ฮุน มาเนต นายกฯ กัมพูชา จะเยือนไทย หารือการค้า-เศรษฐกิจชายแดน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ ภิมุข รักขนาม
2024.02.05
กรุงเทพฯ
ฮุน มาเนต นายกฯ กัมพูชา จะเยือนไทย หารือการค้า-เศรษฐกิจชายแดน นายฮุน มาเนต (ซ้าย) นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ในพิธีต้อนรับที่พระราชวังสันติภาพในพนมเปญ กัมพูชา เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566
เอพี

นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา จะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ หลังรับตำแหน่ง ขณะที่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักกิจกรรมชาวกัมพูชา 3 ราย ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย 

เป็นโอกาสในการขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน การเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุน การส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสองประเทศนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่าว

นายชัย ระบุว่า นายฮุน มาเนต พร้อมด้วยภริยา และคณะเดินทางมาเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยผู้นำของทั้งสองประเทศจะมีกำหนดการทำกิจกรรมสำคัญร่วมกันหลายอย่าง

การพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี การร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยกับกัมพูชา การแถลงข่าวร่วมงานเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันอย่างเป็นทางการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและภริยาเป็นเจ้าภาพ การพบหารือกับประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา รวมทั้งการเป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนาภาคธุรกิจไทยและกัมพูชานายชัย กล่าว

สำหรับการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ดร. ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระ ด้านความมั่นคงและการต่างประเทศชี้ว่า เป็นโอกาสดีที่ผู้นำคนใหม่ของทั้งสองประเทศจะได้กระชับความสัมพันธ์ 

ไทยถือเป็นคู่ค้าลำดับต้นของกัมพูชา มูลค่าการค้าก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราได้เปรียบดุลการค้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะเพิ่มดุลการค้าให้มากขึ้นถึง 1.5 หมื่นล้านบาทในปีหน้า นอกจากจะเป็นการแนะนำตัวแล้ว เชื่อว่าต้องการกระชับการลงทุน เพื่อแก้ไขปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และเชื่อว่าจะมีการพูดคุยเรื่องการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติดร. ปณิธาน กล่าว

ดร. ปณิธาน ชี้ว่า ไทยอาจจะใช้โอกาสนี้พูดคุย เพื่อนำไปสู่การตกลงการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกัน ประมาณ 2.60 หมื่นตารางกิโลเมตรในอ่าวไทย ซึ่งเชื่อว่า ปิโตรเลียมมูลค่ามหาศาลที่รอการขุดค้น

เรื่องการพิพาทเขตแดนอาจจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุดในมุมมองของหลายฝ่ายว่า เพราะนายกฯ ใหม่ของทั้งสองประเทศน่าจะมีความต้องการในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาททั้งทางบกและทางทะเล มีโอกาสที่จะเจรจา อาจมีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน หรือสร้างพื้นที่พัฒนาร่วมกัน โดยใช้โมเดลของมาเลเซียที่เคยทำมาก่อนแล้วดร. ปณิธาน กล่าว

ในขณะเดียวกัน นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ สส. ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ก็เปิดเผยว่าได้ขอให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เจรจากับกัมพูชาเรื่องการเปิดประตูขึ้นเขาพระวิหาร ที่ผามออีแดง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ด้วย

ท่านนายกฯ ก็รับทราบ และรับปากว่าจะนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนจะนำขึ้นหารือกับท่านนายกฮุนมาเนตไหม ก็ขึ้นอยู่กับท่าน เบื้องต้นเราก็เสนอให้ท่านรับทราบ ผลเป็นอย่างไรเราก็ต้องติดตามต่อ และผลักดันจนกว่าเราจะได้ผล และพี่น้องชาวศรีสะเกษต้องการนายภูมินทร์ กล่าว

เราดูตัวเลขเดิมสมัยที่เปิดทางขึ้นผามออีแดง ปีนึงมีคนเดินทางมา 7-8 แสนคน แต่หลังเกิดความขัดแย้ง ปิดทางขึ้น มีคนที่เยี่ยมชมจากจุดผามออีแดงแค่แสนกว่าคน ตัวเลขมันต่างกันเยอะ ดังนั้นถ้าเปิดทางขึ้นได้ ยังไงเศรษฐกิจมันก็ต้องดีขึ้นแน่ เพราะคนที่เขามาก็ต้องซื้อข้าวของ มันก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ให้พื้นที่ได้นายภูมินทร์ กล่าวเพิ่มเติม

นายฮุน มาเนต ปัจจุบัน อายุ 44 ปี เป็นบุตรคนที่สองของนายฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กับนางบุนรานี จบการศึกษาจากวิทยาลัยกองทัพบก สหรัฐอเมริกา เมืองเวสต์พอยต์ รัฐนิวยอร์ก และจบปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบริสตอล อังกฤษ หลังจบการศึกษาได้เข้ารับราชการเป็นทหาร กระทั่งได้รับยศพลเอก และถูกแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก กัมพูชา และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในปี 2562 

240205-th-cambodian-pm-hun-manet-visits-2.jpeg

นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ขณะร่วมตรวจทหาร ในพิธีฉลองครบรอบ 25 ปี ของการก่อตั้งกองทัพกัมพูชาในพนมเปญ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 (เอเอฟพี)

ต่อมาในปี 2566 ในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม นายฮุน มาเนต ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. พนมเปญ พรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งมีนายฮุน เซน เป็นประธานพรรค นายฮุน มาเนตได้รับเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2566 ต่อจากบิดาซึ่งครองอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรียาวนานถึง 38 ปี 

ไทย-กัมพูชา เคยมีปัญหาขัดแย้งกันเรื่องเขตแดน บริเวณประสาทพระวิหารพื้นที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และ จ.พระวิหาร ของกัมพูชา ตั้งแต่ ปี 2501 กระทั่งสองประเทศได้นำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การตัดสินของ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปีถัดมา 

ปี 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และไทยต้องคืนวัตถุโบราณ แผ่นศิลาจารึก รวมถึงรูปเคารพ และเครื่องปั้นดินเผาจากเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยพยายามคัดค้านคำตัดสินดังกล่าว และยังมีความขัดแย้งกันโดยตลอด

ปี 2554 กัมพูชา นำประเด็นเดิมเข้าสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอีกครั้ง กระทั่ง ปี 2556 ศาลตัดสินว่า ศาลพิจารณาเฉพาะเรื่องตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา ไม่รับพิจารณาเรื่องเส้นเขตแดนของสองประเทศ ซึ่งมีพื้นที่พิพาทประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่แนะนำให้ทั้งสองประเทศร่วมกันพัฒนาปราสาทพระวิหารในฐานะมรดกโลก

นักกิจกรรมเขมรถูกจับก่อนการเยือนของ ฮุน มาเนต

นักกิจกรรมชาวกัมพูชา 3 ราย ถูกจับกุมตัวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ นายฮุน มาเนต ในฐานะนายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนใหม่ ด้านนักสิทธิมนุษยชนกล่าว รัฐบาลพลเรือนของไทยควรยุติการจับกุมนักกิจกรรม แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทหาร

ผมกลัวว่า ผมจะถูกส่งกลับไปกัมพูชา พรรค (ประชาชนกัมพูชา รู้เห็นเรื่องการจัมกุมครั้งนี้แน่ เพราะตำรวจพยายามถามรายละเอียดเกี่ยวกับนักกิจกรรมคนอื่นนายพัน พะนา กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย ก่อนโทรศัพท์จะถูกยึดในวันศุกร์ 

เรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์รายงานว่า นักกิจกรรมอย่างน้อย 3 คน ประกอบด้วย นายพัน พะนา, นายเลม โสกา และนายกง ไรยา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยควบคุมตัวเมื่อวันศุกร์ แม้ทั้งหมดจะมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

รัฐบาลกัมพูชาโกรธมาก ผมเลยโดนจับนายกง กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย

นายกง ให้ข้อมูลกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า ตนเองถูกพาตัวไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยเชื่อว่า รัฐบาลกัมพูชาอยู่เบื้องหลังการจับกุม โดยติดตามที่อยู่ของนักกิจกรรมจากโทรศัพท์มือถือ รวมถึงประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยในการจับกุมครั้งนี้ 

รายงานข่าวยังระบุอีกว่า สมาชิกครอบครัวของ นายพัน และนายกง ซึ่งมีลูก และภรรยา ก็ถูกจับกุมตัวด้วยเช่นกัน

เบนาร์นิวส์ พยายามสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจับกุมครั้งนี้ กับ พล.ต.ต. อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) และ พล.ต.ต. เชิงรณ ริมผดี โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ 

ประเด็นการจับกุมตัว นักกิจกรรมครั้งนี้ นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้ว่า “รัฐบาลไทยไม่ควรจับนักกิจกรรม และควรปล่อยตัวให้ทั้งหมดได้ไปประเทศที่สาม การจับกุมครอบครัวคนเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิครอบครัวและเด็กด้วย” 

รัฐบาลประชาธิปไตย ไม่ควรทำเหมือนกับรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ฮุน มาเนต จะมาเยือนเมืองไทย ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะจับกุมเพื่อเป็นการเอาใจรัฐบาลกัมพูชานายฟิล โรเบิร์ตสัน กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นายเลม โสภา อายุ 45 ปี เป็นรองประธานคณะกรรมการผู้ลี้ภัยกัมพูชา อาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 นายพัน พะนา อายุ 41 ปี เป็นสมาชิกกลุ่มเครือข่ายเยาวชนกัมพูชา อาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565 ขณะที่นายกง ไรยา อายุ 32 ปี เคยเป็นสมาชิกพรรครัฐบาลของกัมพูชา และพรรคแสงเทียน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ก่อนที่จะหลบหนีมาอยู่ในประเทศไทยเมื่อปี 2566 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยก็ถูกวิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งกลับผู้ลี้ภัย หรือผู้ขอลี้ภัยที่หลบหนีคดี หรือการคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน ในเดือนมกราคม 2565 นายคูคำ แก้วมะนีวง อดีตนักเคลื่อนไหวกลุ่มลาวเสรี ซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากยูเอ็นเอชซีอาร์ ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในข้อหาอยู่ในประเทศไทยโดยวีซ่าหมดอายุ กระทั่งได้รับการช่วยเหลือจากนักสิทธิมนุษยชน 

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัว และส่งตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน 2 คน กลับประเทศกัมพูชา หลังจากที่ นายฮุน เซน มีคำสั่งให้ควบคุมตัว 1 ใน 2 นักเคลื่อนไหวนั้นจากการเขียนกลอนวิจารณ์ตัวนายฮุน เซน บนเฟซบุ๊ก

ในปี 2562 นายอ๊อด ไซยะวง นักเคลื่อนไหวกลุ่มลาวเสรี อายุ 34 ปี หายตัวไปอย่างลึกลับขณะลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย ก่อนการหายตัว นายอ๊อดได้โพสต์คลิปวิจารณ์รัฐบาลลาว จนถึงปัจจุบัน นายอ๊อดยังมีสถานะเป็นบุคคลสาบสูญ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง