ตำรวจคุมตัว 16 สมาชิกกลุ่มวีโว่ หลังจัดกิจกรรมขายกุ้งเผาที่สนามหลวง
2020.12.31
กรุงเทพฯ
ในวันพฤหัสบดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมกลุ่มมวลชนอาสา (We Volunteer-Wevo) 16 ราย ขณะจัดกิจกรรมขายกุ้งก้ามกรามท้องสนามหลวง และบริเวณริมถนนราชดำเนิน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า กิจกรรมของกลุ่มวีโว่ เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย สมาชิกกลุ่มทั้งหมดถูกคุมตัวไปยัง บก.ตชด. ภาคที่ 1 ด้านสมาชิกกลุ่มวีโว่ที่เหลืออ้าง ขายกุ้งไม่ใช่กิจกรรมการเมือง ไม่มีการปราศรัย ชี้ตำรวจทำเกินกว่าเหตุ
กิจกรรมขายกุ้งก้ามกราม “โครงการ Wevo ช่วยเหลือเกษตรกรฟาร์มกุ้งจากภัยโควิด-19” เริ่มขึ้นในเวลาราว 11.00 น. โดยกลุ่มวีโว่หลายสิบคนได้ใช้รถยนต์กระบะ 6 คัน และตั้งเต็นท์ พร้อมวัตถุดิบเป็นกุ้งสดน้ำหนัก 5 ตัน เพื่อขายให้กับประชาชนที่สนใจ ณ ท้องสนามหลวง ต่อมาเมื่อเวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจในชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบอง 1 กองร้อย ได้เข้าแจ้งกับกลุ่มว่า ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมดังกล่าว
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รอง ผบช.น.) กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้กลุ่มวีโว่จัดกิจกรรมดังกล่าว โดยหากฝ่าฝืนอาจมีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากกิจกรรมไม่ได้ขออนุญาตผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ตามเงื่อนไขของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
“พันตำรวจเอกอรรถวิทย์ (สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1) อยู่ระหว่างเจรจากับทางแกนนำ ยืนยันว่าจะไม่ให้ทางกลุ่มวีโว่ จัดกิจกรรม และจะมีความผิดเรื่องห้ามมั่วสุม-ชุมนุม-ทำกิจกรรมแออัด เสี่ยงแพร่เชื้อ โควิด-19” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว
ขณะที่ นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำกลุ่มวีโว่ ได้กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียง เพื่อสื่อสารไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่นำกำลังเข้าล้อมว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มิใช่กิจกรรมทางการเมือง
“เรายังไม่ได้ทำอะไร คุณควรจะให้พื้นที่เขาขาย เขาเดือดร้อน ตอนนี้ประตูสนามหลวงเราปิดไว้แล้ว ตำรวจอีก 1 กองร้อย พยายามมายึดสนามหลวง เราได้ปิดสนามหลวงไว้แล้ว ด้วยทีมการ์ดวีโว่ของเรา เราแค่จะเปิดขายกุ้งออนไลน์ ให้พี่น้องได้ช่วยกันซื้อ” นายปิยรัฐ กล่าว
แม้เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ไม่ให้จัดกิจกรรมดังกล่าว แต่กลุ่มวีโว่ไม่ยินยอม เจ้าหน้าที่จึงพยายามเคลื่อนกำลังเข้าหาผู้ชุมนุม จนเกิดการชุลมุนขึ้น กระทั่งเวลาประมาณ 12.15 น. เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวนายปิยรัฐ และสมาชิกกลุ่มรวม 12 คน แล้วนำตัวไปที่ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน (บก.ตชด.) ภาคที่ 1 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
หลังจากสมาชิกกลุ่มบางส่วนถูกจับกุม กลุ่มวีโว่ได้ย้ายมาดำเนินกิจกรรม ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ริมถนนราชดำเนิน ในเวลาประมาณ 14.00 น. แต่เจ้าหน้าที่ได้นำกำลังราว 2 กองร้อย เคลื่อนเข้ามายุติกิจกรรมอีกครั้งจนเกินการปะทะขึ้น หลังการเหตุชุลมุนสมาชิกกลุ่มวีโว่ถูกควบคุมตัวเพิ่มอีก 4 ราย
น.ส. จตุพร แซ่อึง อายุ 23 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มวีโว่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า กลุ่มวีโว่จัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อช่วยเหลืิอเกษตรแทนรัฐบาล ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
“แผนเดิม กิจกรรมจะจัดที่สนามหลวงตอนค่ำ มีดนตรี มีย่างกุ้ง มีประชาชนเบียร์มาขายเบียร์ และจะมีการเคาท์ดาวน์ข้ามปี แต่ตอนนี้ อุปกรณ์โดนยึด จึงเหลือแค่ขายกุ้งอย่างเดียว เราจัดกิจกรรมขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร หลังจากครั้งที่แล้วเราขายที่หน้าทำเนียบรัฐบาลไป 1 พันกิโลกรัม เราจัดกิจกรรม เพราะรัฐไม่ได้มีความกระตือรือร้นในการช่วยเหลือ เกษตรกรบ่อกุ้งหรืออาหารทะเลที่ได้รับผลกระทบเพราะพิษโควิด-19” น.ส. จตุพร กล่าว
ด้าน นายเจษฐ์ (สงวนนามสกุล) สมาชิกกลุ่มวีโว่ อายุ 34 ปี แสดงความคิดเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้เป็นการเกินกว่าเหตุ
“ตำรวจจับกุมสมาชิกของเรา เพราะอ้างว่า ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควมคุมโรคฯ บอกว่ากิจกรรมของเราเป็นการมั่วสุม ทั้งที่เรามาเพื่อขายกุ้ง ผมคิดว่า การจับกุมของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ไม่เหมาะสม ไม่ได้มีเวทีปราศัย แต่เขายังมาจับเรา ยึดเตาเผาเราไปอีก ทั้งที่เราแค่ทำเพื่อช่วยพี่น้องเกษตรกรไทย มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่เราเห็นคนไทยเดือดร้อน เราก็ต้องช่วยกัน” นายเจษฐ์ กล่าว
หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้ายุติกิจกรรม 2 ครั้ง กลุ่มวีโว่ จึงได้ส่งตัวแทนเข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทั่งได้รับการอนุญาตให้ ดำเนินการขายกุ้งได้ที่ลานจอดของกองสลากกินแบ่งรัฐบาล ใกล้ถนนราชดำเนิน โดยกิจกรรมยังคงดำเนินต่อเนื่อง มีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมการซื้อขายร่วม 100 ราย
สำหรับ สมาชิกกลุ่มวีโว่ซึ่งถูกควบคุมตัว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการแจ้งข้อหา 12 รายแรกแล้ว
“สำหรับผู้ชุมนุมกลุ่มแรก 12 คนที่ถูกจับบริเวณสนามหลวง ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาในบันทึกการจับกุมว่า ฝ่าฝืน ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฝ่าฝืนข้อห้ามเรื่องการชุมนุมตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ” เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ เปิดเผย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยว่า สมาชิกกลุ่มวีโว่อีก 4 รายที่เหลือ ถูกตั้งข้อหาอะไรบ้าง
หลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เริ่มจาก ตลาดกลางกุ้ง ในจังหวัดสมุทรสาคร ต้นเดือนธันวาคม 2563 ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับผลกระทบ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากวิตกกังวลว่า เชื้อโควิด-19 จะติดมากับกุ้ง เพื่อสร้างความมั่นใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงรัฐมนตรีคนอื่น ๆ จึงได้จัดแถลงข่าว พร้อมด้วยการปรุงอาหารและรับประทานกุ้งต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า กุ้งหากปรุงสุก ยังมีความปลอดภัยในการรับประทาน อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์-วิจารณ์ว่า กุ้งที่รัฐบาลนำมาปรุงอาหาร เพื่อแสดงการรับประทานเป็นกุ้ง มาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ใช่กุ้งจากเกษตรกรผู้เลี้ยงจริง
กลุ่มวีโว่จึงจัดกิจกรรมขายกุ้งสดที่ข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และจัดอีกครั้งในวันนี้ที่ท้องสนามหลวง เพื่อแสดงช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
กลุ่มวีโว่ ถือเป็นกลุ่มการเคลื่อนไหวของประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของ คณะราษฎร ซึ่งชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา โดยข้อเรียกร้องหลักคือ การให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามปราบปรามการชุมนุมของผู้เห็นต่างจากรัฐบาลด้วยกฎหมาย โดยนับแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 มีประชาชนอย่างน้อย 90 ราย ถูกควบคุมตัวระหว่างการต่อต้านรัฐบาล มีการดำเนินคดีกับแกนนำต่อเนื่องตลอดเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563 อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมยังคงเดินหน้าจัดการชุมนุมในหลายพื้นที่ต่อไป
การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ศบค. ได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยห้ามมั่วสุม-ชุมนุม ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ขณะเดียวกัน ในพื้นที่นอกการควบคุม ผู้ที่จะจัดกิจกรรมจำเป็นต้องขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ
สำหรับ สถานการณ์โควิด-19 ในวันนี้ ศบค. แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 194 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 6,884 ราย รักษาตัวหายแล้ว และกลับบ้านได้ 4,240 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,583 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 61 ราย