เศรษฐา-ฮุน มาเนตจับมือปราบปรามนักกิจกรรมการเมืองข้ามประเทศ

นนทรัฐ​ ไผ่เจริญ
2024.02.07
กรุงเทพฯ
เศรษฐา-ฮุน มาเนตจับมือปราบปรามนักกิจกรรมการเมืองข้ามประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก่อนเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567
สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แถลงข่าวหลังการหารือร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพุธนี้ว่า ไทย-กัมพูชา จะร่วมมือป้องกันไม่ให้นักเคลื่อนไหวใช้พื้นที่ของแต่ละประเทศทำกิจกรรมทางการเมืองที่กระทบความสัมพันธ์สองประเทศ ทั้งยังระบุว่า จะร่วมกันสำรวจแหล่งพลังงานธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลด้วย 

“ผมได้ยืนยันกับท่านนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ว่ารัฐบาลไทยจะไม่อนุญาตให้ใครมาใช้พื้นที่ประเทศไทยทำกิจกรรมที่กระทบต่อกิจการภายในของกัมพูชา หรือกระทบความสัมพันธ์ระหว่างเราสองประเทศ เราจะดำเนินแนวทาง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับเรื่องนี้” นายเศรษฐา กล่าวในการแถลงข่าว 

เช่นเดียวกัน นายฮุน มาเนต กล่าวว่า “ขอขอบคุณที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจว่า จะไม่อนุญาตให้ใช้แผ่นดินไทยในการจัดกิจกรรมที่กระทบกิจการภายใน และการเมืองของกัมพูชา เช่นเดียวกัน รัฐบาลกัมพูชาขอให้คำมั่นว่า จะไม่อนุญาตให้ใครใช้แผ่นดินกัมพูชาในการทำกิจกรรมที่กระทบกิจการภายในของไทยด้วยเช่นกัน” 

นักกิจกรรมเขมรหลายรายถูกจับในไทย

นายฮุน มาเนต พร้อมด้วยภริยา และคณะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 โดยสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันพุธ มีนักกิจกรรมชาวกัมพูชาอย่างน้อย 5 คน พร้อมสมาชิกครอบครัว ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย แม้ว่าพวกเขาจะมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

นักกิจกรรม 3 คน ที่ถูกจับเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาประกอบด้วย นายเลม โสภา อายุ 45 ปี เป็นรองประธานคณะกรรมการผู้ลี้ภัยกัมพูชา อาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 นายพัน พะนา อายุ 41 ปี เป็นสมาชิกกลุ่มเครือข่ายเยาวชนกัมพูชา อาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565 ขณะที่ นายกง ไรยา อายุ 32 ปี เคยเป็นสมาชิกพรรครัฐบาลของกัมพูชา และพรรคแสงเทียน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ก่อนที่จะหลบหนีมาอยู่ในประเทศไทยเมื่อปี 2566

ขณะที่ อีก 2 คน นายชอน โซ๊ะเคือน และนายชอน ชนเน ถูกจับในวันพุธนี้ในกรุงเทพฯ หลังจากประกาศว่าจะจัดกิจกรรมชุมนุมของ แรงงานกัมพูชากว่า 300 คน เรียกร้องให้นายฮุน มาเนต หยุดการคุกคามผู้ลี้ภัย และปล่อยตัวผู้ลี้ภัยทางการเมือง รวมถึงแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาในประเทศไทย 

“ผมไม่กลัวโดนจับหรอก เพราะผมกำลังต่อสู้เพื่อเสรีภาพ” นายชอน โซ๊ะเคือน กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย เมื่อวันอังคาร หนึ่งวันก่อนที่จะถูกจับตัว 

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์ หลังการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำกัมพูชาคนใหม่

“ฮุน มาเนต ใช้วิธีการที่แข็งกร้าวกว่าบิดาของเขาเสียอีก ในการปกครองแบบเผด็จการและการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิ เป็นเรื่องน่าละอายอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยชุดใหม่ ให้ความร่วมมือกับการกระทำที่เลวร้ายเหล่านี้ โดยการจับกุมผู้ลี้ภัยกัมพูชาที่หนีจากรัฐบาลของฮุน มาเนต” นายโรเบิร์ตสัน กล่าว 

“ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ควรถูกปล่อยตัวทันทีและไม่มีเงื่อนไข และได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยไปอยู่ในประเทศที่สาม หากนั่นคือ สิ่งที่พวกเขาต้องการ ผู้นำไทยควรตระหนักว่าการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ส่งเสริมการค้าและการลงทุน และทำข้อตกลงก๊าซธรรมชาติเท่านั้น” รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์  ระบุ 

เบนาร์นิวส์ พยายามสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจับกุมครั้งนี้ กับ พล.ต.ต. อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) และ พล.ต.ต. เชิงรณ ริมผดี โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่ทั้งคู่ไม่สะดวกให้ข้อมูล 

ก่อนหน้านี้ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวอุบลราชธานี อายุ 37 ปี นักกิจกรรมซึ่งมักวิจารณ์รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ในปี 2557 และคดีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มบุคคลติดอาวุธ จากหน้าคอนโดมิเนียมในกรุงพนมเปญ กัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 การลักพาตัวนายวันเฉลิม ถูกบันทึกไว้ด้วยภาพจากกล้องวงจรปิด แต่รัฐบาลของทั้งสองประเทศกลับไม่สามารถจับกุมตัวผู้ลักพาตัวนายวันเฉลิมได้ ทำให้จนถึงปัจจุบันนี้ นายวันเฉลิมยังคงเป็นบุคคลสาบสูญ

ร่วมแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ 

นายเศรษฐา เปิดเผยว่า ทั้งสองประเทศจะพยายามแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติร่วมกัน

“เราตกลงจะยกระดับความสัมพันธ์สองประเทศให้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้สองประเทศได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ยกระดับการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขบวนการหลอกลวงไซเบอร์ เราจะเร่งยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ” 

หลังการหารือทั้งสองประเทศยังได้ทำบันทึกข้อตกลง 5 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย 1. ความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉินระหว่างไทยกับกัมพูชา 2. ความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี 3. ความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา 

4. ความเข้าใจระหว่าง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา และ 5. ความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา 

ในการหารือทั้งสองประเทศยังได้ปรึกษากันเรื่องการพัฒนาการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์, ยกระดับความมั่นคงชายแดน โดยการร่วมกันเก็บกู้วัตถุระเบิดตกค้างใกล้ชายแดน, ยกระดับการค้าร่วมกัน, ไทยสัญญาว่าจะดูแลแรงงานกัมพูชาอย่างดี, สองประเทศจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งเรื่องการท่องเที่ยว, ร่วมกันแก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน, รวมถึงมุ่งให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และสันติสุขในประเทศเมียนมา 

AP24038209575303.jpg
นายเศรษฐา ทวีสิน และนายฮุน มาเนต (กลางขวา) นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตรวจแถวทหารระหว่างพิธีต้อนรับที่ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 (สำนักงานโฆษกรัฐบาล/เอพี)
ตกลงร่วมสำรวจก๊าซธรรมชาติในพื้นทับซ้อน 

นายฮุน มาเนต ได้เปิดเผยว่า สองประเทศตกลงที่จะสำรวจพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลร่วมกัน เพื่อผลประโยชน์ และความยั่งยืนทางพลังงาน

“เราได้หารือเรื่องสำคัญคือ การค้นหาและพิจารณาเรื่องความยั่งยืนทางพลังงงานระหว่างสองประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ธรรมชาติโลก เรื่องนี้จะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับความยั่งยืนของการพัฒนาของสองประเทศ ผมเห็นด้วยให้มีคณะทำงานร่วมด้านเทคนิคที่จะค้นหาและหารือถึงความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้ทราบผลในอนาคตอันใกล้ และประเทศของเราจะมีผลประโยชน์ร่วมกัน” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระบุ 

ต่อประเด็นนี้ ดร. เอนกชัย เรืองรัตนากร อาจารย์พิเศษ สาขารัฐศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชี้ว่า การกลับมาร่วมมือสำรวจและพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมของทั้งสองประเทศ 

“ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นความร่วมมือที่เหมาะสมในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และรูปแบบการเจรจาแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และไม่เกิดความขัดแย้ง น่าจะส่งผลดีกับทุกฝ่าย ซึ่งเชื่อว่า คุณเศรษฐาพยายามเดินตามรอยรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร ในตอนนั้นคุณทักษิณก็พยายามแก้ไขด้วยการเจรจาทั้งสองฝ่ายเพื่อผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งในตอนนั้นเป็นเรื่องเขาพระวิหาร” ดร. เอนกชัย กล่าว

ประเด็นปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เริ่มต้นขึ้นในปี 2513 เมื่อกัมพูชาอ้างเขตพื้นที่ไหล่ทวีปไทย ขณะที่ รัฐบาลไทยจะแย้งว่า สิ่งที่กัมพูชาอ้างขัดกับอนุสัญญาเจนีวา 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982 ไทยจึงไม่ยอมรับการอ้างของกัมพูชา 

รัฐบาลไทย ยืนยันสิทธิในพื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าว เนื้อที่ประมาณ 2.60 หมื่นตารางกิโลเมตร กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งมีการประเมินว่า มีก๊าซธรรมชาติ 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมันอีก 500 ล้านบาร์เรล มูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท 

ในปี 2544 สองประเทศมีการทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน โดยระบุว่า 1. ทั้งสองประเทศจะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมร่วมกัน และ 2. ตกลงใช้เส้นละติจูด 11 องศา เป็นเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล อย่างไรก็ตามสถานการณ์การเมืองทำให้ทั้งสองประเทศขัดแย้ง และไทยบอกเลิกข้อตกลงดังกล่าว กระทั่งนายกรัฐมนตรีใหม่ของทั้งสองประเทศกลับมาตกลงอีกครั้งในปี 2567

จรณ์ ปรีชาวงศ์ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง