ผบ.ชายแดนใต้ ระบุบีอาร์เอ็นก่อเหตุโจมตีตากใบ
2022.06.01
ปัตตานี และกัวลาลัมเปอร์
นายทหารระดับผู้บัญชาการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นอยู่เบื้องหลังการโจมตีสถานีตำรวจน้ำในอำเภอตากใบ นราธิวาสเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว นับเป็นการทำลายบรรยากาศการพูดคุยและความริเริ่มรอมฎอนสันติสุขในพื้นที่ ในขณะที่หัวหน้าคณะเจรจาของกลุ่มบีอาร์เอ็น กล่าวปัดข้อกล่าวหาดังกล่าว
เมื่อกลางดึกของวันพุธที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธกว่าสิบคนได้โจมตีสถานีตำรวจน้ำ ริมฝั่งแม่น้ำโกลกด้วยระเบิดไปป์บอมบ์และอาวุธสงคราม ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารและอาสาสมัครได้รับบาดเจ็บรวม 3 นาย นอกจากนั้น คนร้ายยังได้ใช้อาวุธปืนยิงที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานด่านศุลกากรตากใบห่างออกไปราวสองร้อยเมตร วางระเบิดเสาไฟฟ้าริมถนนสายฮูมอลานัส-ตะปอเยาะ และหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลเจ๊ะเห อีกด้วย
แกนนำเจรจาของบีอาร์เอ็นตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือในเฟซบุ๊กโพสต์ ที่เจ้าหน้าที่ไทยใช้อ้างกล่าวหาว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นก่อเหตุโจมตี
เฟซบุ๊กเพจ BRN Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani ระบุข้อความเป็นอักษรรูมิ เมื่อวันอังคารนี้ว่า “เหตุเกิดที่โต้เจรจา, ทหารบีอาร์เอ็นหลายนายเปิดการโจมตีเจ้าอาณานิคมสยาม ทำลายรถยนต์ ด้วยพระประสงค์ของอัลเลาะฮ์ ทหารสยามบาดเจ็บสามนาย และขวัญผวา”
เจ้าหน้าที่ทหารของไทยระบุว่า ผู้โพสต์ดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนบีอาร์เอ็น
พลโท ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ต่างระบุว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ก่อเหตุรุนแรงขึ้น โดยมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มค้าเสพติดและของเถื่อนที่ได้รับผลกระทบจากการกวาดล้างของเจ้าหน้าที่ในเร็ว ๆ นี้
“ไม่น่าเชื่อว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นจะไม่สนใจความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ต้องการสันติและความสงบสุข สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปได้ที่มีความต้องการทำลายบรรยากาศการพูดคุย และรอมฎอนสันติ” พล.ท. ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันพุธนี้ เมื่อถามว่าใครคือผู้ก่อเหตุ
ด้าน พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพกองทัพภาคที่สี่ระบุ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ได้รับผลกระทบจากการกวาดล้างดังกล่าว ลงมือตอบโต้เจ้าหน้าที่
“เรื่องเหตุการณ์ที่ตากใบ ตอนนี้เราก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานจากผลการพิสูจน์ทราบทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในส่วนของอาวุธกระสุนต่าง ๆ ที่ผู้ก่อเหตุใช้ทั้งระเบิด ไปป์บอม มีผลปรากฎว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอยู่ เพราะว่าผลการพิสูจน์กระสุนคาบเกี่ยวกันอยู่แล้ว” พล.ท. เกรียงไกร กล่าวกับเบนาร์นิวส์
อย่างไรก็ตาม เหตุที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข
“ส่วนการพูดคุยสันติสุขเราก็ยังคงต้องเดินหน้า เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิต มีความปลอดภัยในชีวิต ได้ใช้ชีวิตประจำวันปกติสุขต่อไป อันนี้เป็นสิ่งที่เรายืนยัน” พล.ท. เกรียงไกร กล่าว
ในเรื่องนี้ อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือ นายฮีพนี มะเร๊ะ) หัวหน้าคณะเจรจาของบีอาร์เอ็น กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ไทยไม่ได้มีหลักฐานที่จะกล่าวหาบีอาร์เอ็น
“ทางทหารไทยไม่ได้มีหลักฐานใด ๆ ที่จะกล่าวหาบีอาร์เอ็น เพราะว่ายังไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ตากใบ แต่ทางทหารไทยสรุปเอาเองว่า ทีมที่มีความสามารถและศักยภาพในการโจมตีเช่นนั้น มีเพียงบีอาร์เอ็นเท่านั้นแล้วกล่าวหาเรา” อุสตาซ อานัส กล่าว
“และเหตุการณ์ตากใบจะไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ เพราะว่ามันเกิดขึ้นหลังจากที่ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุขจบลงไปแล้ว” อุสตาซ อานัส กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนั้น อุสตาซ อานัส กล่าวอีกว่า “การประกาศอย่างเป็นทางการใด ๆ ของบีอาร์เอ็น ต้องออกมาจากคณะเลขานุการกลาง สำนักงานประชาสัมพันธ์บีอาร์เอ็น และจากคณะเลขานุการการเจรจาบีอาร์เอ็นเท่านั้น บีอาร์เอ็นไม่รับผิดชอบต่อแถลงการณ์, สื่อ-สาส์น หรือการประกาศอื่นใด ๆ นอกเหนือจากโดยกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น”
ทั้งนี้ ในการพบปะในมาเลเซียเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ถึง 1 เมษายน ที่ผ่านมา คณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย และบีอาร์เอ็น ตกลงในการที่จะดำเนินการเรื่องความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข (Ramadan Peace Initiative) โดยมีสาระว่า รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบสามารถเดินทางกลับบ้านเพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้โดยไม่ถูกคุมตัวในช่วง 40 วันของห้วงเวลาการถือศีลอด และทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้กำลังปะทะกัน โดยมีระยะเวลาดำเนินความริเริ่มนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ถึง 14 พฤษภาคม 2565 แต่ทางกองทัพภาคที่ 4 ต้องการขยายเวลาออกไปโดยไม่กำหนด
ในส่วนการติดตามคนร้ายนั้น พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทางเจ้าหน้าที่จะเดินหน้าติดตามจับกุมผู้กระทำผิด และย้ำว่าทางการมีหลักฐานแสดงความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์กับผู้ก่อเหตุรุนแรง
พลโท เกรียงไกร ระบุว่า ขบวนการค้ายาเสพติดได้ลำเลียงยาเสพติดผ่านสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ
“โดยเฉพาะในเครือข่ายของผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายใหญ่ อุสมา สาแลแม็ง เขาจะมีความโยงใยมาจากทางภาคเหนือของประเทศไทย ลงสู่ภาคใต้ตอนล่างและส่งออก จากการแถลงข่าวเราจับกุมสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นระยะ และยึดทรัพย์มากมาย เฉพาะเดือนเดียว 840 กว่าล้านบาท”