ไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยฝ่ายค้านกัมพูชา 6 ราย กลับประเทศข้อหาก่อกบฏ
2024.11.26
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้ถูกส่งตัวกลับจากประเทศไทยทั้งหมด 7 คน รวมถึงหลานชายวัย 7 ขวบ ของนักเคลื่อนไหวคนหนึ่ง ซึ่งได้รับการปล่อยตัวให้กับครอบครัวเมื่อเดินทางกลับถึงกัมพูชา
ซึ่งเป็นการกระทำที่เรียกเสียงประณามจากบรรดานักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้อ้างว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกรัฐบาลกัมพูชาปราบปราม เนื่องจากไม่ยอมรับความเห็นต่าง
นายชาติ เขมรา สมาชิกของพรรคฝ่ายค้าน ผู้ซึ่งยังลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า ผู้ลี้ภัยทางการเมือง จำนวน 6 ราย ถูกส่งตัวกลับผ่านชายแดนกัมพูชาไปยังเมืองปอยเปต ผ่านทางดินแดนซึ่งเชื่อมระหว่างสองประเทศในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
“ผมกังวลว่า ฮุน เซน จะไม่ปล่อยให้พวกเขามีชีวิตรอด หากพวกเขาถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ คนเหล่านี้จะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง” เขากล่าว
สมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว โดยมีฮุน มาเนต บุตรชายคนโตของเขาสืบทอดอำนาจแทน ทว่า สมเด็จฮุน เซน ยังคงดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำรัฐบาลและประธานวุฒิสภาของประเทศกัมพูชา ในขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของบุตรชายยังไม่มีท่าทีว่าจะตอบโต้กับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในระดับที่รุนแรงน้อยลงไปกว่านี้
เหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาทั้ง 5 คน ได้แก่ เปน ชาน ซังกราม (Pen Chan Sangkream) ฮง อัน (Hong An) มีน ชานธอน (Mean Chanthon) ยิน ชานเทา (Yin Chanthou) ซุน คุนเทือ (Soeung Khunthea) และ วอน จันรัชนา (Vorn Chanratchana) ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกหรือผู้สนับสนุนพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party - CNRP)
พรรค CNRP ก่อตั้งในปี 2555 โดยสม รังสี อดีตผู้นำพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา และถูกศาลตัดสินให้ยุบพรรคในปี 2560 หลังจากถูกกล่าวหาว่าวางแผนที่จะล้มล้างรัฐบาล ซึ่งพรรคฯ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
นอกเหนือจากผู้ลี้ภัยทางการเมือง 5 ราย ดังกล่าว ยังมีหลานชายอายุ 7 ปี ของ ฮง อัน (Hong An) และบุตรสาวของ ยิน ชานเทา (Yin Chanthou) อีกด้วย
บรรดานักสิทธิมนุษยชนอ้างว่า ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาเหล่านี้ได้รับการรับรองจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเรียบร้อยแล้ว ทว่า โฆษกประจำสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ไม่ตอบรับอีเมลที่ขอให้แสดงความคิดเห็น ส่วนโฆษกฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชา ตำรวจประจำจังหวัด และศาลแขวงพนมเปญก็ไม่สามารถติดต่อได้เช่นเดียวกัน
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองยืนยันว่า ผู้ลี้ภัยทั้ง 7 ราย ถูกควบคุมตัวไว้ที่จังหวัดปทุมธานีในช่วงสุดสัปดาห์ ก่อนจะถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง
“หากอ้างอิงจากพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง เราต้องส่งตัวพวกเขากลับไปภายในวันอาทิตย์ช่วงเย็น” เจ้าหน้าที่อ้าง โดยขอปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวตน
‘ถูกคุกคามและปราบปราม’
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ บรรดากลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนระดับโลกต่างประณามประเทศไทยที่ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามหรือกัมพูชา ในการกดปราบผู้ลี้ภัยทางการเมืองอย่างผิดกฎหมาย ส่งผลให้ประเทศไทยไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยจากการถูกปราบปรามจากรัฐบาลของประเทศตนเองอีกต่อไป
ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐไทยได้มีส่วนร่วมในการทำ ‘ตลาดแลกเปลี่ยน’ (Swap mart) ด้านการกดปราบผู้ลี้ภัยทางการเมืองข้ามชาติกับรัฐบาลเพื่อนบ้าน โดยชาวต่างชาติผู้ลี้ภัยที่หลบหนีการประหัตประหารจากประเทศของตนและพำนักอยู่ประเทศไทยจะถูกแลกเปลี่ยนกับผู้เห็นต่างทางการเมืองไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ทางการไทยปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว โดยอ้างว่าเพียงบังคับใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองเท่านั้น
ปรุม จันทา ตัวแทนจากกลุ่ม Friday Wives ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านที่จัดการชุมนุมประท้วงทุกสัปดาห์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชายุติการกดขี่ประชาชนกล่าวว่า เจ้าหน้าที่แจ้งกับเธอว่า ผู้ลี้ภัยทั้ง 5 ราย ถูกส่งตัวไปยังศาลในเมืองพนมเปญ แต่ไม่ทราบว่าพวกเขาจะโดนแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้เธอดูแลบุตรหลานของฮง อันด้วย
ซง เซน กรุณา (Soeung Sen Karuna) ผู้อำนวยการประจำองค์กรเขมรเพื่อประชาธิปไตยในประเทศออสเตรเลีย ชี้ว่ารัฐบาลไทยและกัมพูชาร่วมมือกันกระทำการกดปราบผู้ลี้ภัยข้ามชาติ
“ถือเป็นเรื่องที่ไร้มนุษยธรรมเป็นอย่างมากที่การที่รัฐไทยหันไปร่วมมือกับทางการกัมพูชาเพื่อส่งตัวนักเคลื่อนไหวผู้เห็นต่างกลับไปยังประเทศต้นทาง ทั้งที่พวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับการประหัตประหารที่รุนแรงในประเทศของตนเอง” เขากล่าว
“ประเทศไทยล้มเหลวในการปฏิบัติตามกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิของผู้ลี้ภัยในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติ ผมขอประณามเจ้าหน้าที่รัฐไทย พวกเขาควรที่จะยุติการคุกคามและปราบปรามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ไปร่วมมือกับทางการพนมเปญ”