กองทัพบกเปิดนำร่องรับพลทหารโดยสมัครใจทางออนไลน์
2021.01.25
ยะลา
ในวันจันทร์นี้ โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ทางกองทัพบก จะเปิดโครงการนำร่องให้มณฑลทหาร 35 แห่ง เปิดรับผู้มีคุณสมบัติเข้ารับราชการทหารทางออนไลน์โดยสมัครใจ ซึ่งหากมีผู้สมัครเพียงพอต่อความต้องการของกองทัพ อาจจะนำไปสู่การยกเลิกการเกณฑ์ทหารภาคบังคับได้โดยเบ็ดเสร็จ หรือให้เหลือน้อยที่สุดในอนาคต
พลโท สันติพงษ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ทางกองทัพบกได้มีแนวคิดที่จะเปิดโอกาสให้ชายไทยที่อยากรับราชการทหาร สามารถเลือกตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลได้ เช่น เลือกตำแหน่งที่เหมาะกับความสามารถของตน หรือเลือกหน่วยที่ใกล้กับที่อยู่จริงในปัจจุบันของตนเองได้
“แนวความคิดในการปฏิบัติต่อกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ที่ต้องการรับราชการและมีความสามารถสอดคล้องตามคุณลักษณะของแต่ละหน่วย โดยจะอำนวยการให้ชายไทยที่ประสงค์เข้ารับราชการทหารบรรลุเจตนาหรือความต้องการเป็นบุคคลให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตำแหน่งหรือหน่วยที่เหมาะสมกับขีดความสามารถตน ใกล้ที่พักอาศัย ไม่ยึดติดกับภูมิลำเนาทหาร รวมถึงการได้งานมีรายได้ที่พอเพียง ในภาวะปัจจุบันที่หางานทำได้ยาก เพื่อผลลัพธ์สุดท้ายคือการลดยอดใบแดงหรือการเป็นทหารแบบไม่สมัครใจ ให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลยในอนาคตอันใกล้” พลโท สันติพงษ์ ธรรมปิยะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ในอนาคตการ Rebrand กองทัพจะมีการประสานสอดคล้องทหารกลุ่มนี้ ในกระบวนการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าให้เชื่อมโยงกับส่วนราชการทั้งหมด รวมไปถึงภาคเอกชน ในระบบการปลดถ่ายที่เหมาะสมกับบริบทของการสร้างสังคมของเราทุกคน ที่น่าอยู่ ดูดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น” พลโทสันติพงษ์ กล่าว
ทางกองทัพบก ได้จูงใจบุคคลที่สนใจเป็นทหารเกณฑ์แบบสมัครใจนี้ ด้วยการมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น เมื่อปลดประจำการแล้ว จะมีโอกาสสอบเข้าเป็นนักเรียนนายสิบทหารบกได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และคนที่จบโรงเรียนนายสิบทหารบกด้วยคะแนนดี มีโอกาสได้เข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร 20 คนต่อรุ่น และอาจจะมีขยายเพิ่มเป็น 40 คนในอนาคต
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติแนวทางการสมัครรับราชการทหารกองประจำการโดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ดังกล่าวนี้แล้ว โดยผู้ที่มีสิทธิสมัครจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18-20 ปี และ 22-29 ปี หลังส่งใบสมัครออนไลน์ต่อหน่วย ในระหว่างวันที่ 1-28 กุมภาพันธ์ 2564 จะมีการคัดเลือกในวันที่ 5 มีนาคม 2564 ประกาศผลในวันที่ 6-7 มีนาคม 2564 แล้วส่งตัวเข้าหน่วย ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นผลัดที่ 1/2564 สำหรับผู้ที่สมัครใจจะสามารถเลือกตำแหน่งหรือหน่วยที่เหมาะสมกับความสามารถของตนเอง และใกล้ที่พักอาศัย แต่ไม่ยึดติดกับภูมิลำเนาทหารได้จากมณฑลทหารบกทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ
ตามข้อมูลของกองทัพ ในการเรียกเกณฑ์ในปีที่ผ่าน ๆ มา มีค่าเฉลี่ยผู้สมัครใจเข้ารับราชการ มากกว่า 40,000 คน ต่อความต้องการทหาร 100,000 คนต่อปี และได้รับทหารเกณฑ์จากวิธีการเดิม (จับสลาก) อีกกว่า 50,000 คน
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ กองทัพบกยังคงดำเนินการเกณฑ์ทหารตามรูปแบบปกติอยู่ โดยจะเริ่มตรวจเลือกทหารกองประจำการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าการตรวจเลือกแล้วเสร็จ แต่ไม่เกินวันที่ 20 เมษายน 2564 ยกเว้นวันที่ 6 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันจักรี และวันที่ 12-15 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์
ด้านนายวรพจน์ ทรัพย์รักษา อายุ 17 ปี นักเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงความเห็นด้วยต่อแนวทางการรับสมัครพลทหารแบบใหม่
“การเป็นพลทหารเป็นเรื่องดีสำหรับคนที่มีใจรัก แต่มีเด็กหลายคนที่ไม่ได้สนใจ บางคนอาจจะไม่แข็งแรง แต่ก็ถูกบังคับให้จับใบดำใบแดง ซึ่งเหมือนเป็นการเอาอนาคตมาเสี่ยง” นายวรพจน์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ขณะที่นายอัลดุลฮากีม เมฆลอย อายุ 19 ปี นักศึกษาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า การสมัครใจเป็นพลทหาร เป็นแผนที่ดีและเหมาะสมกับสังคมปัจจุบันมาก เพราะเท่าที่ทราบมีน้อยคนที่จะอยากเป็นทหารจริง ๆ
“คนส่วนใหญ่ รวมถึงเพื่อน ๆ ต่างก็เรียนรักษาดินแดน เพื่อจะได้ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ส่วนคนที่มีเงินหน่อยก็อาจจะหาทางจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ตามอำเภอตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร อาจจะจำนวนไม่เยอะ แต่ยังพบว่ามีอยู่จริง ๆ ในบางพื้นที่ การเลือกหน่วยเพื่อไปอยู่ประจำได้ เป็นอะไรที่ดีมาก ๆ ทำให้คนที่สมัครใจ สามารถเลือกอยู่ใกล้ภูมิลำเนา ญาติ ๆ สามารถมาเยี่ยมบ่อย ๆ ได้” นายอัลดุลฮากีม ระบุ
ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนานิวส์ว่า มาตรการสมัครใจเป็นพลทหารนั้นช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับชายไทยเป็นอย่างมาก
“หากแผนการสมัครทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอได้รับความนิยมในระยะยาว การเรียนรักษาดินแดนก็แทบจะไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ยังไม่ได้ไปแตะที่ตัวกฎหมายมากนัก จะเห็นว่าเป็นมาตรการเฉพาะหน้า จึงไม่มีหลักประกันว่า หากวันใดวันหนึ่ง รัฐบาลเปลี่ยนมาตรการ หรือ ผบ.ทบ. เปลี่ยนคน การเกณฑ์ทหารในรูปแบบเดิมก็อาจจะกลับมาอีก” ดร.ณัฐกร กล่าว
ในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา กองทัพบกได้ประสบปัญหากำลังพลถูกข่มเหงทำร้ายร่างกายจนบางรายเสียชีวิตลง อย่างไรก็ตาม พลโทสันติพงษ์ ไม่ได้ชี้แจงว่า กองทัพบกมีแนวทางในการลดข้อกล่าวหาถึงการทำร้ายร่างกายพลทหารอย่างไร ในความพยายามที่จะรีแบรนด์กองทัพบก
เมื่อปลายปี 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอด ร.ต.ภัฏณัท เลิศชัยกุล สังกัดกองทัพบก ออกจากยศทหาร ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งปลดออกจากราชการ เนื่องจากกระทำความผิดวินัยทหารฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย และการขัดคำสั่ง เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง มีเหตุมาจากการออกคำสั่งให้ทหารเวรลงโทษ พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด ทหารในบังคับบัญชาจนเสียชีวิต และพลทหารฉัตรภิศุทธิ์ ชุมพันธ์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 ซึ่งนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่ที่มีการลงโทษนายทหารระดับสัญญาบัตรที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อต้านฝ่ายก่อความไม่สงบ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงานข่าว