เพื่อไทยล้มละลายทางความเชื่อ เพราะไม่นิรโทษกรรม ม. 112

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.11.05
กรุงเทพฯ
เพื่อไทยล้มละลายทางความเชื่อ เพราะไม่นิรโทษกรรม ม. 112 ผู้ประท้วงที่ทาสีหน้าพร้อมสวมโซ่จรวนเข้าร่วมการประท้วงกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในกรุงเทพฯ วันที่ 31 ตุลาคม 2564
แจ็ค เทย์เลอร์/เอเอฟพี

“พรรคเพื่อไทยตอนนี้ล้มละลายความน่าเชื่อถือไปแล้ว เขาตระบัดสัตย์ครั้งแล้วครั้งเล่า เขาเปิดโปงธาตุแท้แล้วว่า อุดมการณ์ประชาธิปไตย และความยุติธรรมของเพื่อไทยนั้นเป็นเพียงแค่นิยายลวงโลกเท่านั้น” รศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

นักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชนต่างผิดหวังกับท่าทีของรัฐบาล หลังจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะทำกฎหมายนิรโทษกรรมโดยไม่รวมคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เอาไว้ 

“แน่นอน ต้องไม่แตะเรื่อง ม. 112 อันนี้เป็นสิ่งที่เราย้ำอยู่แล้ว การร่วมรัฐบาลเราก็ย้ำเรื่องนี้ พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคก็ตกลงในข้อนี้ อันนี้ชัดเจน” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับสื่อมวลชน ปลายเดือน ต.ค. 2567 เมื่อถูกถามถึงจุดยืนการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎร ได้รับการเสนอ ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฯ 4 ฉบับ ประกอบ ร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล (ปัจจุบันคือ พรรคประชาชน), รวมไทยสร้างชาติ, ครูไทยเพื่อประชาชน และประชาชนในนาม “เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” กว่า 3.5 หมื่นคนเข้าชื่อเสนอ 

ร่างกฎหมายเหล่านี้มีเนื้อหาให้ยกโทษให้กับการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่การชุมนุมปี 2549 จนถึงปัจจุบัน แต่มีจุดต่างคือ ร่างฯ ของก้าวไกล และร่างฯ ที่เข้าชื่อโดยประชาชน ให้ยกโทษความผิดของคดี ม. 112 ด้วย ขณะที่ร่างฯ ของอีก 2 พรรคไม่รวมความผิดคดี ม. 112 เอาไว้ 

ก่อนการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 เพื่อไทยเคยประกาศอย่างชัดเจนว่า ต้องดำเนินการแก้ไข ม. 112 เพราะเป็นกฎหมายที่มีปัญหา และ แพทองธาร ก็ยืนยันว่า พร้อมที่จะผลักดันการนิรโทษกรรมคดีการเมือง 

“พรรคเพื่อไทย แน่นอนเราไม่ยกเลิก ม. 112 แต่เราต้องมาคุยกันในสภา เรื่องนี้ละเอียดอ่อน ทันทีที่เราเป็นรัฐบาลจะขอความเมตตาจากศาล กรณีที่มีน้อง ๆ เข้าไปติดคุกอยู่ ให้พิจารณาว่าจะยังไงต่อ เพราะมันถูกดึงมาเป็นเกมการเมือง คนที่ฟ้องได้ (ควรเป็น) สำนักพระราชวังไหม บ้านเมืองเรามีกษัตริย์เราก็ต้องคุ้มครองท่าน แต่ไม่ใช่ให้ประชาชนเอากฎหมายนี้มาใช้เป็นเกมการเมือง” แพทองธาร แสดงจุดยืนเรื่องนี้ในเดือน พ.ค. 2566

3.JPG
อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เดินทางมาถึงศาลอาญาเพื่อรับทราบคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในกรุงเทพฯ วันที่ 19 สิงหาคม 2567 (อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)

ปัจจุบัน เพื่อไทยได้เป็นแกนนำรัฐบาล ขณะที่ แพทองธารก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงความเห็นอย่างน้อย 1,959 คน จาก 1,305 คดี 

ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 274 คน จาก 307 คดี และมีผู้ต้องขังคดี ม. 112 อย่างน้อย 27 คน จำนวนคดีและผู้ถูกคุมขังดูเหมือนจะไม่ได้ลดลง

“เพื่อไทยเลือกที่จะไม่ทำตามคำสัญญา ด้วยอาจจะประเมินแล้วว่า ต้องการลดความเสี่ยงทางการเมือง เพราะพรรคก้าวไกลถูกยุบจากการเสนอแก้ไข ม.112 และอาจคิดว่า อาจจะได้คะแนนนิยมมากขึ้น ถ้าชูธงค้านการนิรโทษกรรมคดีหมิ่นสถาบันฯ” สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย ระบุ

ต่อประเด็นเดียวกัน ผศ.ดร. กฤษณ์พชร โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า ปัจจุบัน ม. 112 มีสถานะเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หากต้องการแก้ปัญหาทางการเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนิรโทษกรรม คดี ม. 112 

“5-10 ปีที่ผ่านมา มันมีคำถามว่า สถาบันกษัตริย์มีความยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไหม มีงานวิชาการที่นำเสนอในแง่มุมว่าเกี่ยวข้องกัน คนจำนวนหนึ่งจึงรู้สึกว่า การแสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นสถาบันกษัตริย์เป็นหน้าที่ของ Active Citizen ดังนั้น ม. 112 โดยสภาพมันจึงเป็น Political Crime การแสดงออกในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา แสดงชัดว่า ม. 112 ไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดา แต่เป็นอาชญากรรมทางการเมือง” ผศ.ดร. กฤษณ์พชร กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

นอกจากคดี ม. 112 จะมีสถานะเป็นคดีการเมืองแล้ว ก่อนหน้านี้ กฎหมายมาตรานี้ยังถูกใช้เป็นข้ออ้างในการตั้งรัฐบาลด้วย เมื่อ สส. และ สว. จำนวนหนึ่งไม่เห็นชอบให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ซึ่งได้ สส. มากที่สุดในการเลือกตั้ง ปี 2566 เป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่า ไม่สามารถเห็นชอบกับพรรคที่เสนอให้มีการแก้ไข ม. 112  

2.jpg
โปสเตอร์ประท้วงแขวนภาพของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกคุมขังจากคดี ม. 112 แขวนอยู่ด้านนอกศาลอาญา ระหว่างการประท้วง ม. 112 ในกรุงเทพฯ วันที่ 22 ธันวาคม 2564 (แจ็ค เทเลอร์/เอเอฟพี)

ในประเด็นนี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ยืนยันว่า การนิรโทษกรรมคดี ม. 112 มีความจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ขณะที่ การนิรโทษกรรมความผิด ม. 112 ก็ไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน 

“การนิรโทษกรรมคดี ม.112 ไม่ได้หมายความว่าจะไปแก้ไขบทบัญญัติของ ม. 112 แต่เป็นการพยายามนิรโทษกรรมคนที่อาจจะกระทำสิ่งที่ถูกตีความว่าผิด ม. 112 เราต้องตั้งหลักกันก่อนว่า เรานิรโทษกรรมเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ฉะนั้นถ้าไม่พูดคุย ไม่เปิดบทสนทนา เรื่อง ม. 112 การนิรโทษกรรมก็จะไม่ตอบโจทย์ หรือตรงตามวัตถุประสงค์การยุติความขัดแย้ง” พริษฐ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

เบื้องต้น คาดว่าในการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร เดือนธันวาคม 2567 นี้ จะมีการนำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ทั้ง 4 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณา 

ด้านฟากฝั่งประชาชนก็มีความคิดเห็นขีัดแย้งกันเช่นกันต่อประเด็นการนิรโทษกรรม ม. 112

“คิดว่าไม่ควรรวม ม. 112 เข้าไปในร่างพรบ. นิรโทษกรรม เพระสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่เราควรปกป้อง ดูแล คุ้มครอง” นายธีระศักดิ์ กำบรรณรักษ์ ข้าราชการเกษียณอายุ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“ผมเห็นว่าถ้าบางคนเขาไม่ได้ทำผิดจริง ๆ ก็อยากให้นิรโทษกรรมเขาด้วย ตอนนี้ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยกำลังกลับคำ กับที่ตัวเองเคยพูดไว้ครับ” นายพีรวัส วีระวิริยะพิทักษ์ นักศึกษาในกรุงเทพฯ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ในอดีต หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้กำลังล้อมปราบนักศึกษาจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก มีแกนนำและผู้ชุมนุมถูกจับกุมกว่า 3,000 คน มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหา ม. 112 เช่นกัน เพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง 2 ปีให้หลัง รัฐบาลจึงนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องคดีการเมืองทั้งหมด 

กว่า 40 ปีต่อมา นักศึกษาซึ่งเคยต้องคดีคราวนั้นกลายมาเป็น สส. ในสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีในรัฐบาลแพทองธาร เช่น ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรี, พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, อดิศร เพียงเกษ และ จาตุรนต์ ฉายแสง คือ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แต่รัฐบาลที่อดีตผู้ต้องคดีเหล่านี้สนับสนุน กลับตัดสินใจสิ่งที่ต่างออกไปจากรัฐบาลในอดีต

ปัจจุบัน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบิดาของแพทองธาร ก็เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดี ม. 112 จากกรณีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่เกาหลีใต้พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อเดือน พ.ค. 2558 โดยคดีอยู่ในชั้นอัยการ

“ถ้าสังคมใช้ความกลัว ใช้อำนาจในการแก้ปัญหา ปัญหาการเมืองไทยจะไม่จบ มันจะคงสภาพอยู่รอวันปะทุอีกเป็นระยะ เพราะเราแค่ซ่อนปัญหาไว้ใต้พรม ผู้ต้องขังก็ต้องถูกขังเหมือนเดิม ต้องสู้คดีโดยไม่ได้พิสูจน์เจตนาที่แท้จริง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าพรรคประชาชนชนะ ประเด็นนี้ก็จะกลับมาอีก ถ้ามีการฟ้องพร่ำเพรื่อ ไม่มีหน่วยงานเฉพาะเป็นผู้ฟ้อง มันจะส่งผลเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์” ดร. โอฬาร กล่าว

จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพ และ วรรณา แต้มทอง ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง