ตร. พิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตเหตุบัสไฟไหม้ครบแล้ว เตรียมส่งร่างกลับอุทัยธานี
2024.10.02
กรุงเทพฯ
ความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณี รถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี ประสบอุบัติเหตุไฟไหม้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รัฐบาลเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้เก็บดีเอ็นเอผู้เสียชีวิต 23 ราย เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลครบแล้ว และเบื้องต้น ครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยารายละ 2.39 ล้านบาท ขณะที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สั่งงดการทัศนศึกษาอย่างไม่มีกำหนด ท่ามกลางข้อถกเถียงว่า ควรยกเลิกการทัศนศึกษาหรือไม่
“ตำรวจได้มีการตรวจระบุตัวแล้ว เริ่มค่อย ๆ ลำเลียงศพน้องกลับที่อุทัยธานี คมนาคมได้มีการเยียวยา และการตรวจสอบเรื่องของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ว่าจะเป็นยังไงต่อไป สาธารณสุขได้ส่งจิตแพทย์ลงไปในพื้นที่” น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสื่อมวลชนในช่วงบ่ายวันพุธ
เหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 12.20 น. ของวันอังคาร บนถนนวิภาวดีขาเข้า หน้าห้างสรรพสินค้าเซียร์รังสิต โดยรถบัสคันนี้มีผู้โดยสาร 44 คน เป็นครู 6 คน และนักเรียน 38 คน เป็นหนึ่งในสามคันที่นำนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ประถม และมัธยมต้น จากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม มาทัศนศึกษา โดยขณะเกิดเหตุ ผู้โดยสารภายในรถไม่สามารถเปิดประตูฉุกเฉินท้ายรถได้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สามารถคุมตัวพนักงานขับรถคันที่เกิดเหตุได้แล้ว
“เรามีความคืบหน้าในการสอบสวนไประยะหนึ่ง ได้ตัวผู้ต้องหามาแล้ว และสอบปากคำไว้แล้ว ตอนนี้ยังอยู่ในความควบคุมที่ สภ. คูคต ตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสภาพรถว่า เป็นอย่างไร ส่วนการพิสูจน์อัตลักษณ์แล้วก็ตัวอย่างดีเอ็นเอ สามารถพิสูจน์บุคคลได้แล้ว” พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัว นายสมาน (สงวนนามสกุล) อายุ 48 ปี ซึ่งเป็นคนขับรถบัสคันดังกล่าว และเบื้องต้นแจ้งสองข้อกล่าวหาประกอบด้วย 1. ขับรถโดยประมาททำให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ 2. ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล แล้วไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือ ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงาน เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย
“นายสมานให้การว่า ขับรถมาเป็นคันที่ 2 ความเร็วประมาณ 70-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุรถเสียหลักคล้ายตกหลุม จากนั้นล้อหน้าเกิดดึงไปทางขวาทำให้ไปเฉี่ยวชนกับรถเบนซ์ และครูดกับแบริเออร์ หลังเกิดเหตุเขาวิ่งไปเอาถังดับเพลิงจากรถคันหลังมาช่วยฉีด จากนั้นก็ตกใจและหนีไปบ้านญาติ” พล.ต.ต. ชยานนท์ มีสติ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร (ผบช.ภ.) กล่าวหลังสอบปากคำคนขับ
ขณะที่ นายอรรถพล เรืองสารณ์ ทนายความซึ่งเป็นตัวแทนของ ชินบุตรทัวร์ บริษัทเจ้าของรถบัสที่เกิดเหตุ ได้เดินทางมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว โดยยืนยันว่า ผู้ประกอบการเสียใจ และไม่ต้องการให้เกิดเหตุขึ้น และพร้อมจะรับผิดชอบค่าเสียหาย
สำหรับผู้บาดเจ็บ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีกสามคนที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
“ในส่วนของผู้บาดเจ็บที่อยู่ในโรงพยาบาลยังอยู่ที่โรงพยาบาลสถาบันเด็กแห่งชาติ หนึ่งคน แล้วก็โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สองคน ถือว่าอาการหนักทั้งสามคน เรามีนักจิตวิทยา และสังคมสงเคราะห์ประมาณ 71 ท่าน ที่ดูแลในส่วนโรงพยาบาลตำรวจ และอุทัยธานี” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้เรียกรถโดยสารสาธารณะที่ใช้เชื้อเพลิง CNG (Compressed natural gas) เหมือนกับรถคันที่เกิดเหตุ ทั้งหมด 13,400 หมื่นคัน เข้ามาเพื่อตรวจสอบสภาพภายใน 60 วัน และจะดำเนินการแก้ไขกฎ หรือมาตรการป้องกันเหตุทั้งหมดอีกครั้ง
“ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี มีมติอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ เป็นเงินรายละรวม 2.39 ล้านบาท จาก กองทุนฯ 1 ล้านบาท จากประกันภัยของบริษัทรถบัส 1 ล้าน จากกองทุนของกระทรวงยุติธรรม 2 แสนบาท จากกองทุนกระทรวงศึกษาธิการ 1.8 แสนบาท จากกองทุนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 1 หมื่นบาท” นายสุริยะ กล่าว
ศธ. สั่งงดทัศนศึกษา
พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงต่อสื่อมวลชนว่า มาตรการเบื้องต้น ศธ. ได้งดการจัดทัศนศึกษาทันที และหลังจากนี้การพานักเรียนไปนอกสถานที่ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องสภาพรถที่ใช้โดยสาร
“มีคำสั่งให้งดการจัดทัศนศึกษาทันทีไม่มีกำหนด ไม่จำเป็นไม่ต้องไป ส่วนเด็กต่ำกว่า ป.4 ให้ยกเลิกการเดินทางทัศนศึกษาออกจากต่างจังหวัดทั้งหมด แต่หากมีความจำเป็นต้องมีผู้ปกครองไปด้วย แต่ถ้าโรงเรียนใดมีความจำเป็นต้องดูเป็นกรณี แต่ต้องดูแลความปลอดภัยครู เด็กนักเรียนให้ครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงต้องมีการซ้อมแผนเผชิญเหตุทั้งครูและนักเรียน” พล.ต.อ. เพิ่มพูน กล่าว
กรณีที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า การทัศนศึกษานอกสถานที่ หรือต่างจังหวัดยังจำเป็นหรือไม่
นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์การเมือง ได้เปิดประเด็นว่า “อะไรคือประโยชน์ของการเอาเด็กอนุบาลขึ้นรถทัวร์ 250 ก.ม. 3 ชั่วโมง จากอุทัย มาทัศนศึกษากรุงเทพที่การไฟฟ้าพระราม 6” ซึ่งมีทั้งเสียงสนับสนุน และเสียงคัดค้าน
“การยกเลิกกิจกรรมทัศนศึกษาไปเลยนั้น อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะบางอย่างจะต้องไปเห็นของจริงเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ผมเชื่อว่าคุณครู ผู้ปกครอง ผู้บริหาร และทุกคนที่เกี่ยวข้องหวังดีกับนักเรียนทุกคนและไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงในครั้งนี้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วสิ่งที่ต้องทำก็คือ หาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกครั้ง” พล.ต.อ. เพิ่มพูนกล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ สส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้า พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงประเด็นเดียวกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า การทัศนศึกษายังมีความจำเป็นสำหรับนักเรียน
“กิจกรรมทัศนศึกษาสร้างประสบการณ์ใหม่ และโอกาสให้เด็กนักเรียนได้เปิดโลกกว้างเรียนรู้สิ่งใหม่ จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงควรที่จะถอดบทเรียนวางมาตรการป้องกันมากกว่ามาแก้ไขภายหลัง ต้องเข้มงวดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร” นายธนกร กล่าว
หลังเกิดเหตุโรงเรียนหลายแห่งทั้งของรัฐบาลและเอกชนได้ประกาศยกเลิกกิจกรรมทัศนศึกษาชั่วคราว เช่น ร.ร. เซนต์แอนโทนีบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา, ร.ร. บางแม่หม้าย สุพรรณบุรี และ ร.ร. ศิริวิทยา สมุทรปราการ
ขณะที่ นายกรัฐมนตรียืนยันว่า การยกเลิกทัศนศึกษาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
“ทัศนศึกษาคือการเปิดโลกให้เด็ก ๆ ซึ่งเราก็ไม่อยากจะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทัศนศึกษาไม่ได้ทำร้ายเด็ก แต่รถที่ไม่ได้ถูกดูแล-ตรวจ คือสิ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ก็ต้องมาดูว่า คมนาคมจะวางกฎ วางกรอบยังไง โอกาสนี้เป็นโอกาสที่จะสามารถวางกฎให้ชัดเจนขึ้นได้” น.ส. แพทองธาร กล่าว
ต่อเหตุที่เกิดขึ้น นายกีโยม ราชู ผู้อำนวยการบริหาร Save the Children ชี้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทบทวนมาตรการป้องกันเหตุระหว่างการไปทัศนศึกษา
"การป้องกันอุบัติเหตุไม่ใช่เพียงการสร้างมาตรการเขียนขึ้นบนกระดาษเท่านั้น แต่ต้องนำไปปฏิบัติจริงอย่างเคร่งครัด โรงเรียนและผู้ปกครองจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการประเมินความเสี่ยงในทุกรายละเอียด เช่น การคัดเลือกคนขับรถที่ผ่านการอบรม การจัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถ การซ้อมแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน และการมีระบบเฝ้าระวังที่รัดกุม การซักซ้อมแผนอพยพและเอาตัวรอดต้องทำอย่างจริงจัง” นายกีโยม กล่าว