จุรินทร์ : ซาอุฯ รับปากหนุนไทยทำ FTA กับประเทศอาหรับ
2022.08.29
กรุงเทพฯ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวในวันจันทร์นี้ ระบุว่า นายมาจิด บิน อับดุลลาห์ อัล-คัสซาบี้ (Majid bin Abdullah Al-kassabi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซาอุดีอาระเบีย รับปากว่าจะช่วยผลักดันข้อตกลง FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาหรับ (GCC) และตกลงตั้งคณะกรรมการการค้าร่วมไทย-ซาอุดีอาระเบีย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ยอดการส่งออกสินค้าจากไทยมาซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้น
นายจุรินทร์ ซึ่งเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม - 3 กันยายน ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียยอมรับข้อเสนอของไทย ในการจัดตั้ง คณะกรรมการร่วมทางด้านการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย (Joint Trade Committee-JTC) และข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area-FTA) ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council-GCC)
“JTC ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อันนี้จะเดินหน้าได้เร็ว จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะตัวเลขไทยส่งออกมาซาอุฯ เพิ่มขึ้น เยอะมาก เฉพาะเดือนมกราคม-กรกฎาคมปีนี้ บวก 26 เปอร์เซ็นต์… แน่นอน ถ้ามี FTA ไทย-GCC เกิดขึ้นตามที่เราหวัง ต่อไปนี้ การส่งออกนำเข้าสินค้าระหว่างกัน ประเทศไทยกับกลุ่มอ่าวอาหรับ ภาษีก็จะเป็น 0 ในที่สุด ก็จะทำให้เราได้เปรียบหลายประเทศที่เขาไม่มี FTA ระหว่างกัน ในการแข่งขันทางด้านราคา อำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุนและอื่น ๆ” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ ระบุว่า นายมาจิด บิน อับดุลลาห์ อัล-คัสซาบี้ ยอมรับที่จะให้ความร่วมมือกับ 6 ข้อเสนอของไทยคือ 1. ซาอุดีอาระเบียจะช่วยผลักดัน FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ GCC ซึ่งประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย, บาห์เรน, โอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาต้าร์ และคูเวต 2. ซาอุดีอาระเบียจะช่วยผลักดันให้มีการจัดตั้ง JTC ระหว่างสองประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันภายในปี 2565 นี้ 3. สองประเทศได้จัดตั้ง สภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย แล้วในวันที่ 29 สิงหาคมนี้
4. ไทยจะร่วมสนับสนุน Saudi Vision 2030 โดยเฉพาะด้านอาหาร 5. คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของซาอุดีอาระเบีย จะเร่งส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบโรงงานผลิตไก่ในไทยเพิ่มเติม เพื่อให้ไทยสามารถส่งไก่ไปขายยังซาอุดีอาระเบียได้มากขึ้น จากเดิมที่ผ่านมาตรฐานแล้ว 11 แห่ง จะมีการตรวจสอบเพิ่มอีก 28 แห่งในอนาคต และ 6. ซาอุดีอาระเบีย จะเร่งแก้ไขปัญหาการขอวีซ่าเข้าซาอุดีอาระเบียของนักธุรกิจไทย ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมานักธุรกิจที่จะเข้าซาอุดีอาระเบียได้ ต้องได้รับหนังสือเชิญโดยเฉพาะจากบริษัทคู่ค้าเท่านั้น ซึ่งในอนาคตจะปรับให้การขอวีซ่าเหลือเพียงการขอการรับรองจากฝ่ายไทยเท่านั้น
การเจรจาครั้งนี้ สืบเนื่องจากการฟื้นสัมพันธ์ ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2565 คำเชิญของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนับเป็นการเยือนครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีไทยในรอบ 30 ปี
ก่อนหน้านี้ ซาอุดีอาระเบียลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และยกเลิกการจ้างแรงงานไทย หลังจากที่ปี 2532 นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งทำงานอยู่ในพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด ได้ขโมยทรัพย์สินของราชวงศ์ ซึ่งรวมถึง “บลูไดมอนด์” กลับมายังประเทศไทย ต่อมาเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบีย ที่ติดตามหาเครื่องอัญมณีก็ถูกขโมยถูกสังหารในประเทศไทยถึง 4 ราย และนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับพระราชวังซาอุดีอาระเบียมีการหายตัวอย่างลึกลับอีก 1 รายในประเทศไทย
กรณีที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ และไทยส่งคืนทรัพย์สินที่เชื่อว่าถูกขโมยมาให้กับราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย แต่ภายหลังกลับพบว่า กว่าครึ่งเป็นของปลอม และไม่มีบลูไดมอนด์ ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถตามหาเพชรดังกล่าวได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 ซาอุดีอาระเบีย ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาพบ พล.อ. ประยุทธ์ เพื่อเจรจาเรื่องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และปี 2563 นายดอน ปรมัติวินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียตามคำเชิญของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย โดยนับการเยือนครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย
นายซาไล บาวี นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า การทำข้อตกลงด้านการค้าในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่ดีของไทยกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ ในอนาคต
“คิดว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ดีของกระทรวงพาณิชย์ไทยมาก ๆ กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดในตอนนี้คือ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องสินค้ามาตรฐานฮาลาล เชื่อว่าอีกไม่นาน ทุนต่าง ๆ ทั้งการลงทุน ทุนวิจัย ทุนการศึกษา จะเข้ามาในไทยมากขึ้นอีก อย่างน้อย ๆ ก็สำหรับชาวมุสลิมในประเทศไทย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การตกลงอะไรที่ค่อนข้างใช้ความสัมพันธ์หรือเครือข่ายอำนาจเฉพาะตัว อาจได้รับผลกระทบหากเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพาณิชย์ในรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งผู้ส่งออกอาจเจอกับผลกระทบอย่างฉับพลัน” นายซาไล กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ในปี 2565 เฉพาะเดือนมกราคม-กรกฎาคม ไทยสามารถส่งออกไปยังซาอุดีอาระเบียได้ถึง 3.7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุดีอาระเบีย ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 6.2 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2564 ที่มีการส่งออกมูลค่า 5.1 หมื่นล้านบาท
สินค้าไทยที่ส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย 5 อันดับแรก คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้, ผลิตภัณฑ์ยาง, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ขณะที่สินค้าไทยนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย 5 อันดับแรกได้แก่ น้ำมันดิบ, เคมีภัณฑ์, ปุ๋ยและยาจำกัดศัตรูพืชและสัตว์, น้ำมันสำเร็จรูป และสินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์