หอการค้าฯ ประเมิน น้ำท่วม ปี 67 เสียหายสามหมื่นล้าน
2024.10.01
กรุงเทพฯ
หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2567 มีมูลค่าความเสียหายประมาณ สามหมื่นล้านบาท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า มีอย่างน้อย 36 จังหวัดได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบัน 14 จังหวัดยังเผชิญอุทกภัย ด้าน กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า มีประชาชนเสียชีวิตสะสมแล้วอย่างน้อย 53 ราย
“มูลค่าความเสียหายแล้ว ประมาณ 29,845 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.17% ของ GDP ซึ่งภาพรวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 1,166,992 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ 1,826,812 ไร่” นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า
ข้อมูลของหอการค้าฯ ระบุว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 2.45 หมื่นล้านบาท หรือ 82.3% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ 5.12 พันล้านบาท ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบไม่มาก 171 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยกว่าหากเทียบกับสัดส่วนภาคเศรษฐกิจอื่นๆ
“จังหวัดที่ได้รับผลกระทบและมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ เชียงราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 6,412 ล้านบาท รองลงมาคือ พะเยา 3,292 ล้านบาท สุโขทัย 3,042 ล้านบาท” นายสนั่น กล่าว
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า ปัจจุบัน มีพื้นที่อุทกภัย 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ตาก พิษณุโลก สุโขทัย หนองคาย อุดรธานี ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา รวม 48 อำเภอ 232 ตำบล 1,215 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 34,423 ครัวเรือน
โดยสถานการณ์น้ำท่วมสะสม ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม – 27 กันยายน 2567 เกิดขึ้นใน 36 จังหวัด 204 อำเภอ 887 ตำบล 4,712 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างน้อย 175,200 ครัวเรือน
“หอการค้าฯ จึงเห็นว่า ประเทศไทยควรมีการทบทวนและวางแผนการบริหารจัดการน้ำเป็นระบบ โดยได้จัดทำข้อเสนอทั้งเชิงนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงข้อเสนอเชิงสนับสนุน เช่น ศึกษา ปัญหาอุปสรรคด้านการบริหารจัดการน้ำในส่วนภูมิภาค เพื่อสะท้อนแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างครอบคลุม” นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว
ต่อสถานการณ์ด้านสุขภาพ นพ. วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 8 เปิดเผยว่า ปัจจุบัน จากสถานการณ์น้ำท่วม มีผู้เสียชีวิตสะสม 53 ราย สูญหาย 1 ราย และบาดเจ็บสะสม 1,833 ราย
“เปิดศูนย์พักพิงเพิ่มเป็น 137 แห่ง มีผู้รับบริการ 649 ราย ดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางแล้ว 29,070 ราย เพิ่มขึ้น 4,199 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุถึง 3,000 กว่าราย ยังคงพบน้ำกัดเท้าเข้ารับการรักษามากที่สุด ส่วนด้านสุขภาพจิต รับการประเมินสะสม 33,743 ราย พบเครียดสูง 1,180 ราย เสี่ยงซึมเศร้า 215 ราย และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 30 ราย โดยทุกรายที่มีความเสี่ยงได้เข้าสู่กระบวนการรักษาทางการแพทย์แล้ว” นพ. วีรวุฒิ กล่าว
สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ได้ส่งข้อมูลครัวเรือนผู้ประสบภัยให้ธนาคารออมสินตรวจสอบ และโอนจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยผ่านบัญชีพร้อมเพย์รวม 2 ครั้งรวม 5,733 ครัวเรือน เป็นเงิน 28.70 ล้านบาท โดยคาดว่าจะโอนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งที่ 3 อีกจำนวน 668 ครัวเรือน ในวันที่ 2 ตุลาคม 2567 นี้