นายกฯ ใส่เกียร์ถอยดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติด มุ่งใช้ พรบ. คุมแทน
2024.07.23
กรุงเทพฯ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยในวันอังคารนี้ว่า ได้หารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จนได้ข้อสรุปแล้วว่า รัฐบาลจะไม่ดึงกัญชากลับไปขึ้นบัญชียาเสพติด แต่จะใช้การออกพระราชบัญญัติ (พรบ.) สำหรับการควบคุมการใช้กัญชาแทน นักวิชาการตีความ เพื่อไทยยอมถอย เพราะภูมิใจไทยอำนาจต่อรองสูงขึ้น หลังได้ สว. ชุดใหม่
“กราบขอบคุณท่านนายกฯ ที่พิจารณาเรื่องนี้แล้วตัดสินใจว่าให้ออกเป็น พรบ. ก็ต้องหารือกัน ทั้งกับท่านภูมิธรรม (เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี) และกับนายแพทย์พรหมมินทร์ (เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ด้วย ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร แต่ในสภามีร่างของภูมิใจไทยไว้อยู่แล้ว เป็นไปตามขั้นตอน นี่ก็เป็นบัญชานายกฯ นะ” นายอนุทิน กล่าว
ก่อนหน้านี้ กัญชานับเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งหากครอบครองหรือเสพจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 1 แสนบาท ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลได้แก้ไข พรบ. ยาเสพติดให้โทษ โดยถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ตามการผลักดันของนายอนุทิน และพรรคภูมิใจไทย
ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ก็มีมติให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดโดยสิ้นเชิง โดยมีผลในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ทำให้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม สารสกัดจากกัญชา-กัญชง ซึ่งมีสาร THC มากกว่า 0.2% ยังผิดกฎหมาย โดย สส. พรรคภูมิใจไทยพยายามผลักดันให้ใช้ พรบ. กัญชง-กัญชา เพื่อควบคุมการใช้แต่ยังไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2567 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าจะนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด และให้ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น กลายเป็นที่จับตาว่า พรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันจะขัดแย้งกันหรือไม่จากแนวทางดังกล่าว ขณะที่ภาคประชาชนก็ออกมาต่อต้านแนวคิดของรัฐบาล
“เราขอใช้อารยะขัดขืนเพื่อแสดงเจตนาอันแน่วแน่ให้รัฐไต่สวนก่อนการพิพากษากัญชา เราจะใช้ความอดทนขั้นสูงสุดเพื่อบอกกับสาธารณะว่า กัญชาสามารถควบคุมโดยกฎหมายปกติ จึงขอประท้วงต่อการกระทำของรัฐด้วยการ 'อดอาหาร' จนกว่ารัฐจะยอมไต่สวนก่อนการพิพากษา” เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยออกแถลงการณ์ เมื่อก่อนกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และประกาศอดอาหารจนกว่ารัฐบาลจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวใหม่
นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายฯ ระบุว่า เครือข่ายเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาวิจัย 4 ประเด็น ดังนี้ 1. กัญชามีผลร้ายในมิติสุขภาพมากกว่าบุหรี่ และแอลกอฮอล์ หรือไม่ 2. กัญชาก่อผลร้ายในมิติทางสังคมช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาร้ายแรงกว่าบุหรี่ และแอลกอฮอล์ หรือไม่ 3. คุณสมบัติในการรักษาโรคในกัญชา ดีกว่าบุหรี่ และแอลกอฮอล์ หรือไม่ และ 4. กัญชาก่อให้เกิดโรคทางจิตเวช และทำลายสมองเยาวชน หรือไม่
ล่าสุด เครือข่ายฯ ก็ได้ออกแถลงการณ์ใหม่ ขอบคุณนายเศรษฐาที่พิจารณาข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ และเรียกร้องให้ประชาชน และผู้นิยมกัญชาจับตาการออกกฎหมายควบคุมกัญชาหลังจากนี้
“ขอบคุณนายกรัฐมนตรี และผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายที่เห็นแก่ข้อเท็จจริงรอบด้าน สั่งให้การควบคุมกัญชากระทำโดยการใช้กฎหมายพระราชบัญญัติ อีกทั้งขอบคุณพรรคภูมิใจไทยที่ยืนหยัดปกป้องนโยบายกัญชา เพื่อให้การควบคุมกัญชาเป็นไปภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติกัญชา” เครือข่ายฯ ระบุ
เมื่อสัปดาห์ก่อน นายอนุทินเองได้ประกาศจุดยืนว่า จะไม่สนับสนุนการนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด โดยระบุว่า ตนเองจะออกเสียงค้านในการประชุม ป.ป.ส. หากมีการพิจารณาเกิดขึ้น
“ผมก็ต้องแจ้งให้นายกฯ ทราบก่อนว่า ผมไม่สามารถให้ความเห็นชอบให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดได้ เพราะยังมีอะไรที่ไม่สมบูรณ์อยู่ กรรมการที่เคยเอากัญชาออกจากยาเสพติด และกรรมการที่ตั้งเรื่องเพื่อที่จะดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดก็เป็นชุดเดียวกัน และกรรมการ ป.ป.ส. ชุดนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นชุดเดียวกันอยู่ ดังนั้น ควรจะมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นในการตัดสินใจเรื่องสำคัญเช่นนี้” นายอนุทิน กล่าวกับสื่อมวลชน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถูกตีความเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีภาพนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อไทยไปร่วมตีกอล์ฟกับนายอนุทิน ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากสื่อมวลชนว่า นายทักษิณเป็นผู้ช่วยนายอนุทินเจรจาเรื่องกัญชากับนายเศรษฐาหรือไม่ ซึ่งนายอนุทินปฏิเสธ
“ไม่มี ไม่ต้องเคลียร์ ของแค่นี้ เคลียร์เองไม่ได้เหรอ เรื่องกัญชาเป็นเรื่องของ ป.ป.ส. กระทรวงสาธารณสุข เท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลด้วยซ้ำ” นายอนุทิน กล่าวในวันอังคารนี้
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ชี้ว่า ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า พรรคภูมิใจไทยมีอำนาจต่อรองสูงมากในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่า พรรคมีความสัมพันธ์อันดีกับประธานวุฒิสภา และ สว. ชุดใหม่
“เป็นเรื่องการเมืองแน่นอน เพราะเมื่ออาทิตย์ที่แล้วคุณอนุทินพูดเองว่า ไม่สบายใจที่จะเอากัญชากลับเป็นยาเสพติด แป๊บเดียวคุณทักษิณก็ไปตีกอล์ฟด้วยเลย แบบนี้ในพรรคเพื่อไทยใครจะกล้าหือ ต้องยอมรับว่าตอนนี้ สีน้ำเงิน (ภูมิใจไทย) ขี่สีแดง (เพื่อไทย) อยู่ เพราะรัฐมนตรีต้องกลัวองค์กรอิสระ (ซึ่งแต่งตั้งโดย สว.) กลัวการเรียกไปตอบกระทู้สดของ สว.” ผศ.ดร. ธนพร กล่าว
สำหรับ พรบ. กัญชง-กัญชา ที่พรรคภูมิใจไทยพยายามผลักดัน และผ่านความเห็นชอบของ สภาผู้แทนราษฎรวาระแรก ในเดือนมิถุนายน 2565 มีเนื้อหาโดยสรุป คือ 1. จะมีคณะกรรมการเฉพาะคอยกำกับดูแลการใช้งาน 2. การผลิต นำเข้า และส่งออก หรือขายต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้มีอำนาจ และมีโทษทางอาญาหากฝ่าฝืน 3. การปลูกต้องมีการขอจดแจ้ง
4. ต้องมีการกำหนดค่าธรรมเนียมการขออนุญาต 5. ห้ามขายให้กับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และให้นมบุตร ยกเว้น มีใบอนุญาตจากแพทย์ 6. เจ้าพนักงานมีอำนาจยึด และตรวจสอบสถานที่หากต้องสงสัยว่ามีการทำผิดเกี่ยวกับกัญชา-กัญชงได้ และ 7. บทเฉพาะกาล 5 ปี หลังจากกฎหมายบังคับใช้ ให้นำเข้ากัญชง-กัญชา ได้เฉพาะเพื่อการแพทย์ ประโยชน์ทางราชการ และการศึกษาเท่านั้น