ผู้นำอาเซียนประชุม เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมาทันที

อาหมัด ไซแอมซุดิน และ รอนนา เนอร์มาลา
2021.04.24
จาการ์ตา
ผู้นำอาเซียนประชุม เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมาทันที นายโจโก “โจโกวี” วิโดโด (ที่สองจากซ้าย) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน (ขวาสุด) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พร้อมผู้นำคนอื่น ๆ และเจ้าหน้าที่จากประเทศสมาชิกอาเซียน เข้าร่วมการประชุมสมัยพิเศษหารือสถานการณ์ในเมียนมา สำนักงานใหญ่ อาเซียน ในกรุงจาการ์ตา
ทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเซีย/เอเอฟพี

ผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เรียกร้องให้ “ยุติ” การสังหารในเมียนมาทันที และขอให้เปิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนคู่ขนาน โดยให้อาเซียนเป็นตัวกลาง ขณะที่ผู้นำและหัวหน้ารัฐบาลทหารของพม่าพบกันในการประชุมสุดยอดวาระฉุกเฉิน ในกรุงจาการ์ตา ในวันเสาร์นี้ เพื่อหารือถึงความขัดแย้งหลังรัฐประหาร

แถลงการณ์จากประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในตอนท้ายของการเจรจาที่ยาวประมาณสามชั่วโมงนั้น ระบุว่า อาเซียนจะแต่งตั้งผู้แทนพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจา โดยมีเป้าหมายในการ “หาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน” แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา

แถลงการณ์ของประธานอาเซียนปีปัจจุบัน ที่ออกโดยบรูไน โดยตำแหน่งนี้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทุกปี กล่าวว่า “ในฐานะชาติอาเซียน เราได้หารือกันอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุด ในเมียนมา และได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงข่าวการเสียชีวิตและความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นด้วย”

แถลงการณ์นั้นกล่าวด้วยว่า ในความพยายามของอาเซียน “ที่จะเสริมสร้างความสมัครสมาน และความรวดเร็วในการกลับคืนสู่สภาพปกติของภูมิภาคเรา เราขอย้ำว่า เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนประสบความสงบสุข มั่นคง และรุ่งเรือง”

แถลงการณ์กล่าวต่อไปว่า อาเซียนขอยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นร่วมกันต่อหลักการที่ระบุไว้ในกฎบัตรของอาเซียน ซึ่งมีมา 54 ปีแล้ว “รวมทั้งการยึดมั่นในหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล หลักการประชาธิปไตย และการปกครองตามรัฐธรรมนูญ การเคารพเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”

“ฉันทามติห้าข้อ” เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา เรียกร้องให้มี “การยุติความรุนแรงทันที” โดยขอให้ทุกฝ่ายใช้ “ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่” การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่าย การให้ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียน เป็นผู้ไกล่เกลี่ยในระหว่างการเจรจา พร้อมด้วยความช่วยเหลือจากเลขาธิการอาเซียน การจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่อาเซียนเป็นผู้ประสานงาน และการเยือนเมียนมาโดยคณะผู้แทนอาเซียน ภายใต้การนำของผู้แทนพิเศษ เพื่อพบปะกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม การปล่อยตัวนักโทษการเมืองไม่ได้รวมอยู่ในฉันทามติห้าข้อนั้น ตามที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้เรียกร้องไว้ในสุนทรพจน์ของบุคคลทั้งสองในระหว่างการประชุมสุดยอดเมื่อวันเสาร์

อย่างไรก็ดี แถลงการณ์นั้นเป็นคำเรียกร้องร่วมกันที่หนักแน่นที่สุดที่เคยออกมา นับตั้งแต่เกิดวิกฤตในเมียนมา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเห็นพ้องต้องกันที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง ซึ่งทดสอบหลักการก่อตั้งอาเซียน ว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิก

"ใช่เป็นความจริงที่เราในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน ยึดถือหลักการการไม่แทรกแซงกิจการภายในของสมาชิกอาเซียนอื่น ตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าเราควรเพิกเฉยต่อสถานการณ์ร้ายแรงที่เป็นอันตรายต่อความสงบสุข ความมั่นคง และเสถียรภาพของอาเซียน และทั่วภูมิภาค หลักการดังกล่าว ไม่ได้แปลว่า เราควรจะเงียบอยู่ข้างหลังแต่อย่างใด ไม่ควรจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น" นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวในแถลงการณ์

แม้แถลงการณ์นั้นจะกล่าวว่า “ชาติอาเซียน” “เห็นด้วย” กับฉันทามติห้าข้อนั้นก็ตาม แต่ขณะนี้ ยังไม่เป็นที่ทราบว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งกองกำลังได้สังหารผู้ชุมนุมประท้วงไปแล้วหลายร้อยคน นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. จะตอบสนองอย่างไร

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ

“มันเกินความคาดหมายของเรา” นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมสุดยอด "เราพยายามที่จะไม่กล่าวโทษฝ่ายของเขามากเกินไป เพราะเราไม่สนใจว่าใครเป็นต้นเหตุ" รอยเตอร์อ้างคำพูดของ นายมูห์ยิดดิน

"เราแค่เน้นว่า ความรุนแรงจะต้องยุติลง สำหรับเขา เขาคิดว่า อีกฝ่ายเป็นผู้ก่อปัญหา แต่เขาเห็นด้วยว่าความรุนแรงจะต้องหยุดลง"

การประชุมดังกล่าว ซึ่งเป็นการประชุมระดับสูงที่ผู้นำอาเซียนมาพบหน้ากันเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาเมื่อต้นปีที่แล้ว ไม่เปิดแก่สื่อมวลชน เนื่องจากระเบียบการด้านสุขภาพและความปลอดภัยในช่วงโควิด-19

คำพูดตรงไปตรงมา จากผู้นำอินโดนีเซีย

ความคิดเห็นของนายโจโก “โจโกวี” วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่กล่าวต่อหน้าที่ประชุม มีความตรงไปตรงมามาก โดยต่อมาเขาได้กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวหลังการประชุม

“สถานการณ์ในเมียนมาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นต่อไป” เขากล่าว

“ความรุนแรงต้องยุติลง และต้องทำการฟื้นฟูประชาธิปไตย เสถียรภาพ และสันติภาพในเมียนมาทันที” โจโกวีบอกแก่ผู้สื่อข่าว

โจโกวีกล่าวในที่ประชุมว่า อินโดนีเซียเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของเมียนมาให้คำมั่นสามข้อ คือ ยุติการใช้กำลัง เริ่มการเจรจาร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทันที และเปิดรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ภายใต้การประสานงานของเลขาธิการอาเซียน

“อินโดนีเซียสัญญาว่าจะดูแลให้เป็นไปตามคำมั่นนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้วิกฤตการเมืองในเมียนมาได้รับการแก้ไขโดยทันที” โจโกวีกล่าวในคำกล่าวของเขาต่อหน้าที่ประชุม นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกันกับของนายโจโกวี

“นอกเหนือจากการหยุดความรุนแรงทันทีแล้ว ข้อที่สอง ผมขอเรียกร้องให้มีการเจรจาทางการเมืองอย่างจริงจังระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มีการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทางการเมืองทันที และอย่างไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น” นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าว

“นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและจะบรรเทาแรงกดดันของนานาชาติที่มีต่อเมียนมาและอาเซียน” เขากล่าว 

เขากล่าวต่อไปด้วยว่า ต้องยอมให้ประธานและเลขาธิการอาเซียนเข้าไปในเมียนมา เพื่อพบปะกับทุกฝ่าย

“นี่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้อาเซียนเข้าไปสังเกตการณ์สถานการณ์ได้อย่างตรงไปตรงมาและเป็นกลาง หากอาเซียนได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเมียนมา จะเป็นการแสดงให้โลกเห็นว่าอาเซียนกำลังดำเนินการตามเป้า เพื่อช่วยให้สถานการณ์ในเมียนมากลับคืนสู่สภาวะปกติ” นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าว

ผู้นำอินโดนีเซียและมาเลเซียได้เรียกร้องให้จัดการประชุมสุดยอดวาระฉุกเฉินนี้ขึ้น หลังจากที่รัฐบาลทหารพม่าละเลยคำเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง และปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทางการเมือง รวมถึงนางอองซาน ซูจี

210424-TH-ASEAN-myanmar2.jpeg
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย (ซ้าย) ของเมียนมา เดินทางถึงสนามบินนานาชาติโซการ์โน-ฮัตตา ในเมืองทังเกอรัง ชานกรุงจาการ์ตา วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2564 (ทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเซีย)

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เดินทางถึงท่าอากาศยานกรุงจาการ์ตา ด้วยเที่ยวบินของสายการบินเมียนมาแอร์เวย์อินเตอร์เนชั่นแนล ในช่วงบ่ายต้น ๆ

เขามุ่งหน้าไปยังอาคารสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งกำลังมีการประชุมกันอยู่ หลังผ่านการตรวจโควิด-19 สำนักงานของประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าว

นอกจากผู้นำรัฐบาลทหารพม่าแล้ว ผู้นำประเทศของสมาชิกอาเซียนประเทศอื่นได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย ยกเว้นฟิลิปปินส์ ไทย และลาว ซึ่งส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปแทน

พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ให้เหตุผลของการไม่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ว่า  เป็นเพราะห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา คริสติน ชราเนอร์ เบอเกเนอร์ ทูตพิเศษของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ยังพบกับ นายบุ่ย แทง เซิน รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม ประเทศสมาชิกอาเซียน นอกรอบการประชุมสุดยอดดังกล่าว ในกรุงจาการ์ตาด้วย ตามรายงานของสื่อข่าวเวียดนาม ในต้นสัปดาห์นี้ สหประชาชาติได้กล่าวว่า ทูตพิเศษของสหประชาชาติจะเดินทางไปที่กรุงจาการ์ตา เพื่อพูดคุยกับผู้นำอาเซียน และหารือถึง “การมุ่งหาทางออกทางการเมือง” แก่วิกฤตในเมียนมา  

บรรดาองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้วิพากษ์วิจารณ์อาเซียน ที่ยอมให้ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเป็นตัวแทนของเมียนมา ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ และกีดกันไม่ให้เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) รัฐบาลคู่ขนานที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ เข้าร่วมการประชุม

ในแถลงการณ์ที่โพสต์บนเฟซบุ๊ก เมื่อช่วงดึกของคืนวันเสาร์ NUG กล่าวว่า ดีใจที่ได้ยิน “ข่าวดีที่ว่าผู้นำอาเซียนได้บรรลุฉันทามติว่า ต้องยุติความรุนแรงของทหารในเมียนมา และต้องปล่อยตัวนักโทษการเมือง"

แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า แถลงการณ์นั้นของรัฐบาลพลเรือนคู่ขนาน เป็นการตอบสนองต่อแถลงการณ์ของประธานอาเซียน หรือต่อคำกล่าวของประธานาธิบดีอินโดนีเซียกันแน่

“เราขอขอบคุณในคำพูดที่หนักแน่น จากประธานาธิบดีวิโดโดแห่งอินโดนีเซีย ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัววีรชนของเรา” ดร.ซาซา รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ และโฆษกของ NUG กล่าวในแถลงการณ์นั้น

“เราหวังว่าอาเซียนจะดำเนินการอย่างหนักแน่น เพื่อให้เป็นไปตามข้อตัดสินใจของอาเซียน และเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยและเสรีภาพให้แก่ประชาชนของเราและแก่ภูมิภาคนี้”

มุซลิซา มุสตาฟา ในกัวลาลัมเปอร์ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง