ไทย-บังกลาเทศ ร่วมผลักดันการค้าเสรีภายในปี 2567

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.04.26
กรุงเทพฯ
ไทย-บังกลาเทศ ร่วมผลักดันการค้าเสรีภายในปี 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ซ้าย) พูดคุยทักทายกับ นางเชค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรีของบังกลาเทศ ในพิธีต้อนรับที่ทำเนียบรัฐบาลในกรุงเทพฯ วันที่ 26 เมษายน 2567
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ นางเชค ฮาซีนา (Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ พร้อมทั้งหารือข้อตกลงความร่วมมือ โดยสองประเทศมุ่งหวังผลักดันความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement - FTA) ให้สำเร็จภายในปี 2567 อีกทั้งยังแสดงความห่วงใยปัญหาภายในเมียนมา 

“ไทยและบังกลาเทศให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อเริ่มการเจรจา FTA ภายในปีนี้ โดยมีเป้าหมายคือ การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เราทั้งสองฝ่ายยังเห็นตรงกันในการมุ่งยกระดับความร่วมมือในภาคเกษตรกรรม ฮาลาล และการแปรรูปอาหาร โดยผมขอให้ฝ่ายบังกลาเทศนำเข้าสินค้าฮาลาลจากไทยเพิ่มขึ้น” นายเศรษฐา เปิดเผยผ่าน X

นายเศรษฐา ระบุว่า ไทยมีสินค้าฮาลาลกว่า 160,000 ชนิด เชื่อว่า หากทำข้อตกลงร่วมกันจะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับทั้งสองประเทศ 

“ท่านนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศยังเสนอพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษให้แก่นักลงทุนไทย ซึ่งผมมอบหมายให้ท่านผู้แทนการค้าไทยและท่านเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงธากา ดำเนินการขั้นต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจัดคณะนักธุรกิจไทยเดินทางไปเยือนบังกลาเทศครับ” นายเศรษฐา ระบุ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผู้นำของทั้งสองประเทศเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์ภายในของเมียนมาด้วย 

“นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศคำนึงถึงผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงแนวทางของไทยที่ยินดีให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งยึดหลัก Unified, Stable and Peaceful (ความเป็นเอกภาพ ความมั่นคง และความสงบสุข) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด พร้อมยืนยันว่าไทยยังคงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป” นายชัย กล่าว

นายชัย ระบุว่า ผู้นำของทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกัน 5 ข้อ ดังนี้ 1. หนังสือประกาศเจตนารมณ์เริ่มการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-บังกลาเทศ 2. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ 3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน 4. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือทางศุลกากร และ 5. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยว

ต่อข้อตกลงร่วมของสองประเทศ ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า ไทยจะได้รับประโยชน์จากการร่วมมือของสองประเทศ

“การลงนามร่วมกันของสองประเทศ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อไทยในหลายด้าน ทั้งการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้าชายแดนผ่านท่าเรือและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นี่เป็นโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีในหลากหลายมิติ ซึ่งไทยควรผลักดันความร่วมมือเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมให้ได้ในยุคของรัฐบาลชุดนี้” ดร. เอียชา กล่าว

AP24117147914419.jpg
นางเชค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ (ซ้าย) พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ร่วมเคารพธงชาติระหว่างพิธีต้อนรับที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 26 เมษายน 2567 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

ดร. เอียชา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ไทยและบังกลาเทศต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมา เพราะทั้งสองประเทศมีพรมแดนประเทศประกบติดกับเมียนมา โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดน พร้อมทั้งประสานให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังต้องร่วมมือกันผลักดันให้อาเซียนเร่งดำเนินการเพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมาด้วยสันติวิธีโดยเร็วที่สุด"

นางเชค ฮาซีนา เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 24-29 เมษายน 2567 และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ของผู้นำบังกลาเทศ โดยทั้งสองประเทศมีมิตรภาพอันยาวนานร่วมกันนับตั้งแต่ปี 2515 ปัจจุบัน มีมูลค่าการค้าร่วมกัน 1.2 พันล้านดอลลาร์ 

ไทยร่วม 17 ประเทศเรียกร้องปล่อยตัวประกันในสงครามอิสราเอล

ในวันเดียวกัน นายเศรษฐา เปิดเผยว่า ไทยได้ร่วมลงนามในถ้อยแถลงร่วมกับ 17 ประเทศ เรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดในการสู้รบอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งปัจจุบัน มีตัวประกันชาวไทย 8 คน

“เราขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดที่กลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันในกาซามาแล้วมากกว่า 200 วัน ในทันที ตัวประกันเหล่านี้มีพลเมืองของเรารวมอยู่ด้วย ชะตากรรมของตัวประกันและประชากรพลเรือนในกาซา ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นข้อห่วงกังวลระหว่างประเทศ” ตอนหนึ่งของข้อเรียกร้อง 

กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ไทยได้ลงนามในถ้อยแถลงร่วมกับ อาร์เจนตินา ออสเตรีย บราซิล บัลแกเรีย แคนาดา โคลอมเบีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย เซอร์เบีย สเปน ไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา 

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง