นายกฯ ระบุ แรงงานเมียนมาเข้าเมืองผิดกฎหมาย นำเข้าโรคโควิด

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.12.21
กรุงเทพฯ
นายกฯ ระบุ แรงงานเมียนมาเข้าเมืองผิดกฎหมาย นำเข้าโรคโควิด แรงงานข้ามชาติยืนใกล้รั้วลวดหนาม ที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการปิด-ควบคุมการเข้าออกพื้นที่ หน้าตลาดกุ้ง หลังจากพบการระบาดระลอกใหม่ของโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19) ที่จังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 20 ธันวาคม 2563
รอยเตอร์

ในวันจันทร์นี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ระบุว่า แรงงานเมียนมาที่เล็ดลอดเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยผิดกฎหมาย เป็นสาเหตุของการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ซึ่งนับตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมาจนถึงวันจันทร์นี้ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มกว่า 900 ราย

ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมานี้ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ตรวจพบว่าผู้ป่วยรายหนึ่งที่เป็นเจ้าของแพปลา เป็นหญิงอายุ 67 ปี และค้าขายในตลาดกุ้ง มีอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิด และจากการตรวจโรคเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าวกว่า 5000 ราย ในพื้นที่ตลาดกลางกุ้งและตลาดไทย ในส่วนที่ผลการตรวจออกมาแล้วนั้น ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อถึงกว่า 900 ราย และยังรอผลออกมาอีกกว่า 2,000 ราย ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ในวันจันทร์นี้

ในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ เชื่อว่าการแพร่ระบาดของโรค มาจากแรงงานเมียนมาที่เคลื่อนย้ายเข้ามาโดยไม่ถูกต้อง

“วันนี้ ยังไงตรวจสอบก็พบมากขึ้น เพราะตรวจสอบในพื้นที่คนงาน นี่คือปัญหาของเรา การเล็ดลอด เมื่อก่อนปลอดภัย เพราะคนเหล่านี้อยู่ในประเทศปลอดภัยมานาน แต่ปรากฏว่าแอบลักลอบหนีกลับไป แล้วหนีกลับเข้ามาใหม่ เนี่ยทำยังไง คนไทยช่วยกันดูแลด้วย เจ้าหน้าที่ก็ดูแลได้เท่านี้” พลเอกประยุทธ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

“คนที่รู้จริงคือคนในพื้นที่ เจ้าของโรงงาน วันนี้ ผมกำหนดมาตรการไปแล้วว่าจะต้องมีมาตรการติดตามตัวแรงงานทุกคน สอง ใครเจอแรงงานผิดกฎหมายจะต้องปิดโรงงาน กำชับให้ข้อมูลไปแล้ว กระบวนการก็พอมีอยู่” นายกรัฐมนตรี กล่าวเตือนให้นายจ้างระมัดระวังการนำเข้าแรงงานโดยผิดกฎหมาย

ด้าน นพ. วิชาญ ปาวัน ผอ. สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จุดตั้งต้นของการระบาดอยู่ที่ตลาดกลางกุ้ง และจะตรวจสอบพันธุกรรมเชื้อเพื่อพิสูจน์โรคว่ามาจากเมียนมาด้วยหรือไม่

“สมมติฐานเรื่องสาเหตุการระบาดครั้งนี้ ทางระบาดวิทยาโดยผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากแรงงานพม่า เนื่องจากการค้นหาหรือการตรวจเชิงรุกพบว่า มีการติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 90 ของแรงงานพม่า ซึ่งก็เป็นไปได้ว่ามีการเคลื่อนย้ายของแรงงานเมียนมา มาจากต่างประเทศในช่วงของการระบาด และนำมาสู่การแพร่ของชุมชนของเมียนมาที่มีอยู่เดิมแล้ว ในพื้นที่สมุทรสาคร เพื่อเป็นการพิสูจน์สมมติฐาน จะได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูว่ามีความเชื่อมโยงในพื้นที่ไหนบ้าง” นพ. วิชาญ กล่าว

“สำหรับการแพร่ระบาดในวงกว้างค่อนข้างชัดเจนว่า มาจากพฤติกรรมการอยู่รวมกันอย่างแออัดในพื้นที่พักอาศัย และมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน และไม่มีมาตรการป้องกันตัวเอง อย่างการสวมหน้ากาก น่าจะเป็นสาเหตุหลักของการแพร่ระบาดในวงกว้าง ในกลุ่มนี้” นพ. วิชาญ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม นายอดิศร เกิดมงคล จากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MWG) กล่าวว่า ฝ่ายจังหวัดไม่ควรกล่าวโทษแรงงานต่างด้าว แต่ควรหาหนทางปรับปรุงสภาพชีวิตของพวกเขา

“ปัจจุบันจังหวัด และ ศบค. ยังพยายามโจมตีว่าปัญหาโควิดระบาดมาจากแรงงานข้ามชาติ ทำให้สังคมมองแรงงานข้ามชาติในแง่ลบ ทั้งที่ปัจจุบัน ยังสรุปไม่ได้แน่ชัดว่า ผู้ติดเชื้อเริ่มมาจากแรงงานข้ามชาติหรือไม่ รัฐควรใช้โอกาสนี้ในการตรวจเชื้อ แล้วปรับปรุงสถานะของแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้อง เอาเขาเข้าระบบ และมีมาตรการให้นายจ้างเอาแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ประกันสังคม และมีประกันสุขภาพ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว” นายอดิศร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันจันทร์นี้

“กลุ่มคนที่ติดเชื้อเป็นอุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งสภาพการอยู่อาศัยค่อนข้างแออัด ห้องเล็กอยู่กัน 6-7 คน โดยปกติเขาจะใช้การสลับกันนอน แต่พอล็อกดาวน์ทุกคนก็จะต้องอยู่รวมกัน ซึ่งมีความเสี่ยงว่า ถ้า 1 คนติด คนที่เหลือก็จะติดไปด้วย ควรจัดการการกักตัวให้ดี เพราะตอนนี้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมาก รัฐให้เขาอยู่ในห้องซึ่งแออัด ก็อาจจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น ควรมีการจัดการให้เป็นระบบกว่านี้ มีการดำเนินการกับผู้หญิงและเด็กด้วย” นายอดิศร กล่าวเพิ่มเติม

นายอดิศร ระบุว่า สมุทรสาครเป็นศูนย์กลางอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุด จึงเป็นพื้นที่รองรับแรงงานช่วงโควิดระบาด โดยมีแรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนในสมุทรสาคร ประมาณ 2.6 แสนคน และอาจจะมีหลุดออกไปจากระบบ 2-3 หมื่นคน แต่เมื่อมีแรงงานในพื้นที่อื่นตกงานจากวิกฤตโควิด ทำให้น่าจะมีแรงงานจากพื้นที่อื่น เข้ามาอยู่อีกราว 1 แสนคน รวมเป็น 3.5 แสนคน โดยประมาณ

ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในเดือนมกราคม 2563 ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติชาวลาว เมียนมา และกัมพูชา รวม 2,990,777 คน แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อถึงเดือนตุลาคม 2563 พบว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเหลือเพียง 2,284,673 คน

ในวันเดียวกันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร และได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้สั่งการให้เร่งตรวจเชื้อในพื้นที่ใกล้เคียง และเตรียมตั้งโรงพยาบาลสนามขนาด 100 เตียง ในบางจุด เพื่อตีกรอบการควบคุมโรค 

ล็อกดาวน์ตลาด เพิ่มมาตรการเข้มงวด

หลังจากการตรวจพบเชื้อในเจ้าของแพปลารายข้างต้น เจ้าหน้าที่ในสมุทรสาคร ได้ล็อกดาวน์พื้นที่ตลาดกุ้ง ตลาดไทย และหอพักของแรงงานต่างด้าวย่านตลาดไทยยูเนี่ยน เพื่อควบคุมการกระจายเชื้อ และได้ทำการตรวจเชื้อเชิงรุกในกลุ่มแรงงาน และกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มพ่อค้า คนขับรถ และ คนใกล้ชิดกว่า 5,000 ราย โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อ ซึ่งโดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแรงงานแล้วกว่า 900 คน ณ วันจันทร์นี้ โดย นพ. วิชาญ ปาวัน ผอ. สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าวว่า ยังรอผลการตรวจอีกกว่า 2000 ราย

อย่างไรก็ตาม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุว่า การระบาดครั้งนี้ เรียกว่า “การระบาดระลอกใหม่" (Newly Emerging) ซึ่งเป็นการติดเชื้อใหม่จากอีกกลุ่ม (แรงงานต่างด้าว) ไม่ได้เชื่อมโยงกับการระบาดในระลอกแรก (สนามมวย/ผับที่ทองหล่อ) ซึ่งจบไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ส่วนการระบาดระลอกสอง (Re-Emerging) ต้องมีผลพวงจากระบาดรอบแรก ดังนั้นเคสแพกุ้ง จึงเรียกว่าการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งในวันนี้ ทางศบค. รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทย มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 5,289 ราย และเสียชีวิตสะสมยังคงที่ 60 ราย

นอกจากนั้น ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ประกาศปิดตลาดตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 ไปจนถึงวันที่ 3 มกราคม 2564

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร คือ จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสงคราม และนครปฐม ตรวจสอบบุคคลที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสัตว์น้ำในจังหวัดสมุทรสาคร หากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 

มาตรการดังกล่าวยังครอบคลุมถึงโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ ซึ่งใช้แรงงานต่างด้าว หรือแรงงานในประเทศ ให้จัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด จุดคัดกรองโรค เพื่อสกัดกั้นการเดินทางเข้าออก และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ในส่วนจังหวัดพื้นที่ชายแดน ให้ลาดตระเวนเข้มงวดป้องกันการลักลอบเข้าประเทศ และตั้งจุดคัดกรองรถขนส่งสินค้าต่าง ๆ

ในส่วนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนั้น พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กระทรวงกลาโหม กล่าวในวันจันทร์นี้ว่า ทางกองทัพได้เพิ่มมาตรการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มข้นมากขึ้น

“สำหรับพื้นที่ชายแดน กองทัพได้เสริมกำลังป้องกันชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำ รวมทั้งเพิ่มมาตรการสกัดกั้นและเฝ้าตรวจตามช่องทางต่าง ๆ มากขึ้น” พลโทคงชีพ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

นอกจากนั้น ฝ่ายไทยได้ประสานการทำงานร่วมกับคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นจังหวัดท่าขี้เหล็ก และพื้นที่อื่น คัดกรองและกักตัวคนไทยที่เข้าไปทำงานผิดกฎหมาย เพิ่มความเข้มข้นมาตรการเฝ้าระวังป้องกันร่วมกันมากขึ้น ทั้งนี้ คนไทยที่เดินทางเข้าประเทศ ต้องเข้ามาตามช่องทางที่กำหนด และยังต้องอยู่ในมาตรการกักตัวควบคุมโรคของรัฐที่กำหนด 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง