี ได้ส่งพนักงานอัยการไปแล้วทั้งหมด 39 คดี คงเหลือ 81 คดี อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน คาดว่าคงจะเสร็จสิ้นเร็ว ๆ นี้ ม. 112 ก็เป็นความผิดมาตรานึงในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการกระทำของผู้หนึ่งผู้ใดเข้าองค์ประกอบของกฎหมายใด พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาตามกฎหมายนั้น ก็คงจะเร่งดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว
สำหรับการชุมนุมของคณะราษฎร มีการนัดหมายจัดกิจกรรม “ยกเลิก 112 สิแล้วเราจะเล่าให้ฟัง” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน ในเวลา 10.00-18.00 น., มีการชุมนุมเรียกร้อง “สิทธิเสรีภาพของคนพิการ” ที่หน้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในเวลา 16.00-20.00 น. รวมถึง จะมีการเดินเท้าไปยื่นหนังสือต่อสหประชาชาติเกี่ยวกับการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย