ส.ว.ผ่านร่างกฎหมายทำแท้งครรภ์อายุไม่เกิน 12 สัปดาห์
2021.01.26
เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ
นักสิทธิสตรี และนักวิชาการด้านสตรี แสดงการคัดค้านร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าผู้หญิงสามารถทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และจะไม่ถูกลงโทษ หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ซึ่งนักสิทธิฯ เห็นว่า ผู้ตั้งครรภ์มีเวลาในการตัดสินในสิทธิของตนเองน้อยไป และการลงโทษจะผลักดันให้ผู้หญิงไปทำแท้งเถื่อน ซึ่งเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติวาระ 3 เห็นชอบ 166 เสียง ไม่เห็นชอบ 7 เสียง และงดออกเสียง 21 เสียง ต่อพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. .... แก้ไขมาตราว่าด้วยการทำแท้ง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ร่างแก้ไขกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของ ส.ว. ระบุว่า ม. 301 ทำแท้งได้หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากเกินมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ม. 305 (1) ทำแท้งได้ หากการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจ ม. 305 (2) ทำแท้งได้ หากทารกมีความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดพิการอย่างร้ายแรง ม. 305 (3) ทำแท้งได้หากเป็นการตั้งครรภ์เนื่องจากถูกล่วงละเมิดทางเพศ ม.305 (4) ทำแท้งได้หากมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ และ ม. 305 (5) ทำแท้งได้หากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ โดยยืนยันยุติตั้งครรภ์ หลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกตามที่กฎหมายกำหนด
ก่อนหน้านี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา วันที่ 20 ม.ค. 64 มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมสภา ผ่านร่างกฎหมายทำแท้ง ทั้งฉบับ ด้วยคะแนน 276 ต่อ 8 งดออกเสียง 54 เสียง ท้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ ไม่ผิดกฎหมาย
น.ส.กรกนก คำตา สมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ถึงความคืบหน้านี้ว่า กระบวนการในการพิจารณากฎหมายอาญามาตรา 301 ซึ่งเกี่ยวกับการทำแท้ง ไม่เป็นไปตามที่ภาคประชาสังคมเรียกร้อง ที่ว่าให้ทำแท้งได้โดยไม่ต้องกำหนดอายุครรภ์ไว้เพียง 12 สัปดาห์
“ข้อเรียกร้องคือ ยกเลิกเลย มาตรา 301 ไม่ต้องมากำหนดสัปดาห์ ให้เป็นการทำแท้งไม่ผิดกฎหมายอาญาเลย ไม่ว่าผู้หญิงจะตัดสินใจอย่างไร ไม่ควรจะถูกลงโทษในเรื่องเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง เพราะกฎหมายทำให้ผู้หญิงมีโทษจากการทำแท้ง ซึ่งยังขัดกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และรัฐธรรมนูญ ตัวอ่อนยังหายใจเองไม่ได้ ใช้ร่างกายของผู้หญิงทั้งหมด” น.ส.กรกนก กล่าวพร้อมยกตัวอย่างว่า "ในไทยมีแพทย์ที่ทำแท้งแล้วปลอดภัยที่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ แต่วิทยาลัยสูตินารีแพทย์กลับกำหนดแค่ 12 สัปดาห์"
กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ยืนยันกับเบนาร์นิวส์ว่า จะยังคงเคลื่อนไหวให้มีการยกเลิก ม. 301 ต่อไป แม้กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในอนาคต เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายยังคงขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และ มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
ด้าน น.ส.มัจฉา พรอินทร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสตรี และผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายการทำแท้ง ควรทบทวนกฎหมายทำแท้งอีกครั้ง เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ ยังถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิสตรีอยู่
“รู้สึกผิดหวังและโกรธ ที่กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ ยังคงอนุญาตให้ผู้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ทำแท้งได้ แต่เกินจากนั้นกลับมีโทษทั้งจำคุกและปรับ นับเป็นเรื่องน่าอายและเป็นการปิดกั้นการเติบโตของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” น.ส.มัจฉา กล่าว
“ข้อเรียกร้องของพวกเราคือ ต้องยกเลิกมาตรา 301 และ มาตรา 305 อย่างสิ้นเชิง และอนุญาตให้ทำแท้งได้ หากอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์” น.ส.มัจฉา กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน น.ส.ธัชชนก สัตยวินิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์เเละนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้เชี่ยวชาญด้านสตรีศึกษา เผยกับเบนาร์นิวส์ว่า กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่นี้ ยังคงเร่งรัดและบังคับให้ผู้หญิงตัดสินใจว่าจะทำแท้งหรือไม่ ภายในระยะเวลาอันสั้นเกินไป
“ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ไม่มีเวลาพินิจไตร่ตรองที่สมเหตุสมผล เพราะระยะเวลาเพียง 12 สัปดาห์น้อยมาก แทบจะไม่รู้รายละเอียดของตัวอ่อนในครรภ์ว่า แข็งแรงหรือไม่ เป็นเพศอะไร ซึ่งมีผลทั้งหมดต่อการตัดสินใจ ในหลาย ๆ ประเทศ ค่าเฉลี่ยของกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งนั้น จะอยู่ที่ราว ๆ 13-20 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละประเทศว่า มีความคาดหวังว่าจะเห็นรายละเอียดอย่างไรในครรภ์บ้าง” น.ส.ธัชชนก กล่าว
การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามคำร้องของแพทย์หญิงศรีสมัย เชื้อชาติ ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กำหนดให้หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก มีความผิดอาญานั้น เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินจำเป็น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และ มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
ศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยหากไม่มีการแก้ไขหรือแก้ไขไม่แล้วเสร็จภายใน 360 วัน ตามรัฐธรรมนูญจะถือว่า มาตรา 301 ไม่มีผลบังคับใช้ทันที ทำให้ในวันที่ 3 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 ซึ่งเกี่ยวข้องกัน เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ แล้วส่งต่อให้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ส.ส. ลงมติวาระ 3 เห็นชอบ 276 เสียง ไม่เห็นชอบ 8 และ งดออกเสียง 54 เสียง กฎหมายจึงเข้าสู่การพิจารณาของ ส.ว. และผ่านความเห็นชอบในวันจันทร์
ทั้งนี้ ตามกระบวนการ หลังจากกฎหมายผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา กฎหมายจะถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าหากไม่ขัดจะทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป อย่างไรก็ตาม หากการแก้ไขกฎหมายไม่แล้วเสร็จก่อนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 มาตรา 301 จะไม่มีผลบังคับใช้ทันทีตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ
วุฒิสภาชูประเด็นศีลธรรมแย้งการทำแท้งเสรี
นายวงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวในการอภิปรายระหว่างการพิจารณาแก้ไขกฎหมายทำแท้งในที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งโดยชี้ว่า ประเทศไทยควรยึดหลักศีลธรรม
ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ชี้ว่าวุฒิสภาจำเป็นต้องเร่งผ่านกฎหมายให้ทัน วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อมิให้กฎหมาย ม. 301 นี้ถูกยกเลิก แล้วค่อยปรับแก้ในภายหลัง
“อายุในครรภ์จะ 12 หรือ 20 สัปดาห์ดี มีความคิดที่หลากหลาย อย่างในหลายประเทศ อย่างอาร์เจนตินา 2 สัปดาห์ที่แล้ว ก็ออกกฎหมายทำแท้งเสรีมา เมื่อช่วงบ่ายกลุ่มสตรีปลดแอกก็มาที่หน้าสภานี้ เขาบอกว่ายังน้อยไป อยากให้ทำแท้งเสรีเลย เพราะถือเป็นสิทธิของสตรี... ผมค่อนข้างไปทางที่เห็นด้วยกับในทางไม่เกิน 12 สัปดาห์” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวในวันที่ 25 มกราคม 2564
ซึ่ง น.ส.กรกนก คำตา สมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ได้กล่าวกับเบนาร์นิวส์ตอนหนึ่งว่า "เราแย้งว่า มันไม่ยืนอยู่บนหลักวิทยาศาสตร์ แต่ใช้หลักศีลธรรมมาเป็นตัวกำหนด การกำหนดโทษการทำแท้ง ทำให้ผู้หญิงต้องไปแอบทำแท้ง เพราะไม่มีสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานยอมทำให้ เนื่องจากผิดกฎหมาย ทำให้รัฐไม่สามารถดูแลผู้หญิงให้ปลอดภัยได้”