ผบ.ทร. ชะลอแผนซื้อเรือดำน้ำจีนสองลำ ในปีงบประมาณ 65

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2021.07.19
กรุงเทพฯ
ผบ.ทร. ชะลอแผนซื้อเรือดำน้ำจีนสองลำ ในปีงบประมาณ 65 โมเดลจำลองเรือดำน้ำแบบต่าง ๆ ที่บริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำมาแสดงในงาน Defense and Security 2017 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

กองทัพเรือ ได้ประกาศถอนวาระการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนสองลำออกไปก่อน ในระหว่างการประชุมกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในวันจันทร์นี้ โดยทางกองทัพเรือให้เหตุผลว่า เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตที่เกิดจากโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยโฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 กล่าวว่าจะตัดสินใจในวันพฤหัสบดี ที่ 22 นี้ ว่าจะมีการปรับลดรายการหรือไม่

พล.ร.อ. ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ประชุมกับกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 โดยในวันนี้ เป็นการพิจารณาในส่วนของกระทรวงกลาโหม ซึ่งในส่วนของกองทัพเรือเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำแบบ S-26T ที่ดัดแปลงมาจากชั้นหยวน (Yuan Class หรือ Type 039B) จากบริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd.) ในล็อตลำที่สองและสาม ในวงเงิน 22,500 ล้านบาท

“ขอถอนวาระการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ ออกจากการประชุม” พล.ร.อ. ชาติชาย กล่าวในช่วงต้นของการประชุมผ่านระบบวิดิโอ

ต่อมา พลเรือเอก เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ ได้แถลงรายละเอียดในเรื่องนี้ว่า ทางกองทัพเรือไม่ขอรับการจัดสรรงบประมาณของโครงการฯ ซึ่งก่อนหน้านี้กองทัพเรือได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการนี้นั้นเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือในการปกป้องอธิปไตยทางทะเล การคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาลกว่า 22.89 ล้านล้านบาท

“จากสถานการณ์วิกฤตดังกล่าวที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตามลำดับ และส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก จึงทำให้กองทัพเรือได้พิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อหาหนทางปฏิบัติที่มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง จึงขอชะลอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 ไปก่อน โดยไม่ขอรับการจัดสรรงบประมาณของโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และลำที่ 3 ซึ่งปรากฏรายการอยู่ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565” โฆษกกองทัพเรือ ระบุ

พล.ร.อ. เชษฐา กล่าวอีกว่า โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำนี้เป็นแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ที่รัฐบาลจีนให้ความช่วยเหลือทางทหารหลายรายการ จึงอาจส่งผลกระทบบางประการที่กองทัพเรือจะต้องไปดำเนินการเจรจากับรัฐบาลจีน เพื่อสร้างความเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นของการชะลอโครงการดังกล่าว

โฆษกกองทัพเรือ ให้รายละเอียดอีกว่า เงื่อนไขในการซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ครอบคลุมการวางเงินงวดแรก จำนวน 900 ล้านบาท และมีงบผูกพันรวม 6 ปี

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (18 ก.ค.) พล.ท. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีกว่ากระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้กองทัพเรือพิจารณาถอนแผนงานงบประมาณโครงการเรือดำน้ำออกไปก่อน โดยให้หารือกับกระทรวงกลาโหมของจีน ถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขอชะลอโครงการในปีนี้ว่า เป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นและกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง

การชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สามแล้ว นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 โดยกองทัพเรือได้ส่งคืนงบประมาณจำนวน 3,375 ล้านบาท และ และ 3,425 ล้านบาท ในปี 2563 และปี 2564 ตามลำดับ เพื่อให้รัฐบาลได้นำเงินไปใช้ในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พล.ท. คงชีพ ระบุ

แหล่งข่าวราชนาวีระบุว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 กองทัพเรือไทย และบริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd.) ได้ตกลงในการจ้างสร้างเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า แบบ S-26T ราคา 13,500 ล้านบาท ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล และได้ลงนาม ณ อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และได้มีการพิธีตัดแผ่นเหล็กเริ่มการก่อสร้างเรือดำน้ำลำแรกไปแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2561

ฝ่ายค้านอยากให้ยกเลิกโครงการ

อย่างไรก็ตาม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2565 กล่าวว่า แม้กองทัพเรือแจ้งขอถอนวาระจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ของเรือดำน้ำที่ไม่ได้ถอนตามไปด้วย อาทิ การสร้างท่าเทียบเรือดำน้ำ และโรงซ่อมเรือดำน้ำ ที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาท

ด้าน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่กองทัพเรือถอนวาระครั้งนี้ เป็นเพียงการเลื่อนการจัดซื้อออกไปเป็นปีหน้า แต่ฝ่ายค้านต้องการให้ยกเลิกการจัดซื้อไปเลย รวมถึงการยกเลิกงบประมาณของกองทัพเรือที่ขอจัดซื้อโดรนป้องกันชายฝั่ง มูลค่า 4,500ล้านบาท และโครงการสร้างระบบวิทยุสื่อสารเรือดำน้ำมูลค่า 300 ล้านบาท ที่เป็นออปชั่นมากับเรือดำน้ำในงบรายจ่ายปี 2565 ควรถูกตัดทิ้งไปทั้งหมดด้วย เพราะประเทศกำลังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ประชาชนกำลังเดือดร้อน

“ผมจะเสนอให้โหวตในที่ประชุม ตัดงบฯ ทั้งสองส่วนนี้ทิ้ง ไม่จำเป็นต้องไปพิจารณาในชั้นอนุกรรมาธิการอีก เพราะไม่มีความจำเป็นต้องจัดซื้อในสถานการณ์เช่นนี้ หากรวมมูลค่าทั้งเรือดำน้ำและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข้อง จะมีมูลค่ารวมถึง 45,000 ล้านบาท จึงต้องตัดทิ้งทั้งหมด” นายยุทธพงศ์ ระบุ

นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส. ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษก กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 กล่าวว่า วันที่จะตัดสินใจกันจริง ๆ ว่าจะมีการปรับลดรายการหรือไม่ จะเกิดขึ้นในห้องอนุกรรมาธิการ ครุภัณฑ์ และไอซีที ในวันพฤหัสบดี ที่ 22 นี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง