เร่งช่วยคนงานจีน-เมียนมา 3 คน เหตุอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่มที่โคราช

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.08.26
กรุงเทพฯ
เร่งช่วยคนงานจีน-เมียนมา 3 คน เหตุอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่มที่โคราช เกิดเหตุดินทรุดตัวภายในอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ ช่วงคลองขนานจิต ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 วันที่ 25 สิงหาคม 2567
Handout/การรถไฟแห่งประเทศไทย

ในช่วงดึกของวันเสาร์ต่อเนื่องวันอาทิตย์ เกิดเหตุอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่มช่วงคลองขนานจิต ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทำให้มีวิศวกรชาวจีนสองคน และคนงานชาวเมียนมาหนึ่งคนติดอยู่ภายใน ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งช่วยเหลือ ด้านกระทรวงคมนาคมระบุว่า เตรียมตรวจประวัติผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างของรัฐเพิ่มในอนาคต เพื่อป้องกันอุบัติเหตุระหว่างก่อสร้าง

“ตอนนี้ จังหวัดได้ดำเนินการเรื่องสายการแพทย์ และการจัดตั้งศูนย์อำนวยการในพื้นที่ โดยเมื่อวานได้มีการตั้งเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ ได้ดันท่อขนาด 1.2 เมตรเข้าไปในอุโมงค์ประมาณ 2-3 ท่อแล้ว แต่ยังไม่ตรงจุดกับที่ผู้ประสบภัยอยู่ กำลังดำเนินการหาจุดที่ผู้ประสบภัยอยู่ และช่วยเหลือมาให้ได้” นายกิตติศักดิ์  ธีระวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวกับสื่อมวลชนในวันจันทร์นี้

ขณะที่ นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง ยืนยันว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นผู้ประสบภัยทั้งสามรายน่าจะยังมีชีวิตอยู่

“ได้ทำการติดตั้งเครื่องมือ แล้วก็ดำเนินการสแกนสัญญาณชีพ แล้วก็ได้พบว่า ยังมีสัญญาณชีพของผู้รอดชีวิตอยู่ ทางทีมงานก็ได้มีการประชุมหารือกันให้มีการช่วยเหลือ” นายคณัสชนม์ กล่าว

เหตุอุโมงค์ถล่มดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ในอุโมงค์ซึ่งมีขนาดความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ในพื้นที่ ต.จันทึก อ.ปากช่อง จุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากปากอุโมงค์ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร 

มีผู้ประสบภัย 3 คนประกอบด้วย 1. นายหู เสียง หมิ่น วิศวกรผู้ควบคุมงาน ชาวจีน 2. นายตง ชิ่น หลิน คนขับรถขุด ชาวจีน และ 3. คนขับรถบรรทุกชาวเมียนมาเพศชาย (ยังไม่ทราบชื่อและนามสกุล) 

“คืนวันเสาร์ที่ 24 ภูเขาหินทรายมันไหลลงมา ทำให้ผู้สูญหายสามคนติดอยู่ข้างในอุโมงค์ ความลึกไกลจากอุโมงค์สัก 1.5 กิโลเมตร เบื้องต้น หลังจากเกิดเหตุมีการขุดทรายออกมา เพื่อเข้าไปถึงผู้เสียหาย ขุดแล้วทรายก็ยังไหลลงมาอีก เรากำลังระดมคนและเครื่องมือช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด เหตุการณ์ตรงนี้ยังอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง ไม่กระทบต่อพี่น้องประชาชนทั่วไป ผู้สูญหายทั้งสามคนเป็นพนักงานก่อสร้างของโครงการ” นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าว

240826-th-ch-tunnel-2.jpg
สภาพภายในอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ ซึ่งเป็นอยู่ระหว่างการก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา วันที่ 25 สิงหาคม 2567 (Handout/การรถไฟแห่งประเทศไทย)

โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน โดยไทยออกงบประมาณก่อสร้าง 1.79 แสนล้านบาท เริ่มต้นก่อสร้างในปี 2560 โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เส้นทางและสายแถบ (One Belt, One Road) ของจีน มีเป้าหมายเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงของลาว

การก่อสร้างแบ่งเป็น 4 ช่วง 1. กลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. 2. ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม. 3. แก่งคอย-โคราช 138.5 กม. และ 4. กรุงเทพฯ-แก่งคอย 133 กม. เบื้องต้น คาดให้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 แต่มีความล่าช้าในการก่อสร้าง สำหรับโครงการช่วงที่มีการถล่ม เป็นส่วนรับผิดชอบของ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) 

หลังเหตุอุโมงค์ถล่ม นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุมภ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เดินทางไปยังที่เกิดเหตุ และประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นระบุว่า ได้วางแผนการช่วยเหลือไว้หมดแล้ว

“ทางวิศวกรแนะนำว่า ควรจะทำสองอันคือ หนึ่ง ดันท่อใส่อากาศแล้วก็ดูดอากาศออกเพื่อให้ผู้ที่ติดอยู่ข้างในได้มีอากาศหายใจ สอง ดันท่อ 1.20 เมตร เพื่อให้คนสามารถเข้าไปทำงานได้ กรณีพบผู้รอดชีวิตก็จะลำเลียงทางท่อ ถ้าพบผู้รอดชีวิตปั๊บ เราจะเอารถกู้ชีพไปรับที่ในอุโมงค์ พอรับเสร็จให้เอาออกมาที่สถานีคลองขนานจิต” นายชัยวัฒน์ กล่าว

โครงการรถไฟความเร็วสูงจะใช้รถไฟรุ่นฟู่ซิ่งเฮ่า ผลิตโดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น (CRCC) ออกแบบให้มีอายุใช้งาน 30 ปี โดย 1 ขบวน มีตู้รถไฟ 8 ตู้ เป็นชั้นธุรกิจ 2 ตู้, ชั้นปกติ 4 ตู้, และชั้นปกติที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ตู้ และตู้สำหรับรับประทานอาหาร 1 ตู้ มีจำนวนที่นั่งรวม 594 ที่นั่ง แยกเป็นชั้นธุรกิจ 96 ที่นั่ง และชั้นปกติ 498 ที่นั่ง รถไฟมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน

ให้บริการ 6 สถานี ประกอบด้วย บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา เบื้องต้น ในหนึ่งวันจะให้บริการ 6 ขบวน โดยใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาเพียง 1.17 ชั่วโมง ค่าโดยสารเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 80 บาท + 1.8 บาทต่อกิโลเมตร หรือ 535 บาทต่อคน ในเส้นทาง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา 

ล่าสุด กระทรวงคมนาคม ระบุว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนี้ แบ่งออกเป็น 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา ดำเนินการก่อสร้างอยู่ 10 สัญญา และรอการลงนามในสัญญาก่อสร้าง 2 สัญญา ภาพรวมของโครงการคืบหน้าไปแล้วประมาณ 32.31 % โดยคาดว่าจะก่อสร้างสำเร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 2571 

ต่อการป้องกันปัญหาล่าช้าและความปลอดภัยในอนาคต นายกฤชนนท์ ชี้ว่า กระทรวงคมนาคมจะเพิ่มเงื่อนไขในการประมูลในอนาคต

“ที่ผ่าน ๆ มาเวลาประมูลงานใครก็ประมูลได้ ใครประมูลที่ราคาต่ำที่สุดก็จะได้งานตรงนั้นไป ตอนนี้นโยบายของกระทรวงคมนาคมก็จะทำสมุดพกผู้รับเหมาออกมา เพื่อจะดูว่า งานต่าง ๆ เพื่อเขารับผิดชอบไปแล้ว มีความปลอดภัย ตรงต่อเวลา มีอุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งถ้ามีการผิดพลาดตรงนี้ขึ้นก็จะกระทบในการประมูลงานครั้งถัดไป เรากำลังเริ่มทำอย่างเข้มงวด” นายกฤชนนท์ กล่าว

ทั้งนี้ ปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีมติอนุมัติโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กม. คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3.41 แสนล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 72 เดือน แต่ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ได้อนุมัติให้มีการเดินหน้าโครงการนี้ 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง