3.5 หมื่นกว่ารายชื่อ หนุนร่างนิรโทษกรรมประชาชนรวม ม. 112
2024.02.15
กรุงเทพฯ
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เปิดเผยว่า มีประชาชนกว่า 3.5 หมื่นรายชื่อที่ร่วมสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งจะยกเว้นโทษให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ทุกข้อหารวมถึงมาตรา 112 ด้านพรรคการเมืองยังมีความเห็นไม่ตรงกัน พรรคก้าวไกลยืนยัน สนับสนุนการนิรโทษกรรมทุกข้อหา ส่วนเพื่อไทยยังไม่ได้แสดงความชัดเจน ขณะที่พรรคร่วมอื่น ๆ ไม่เห็นด้วยกับนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112
น.ส. พูนสุข พูนสุขเจริญ ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ระบุว่า เครือข่ายใช้เวลา 14 วัน ในการรณรงค์ รวบรวมรายชื่อบนอินเทอร์เน็ต และ 107 จุดลงชื่อทั่วประเทศ รวมทั้งจัดกิจกรรมสาธารณะ 41 ครั้ง
“35,905 รายชื่อ จำนวนดังกล่าวสะท้อนถึงคนที่รู้สึกเดือดร้อนรู้สึกว่า คดีความทางการเมืองไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ควรดำรงอยู่ในสังคมไทย อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะสามหมื่นรายชื่อ เราหวังว่าจะปลดพันธนาการคืนความยุติธรรมและคืนความปกติให้ประชาชน ให้เราสามารถกลับมาพูดคุยได้อย่างมีวุฒิภาวะ ไม่ใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน ไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน” น.ส. พูนสุข กล่าว
“พวกเราหวังว่า พรรคการเมืองที่มีที่มาโดยชอบธรรมจากประชาชนจะยอมรับว่า สังคมนี้มีปัญหาอะไร แก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างระมัดระวัง ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เหตุของความขัดแย้งที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคตที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันควรได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกในทางที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง” น.ส. พูนสุข กล่าวเพิ่มเติม
ร่างกฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมการยกโทษให้กับประชาชนที่ร่วมชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร 2549, กลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่ชุมนุมช่วงปี 2550-2551, กลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมช่วงปี 2552-2553, กลุ่ม กปปส. ที่ชุมนุมช่วงปี 2556-2557, กลุ่มคนที่ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร 2557 และกลุ่มราษฎรที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์
ขณะที่ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่ยกโทษให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ รวมทั้งผู้ทำรัฐประหาร
ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ประชาชนจะสามารถเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อรัฐสภาได้ เมื่อมีประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 1 หมื่นคน เข้าชื่อร่วมกัน โดยจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา หลังจากนั้น สส. จะลงคะแนนเสียงว่า จะรับหลักการของร่างกฎหมายหรือไม่ หากผ่านการรับรอง 3 วาระ จะถูกส่งต่อให้วุฒิสภาลงมติ ถ้าสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เห็นชอบ และศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะเสนอให้ในหลวงลงพระปรมาภิไธยรับรองเป็นกฎหมายประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับการนิรโทษกรรมนั้น รศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องให้ สส. พิจารณาการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเดียวกันกับที่เคยใช้ในปี 2521 ซึ่งนิรโทษกรรมให้กับนักศึกษาที่เคลื่อนไหวการเมือง และประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
“ทำไมคุณไม่ใช้สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณเมื่อปี 2521 เป็นต้นมา เป็นแบบอย่างที่คุณจะคืนอิสรภาพเสรีภาพให้กับคนรุ่นหลังบ้าง คุณจำไม่ได้เหรอคะเมื่อก่อนปี 2519 พวกคุณก็เป็นเยาวชนที่มีความฝันมีความหวังที่อยากจะทำให้สังคมไทยมันดีขึ้น เยาวชนที่ติดคุกอยู่ในขณะนี้มีคดีความอยู่ขณะนี้เขาก็เป็นแบบเดียวกับพวกคุณ ทำไมเราจะประนีประนอมไม่ได้” รศ.ดร. พวงทอง กล่าว
ด้าน น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง นักกิจกรรมทางการเมือง กล่าวเรื่องการนิรโทษกรรมว่า “หากไม่มีการแก้ไขปัญหาสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชนจากทุกฝักฝ่ายทางการเมืองในทุกมิติอย่างจริงจัง จะส่งผลเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการสร้างความปรองดองทางการเมือง”
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างน้อย 5,027 คดี ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2567 มีอย่างน้อย 288 คดี และปัจจุบันมีผู้ที่ต้องถูกคุมขังด้วยคดีทางการเมืองอย่างน้อย 40 คน
นิรโทษคดีมาตรา 112 หรือไม่ ยังไม่ชัด
หากไม่รวมร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ปัจจุบันมีร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่ถูกเสนอต่อรัฐสภาโดยพรรคการเมืองอีก 3 ร่าง คือ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ของพรรคก้าวไกล ร่าง พ.ร.บ. สร้างสันติสุข ของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และ ร่าง พ.ร.บ. สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และรวมไทยสร้างชาติ จะไม่ยกโทษให้กับคดีอาญามาตรา 112 มีเพียงของพรรคก้าวไกลเท่านั้นที่ยกโทษให้กับทุกคดี
“ถ้าเราจะหาทางออกให้กับบ้านเมืองเราไม่สามารถมองคดีความเหล่านี้ ซึ่งมันมีความเหตุจูงใจทางการเมืองอย่างแยกไม่ออก เราไม่สามารถมองคดีเหล่านี้เป็นอาชญากรรมปกติได้ ผมก็สนับสนุนการผลักดันนิรโทษกรรมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง มายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ” นายชัยธวัช ตุลาธน สส. และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว
ขณะเดียวกัน น.ส. ขัตติยา สวัสดิผล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยชี้ว่า เพื่อไทยยังไม่สรุปว่าจะสนับสนุนการนิรโทษกรรมแบบใด แต่ทำการตั้งกรรมาธิการวิสามัญที่รวม สส. นักวิชาการ และคนหลากหลายอาชีพเพื่อรับฟังความคิดเห็น และร่วมกันพิจารณา
“จุดหมายปลายทางของกรรมาธิการฯ ชุดนี้ เพื่อที่จะหาแนวทางอันเป็นสารตั้งต้นให้หลายพรรคการเมือง หลาย ๆ ฝ่ายนำไปร่างเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมา เพื่อไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เราตั้งใจที่จะพูดคุยกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้องการให้มีนิรโทษกรรมเกิดขึ้น รวมถึงฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการนิรโทษกรรม” น.ส. ขัตติยา ระบุ
นายธนกร วังบุญคงชนะ สส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า “ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายมีที่ไว้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขของชาติ เป็นความมั่นคงของประเทศ จึงขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับทุก ร่าง พ.ร.บ. ที่พรรคก้าวไกลเสนอให้นิรโทษกรรมกับผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงเรื่องสถาบันและเชื่อว่าคนไทยทั้งชาติไม่ยอมรับแน่นอน”
ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ สว. ระบุว่า เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แต่จำเป็นต้องนำประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาพูดคุยกันให้ตกผลึกก่อน
“การเมืองขณะนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะนิรโทษกรรม เพราะการโหวตให้คุณเศรษฐาเป็นนายกฯ และพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ มันเป็นปฐมบทที่ชัดเจนของการปรองดองสมานฉันท์ ม. 112 มันมีเหตุผลทั้งทางการเมืองและกฎหมายที่เราโต้แย้งได้ทั้งนั้น แต่สามารถหาความพอดีหาที่ยุติได้ และผมเชื่อว่า ผู้มีอำนาจที่เป็นรัฐบาลสามารถที่จะพิจารณาและรู้ได้ว่า ม. 112 เป็นเรื่องที่อ่อนไหว สำคัญ ควรรู้ว่ากระทำอย่างไรจะเหมาะสม” นายวันชัย กล่าว
ด้าน นักวิชาการชี้ว่า หากรัฐบาลร่วมผลักดันร่างนิรโทษกรรมฉบับประชาชนจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตยให้กับรัฐบาลได้
“หากใช้ร่างกฎหมายนี้ รัฐบาลจะยืนในเวทีนานาชาติได้อย่างภาคภูมิ สามารถพูดได้เต็มปากว่าเราส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก” ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
“แน่นอนว่า การนิรโทษคดี ม. 112 เข้าไปด้วย มันสร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มคนหลายกลุ่ม แต่หากเราจะยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง มันเลี่ยงที่จะพูดเรื่องนี้ไม่ได้ การนิรโทษกรรมอาจไม่ใช่ทางออกเดียว แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ควบคู่ไปกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
ประเทศไทยเคยมีการนิรโทษกรรมผู้เห็นต่างทางการเมืองมาแล้วในอดีต โดยช่วงต้นทศวรรษ 2500 ถึง 2521 มีการชุมนุมประท้วงของประชาชนหลายครั้ง นำมาซึ่งการต่อสู้ระหว่างผู้เห็นต่างกับรัฐบาล มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ทำให้ผู้ต้องหาคดีการเมือง และผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์บางส่วนตัดสินใจหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่า
เพื่อเป็นการยุติความขัดแย้งดังกล่าว ในปี 2523 พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จึงได้ดำเนินนโยบายนิรโทษกรรมโดยยกโทษให้กับผู้ต้องหาคดีการเมือง และเชิญให้คนเหล่านั้นกลับมาใช้ชีวิตปกติ โดยเรียกว่า “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.)” รวมถึงมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองในภายหลัง การนิรโทษกรรมครั้งดังกล่าวนำมาซึ่งการสลายความขัดแย้งการเมืองในระลอกนั้น