10 ปี รัฐประหาร คสช. มรดกประยุทธ์ที่รอแก้ไข
2024.05.22
กรุงเทพฯ
ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ นับเป็นวันครบรอบ 10 ปี ของการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า เกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ และคณะได้ทิ้งมรดกที่รอการแก้ไขเอาไว้หลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ คดีการเมือง หรือปัญหาชายแดนภาคใต้
รัฐธรรมนูญปี 2560 กลายเป็นสมบัติชิ้นใหญ่ชิ้นแรกที่ถูกสร้างขึ้น และทิ้งปัญหาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจ สว. เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งปี 2562 หรือจะเป็นรูปแบบอันซับซ้อนของการเลือก สว. ชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
“ที่มาและอำนาจหน้าที่ของ สว. ในรัฐธรรมนูญ 60 ชัดเจนว่าต้องการสืบทอดอำนาจ และรักษาแนวความคิดแบบอภิชนาธิปไตย การเลือกกันเองเป็นการมุ่งลดทอน และบิดเบือนเสียงประชาชน วุฒิสภามีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระ มีอำนาจเหนือรัฐสภา ทั้งที่ไทยไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภาก็ได้” รศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ด้วยถูกร่างโดยคณะกรรมการที่ คสช. แต่งตั้ง และประชาชนไม่สามารถวิจารณ์หรือคัดค้านได้ ซึ่งแม้รัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบของประชาชน 16 ล้านคน ในการลงประชามติ แต่ก็มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการรณรงค์เรื่องประชามติ เช่น การแจกใบปลิว แสดงความเห็น ตั้งศูนย์ปราบโกง จัดเสวนา และฉีกบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2559 อย่างน้อย 212 คน
“รัฐธรรมนูญ 60 แทบจะแก้ไขไม่ได้เลย ล็อกและตรึงให้ประเทศอยู่กับที่ 8-9 ปีที่ผ่านมา มันฝืนธรรมชาติของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางการเมือง ขาดคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ ที่นอกจากต้องจัดวางโครงสร้างอำนาจ คุ้มครองสิทธิประชาชน ยังต้องเป็นกลไกที่แก้ไขความขัดแย้งในสังคม แต่รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้แก้ไข และยังขยายความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อย ๆ” ผศ.ดร. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะตรวจเยี่ยมกำลังพลเพื่อเฉลิมฉลองวันกองทัพไทยที่ค่ายทหาร ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2557 (อภิชาติ วีระวงษ์/เอพี)
รัฐบาล คสช. ใช้งบประมาณร่วม 3 พันล้านบาท +ในการร่างรัฐธรรมนูญ และทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 แต่กลับมีปัญหา และเป็นปัจจัยหนึ่งของความขัดแย้ง กระทั่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องตั้งคณะกรรมการ (กก.) ศึกษาแนวทางทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นในเดือนตุลาคม 2566 เพื่อเดินหน้าสู่การทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี
การเพิ่มขึ้นของคดีการเมือง
ความบกพร่องของรัฐธรรมนูญ ทำให้ในปี 2563 เกิดการชุมนุมที่เรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งรัฐบาลนอกจากจะไม่ฟังข้อเรียกร้องดังกล่าว ยังเริ่มใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่าง
“รัฐประหาร คสช. เป็นการรักษาสถานะทางเศรษฐกิจการเมืองแบบเดิม คือรักษาความเหลื่อมล้ำเอาไว้ เพื่อเอื้อประโยชน์ชนชั้นนำ ม. 112 ก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคณาธิปไตยเล่นงานฝั่งตรงข้าม จัดการกับผู้เห็นต่าง รัฐบาลหลังเลือกตั้งเนื้อแท้แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจที่สืบทอดกันมา” ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ระบุ
ผู้ร่วมชุมนุมต้านรัฐประหารนอนบนพื้นพร้อมกับถือป้ายประท้วงต่อต้านกฎอัยการศึก หนึ่งวันหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 (รอยเตอร์)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าตั้งแต่เริ่มการชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน จาก 1,295 คดี ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 272 คน จาก 303 คดี และปัจจุบัน มีผู้ถูกคุมขังจากคดีการเมืองอย่างน้อย 45 คน
“ระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายย่อยยับ วัฒนธรรมการเมืองแบบเผด็จการครองอำนาจ ปิดกั้นเสรีภาพ และการสถาปนาอำนาจคณะทหารให้เหนือกว่าพลเรือน นี่คือผลกระทบเชิงโครงสร้างในระยะยาว ทั้งยังสร้างค่านิยมอำนาจนิยม และวาทกรรมปกป้องสถาบันด้วยความรุนแรง ที่สร้างความเกลียดชัง และใช้ความรุนแรง” ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ขณะที่ ดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างมากมาย ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ยังทำให้เกิดสิ่งที่คนจำนวนมากไม่คิดว่าจะเกิดนั่นคือ การกลับประเทศไทยของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากได้ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศกว่า 15 ปี
“หลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในหมุดหมายที่ฝ่ายประชาธิปไตยอยากเห็น คือ อดีตนายกฯ ทักษิณได้กลับบ้าน แต่มันน่าตลกที่ฝ่ายประชาธิปไตยกลับไม่รู้สึกว่าการที่คุณทักษิณกลับบ้านเป็นชัยชนะ เพราะมีนักกิจกรรมจำนวนมากที่ต้องถูกขัง และดำเนินคดี” นายกฤติน ลิขิตปริญญา พนักงานบริษัทเอกชน อายุ 28 ปี กล่าว
สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2567 คือ ผู้ต้องหาคดี ม. 112 อย่าง น.ส. เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ต้องเสียชีวิต หลังจากอดอาหารเพื่อประท้วงการไม่ได้สิทธิการประกันตัว ขณะที่ นายทักษิณ ซึ่งถูกตัดสินจำคุกจากคดีทุจริตรวมสามคดีเป็นเวลา 8 ปี กลับไม่เคยต้องนอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว และได้เป็นอิสระ ในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากเข้ารับโทษ
“รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพในการทำกิจกรรมการเมือง นักกิจกรรมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เพื่อลดความขัดแย้งรัฐบาลสามารถให้นโยบายไม่ดำเนินคดี ไม่รับแจ้งความ หรือไม่ส่งฟ้องคดี ขณะเดียวกันก็ควรลบชื่อพวกเขาออกจากบัญชีที่ต้องสอดส่องหรือติดตามด้วย” รศ.ดร. ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุ
ทหารขับรถตู้บรรทุกหญิงไทยนิรนามรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ออกจากพื้นที่การชุมนุม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 (วสันต์ วณิชชากร/เอพี)
เฉพาะปี 2566 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีประชาชนถูกคุกคามจากกรณีการเมือง อย่างน้อย 167 คน จาก 203 กรณี แบ่งเป็นการติดตามไปยังที่พักหรือที่ทำงาน 75 กรณี ห้ามปรามหรือรบกวนการทำกิจกรรม 38 กรณี ติดตามสอดแนม 36 กรณี โทรศัพท์ติดตามความเคลื่อนไหว 21 กรณี และที่เหลือเป็นกรณีอื่น
สันติสุขชายแดนใต้ยังไปไม่ถึงไหน
การคุกคามประชาชน ไม่ได้เกิดเฉพาะกับนักกิจกรรมทางการเมืองส่วนกลาง เพราะนักกิจกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็ต้องเผชิญปัญหาไม่ต่างกัน
“ช่วงก่อนหน้านี้ การใช้ความรุนแรง การใช้อาวุธหรือระเบิดน้อยลง อาจเพราะเขามีตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา แต่นักกิจกรรมก็ยังถูกรัฐดำเนินคดี หรือขัดขวาง ทั้งที่สิทธิเหล่านั้นได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ รัฐควรยุติการฟ้องร้องประชาชน เพราะมันคือการทำลายกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของชาวบ้านด้วยสันติวิธี” น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าว
เหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอก จากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) นราธิวาส ในวันที่ 4 มกราคม 2547 นับเป็นจุดเริ่มต้น ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ ในสมัยรัฐประหาร คสช. พล.อ. ประยุทธ์ พยายามใช้ “การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2567 มีนักกิจกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างน้อย 40 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญา ขณะเดียวกันในบางคดี ผู้ฟ้องคือ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 เอง
“ในสมัย คสช. เราเห็นว่า รัฐข้าราชการเข้มแข็งขึ้นมาก ซึ่งมันทำลายการมีส่วนร่วม และการกระจายอำนาจไป การใช้มาตรา 44 (ในรัฐธรรมนูญ) ของประยุทธ์ ก็ทำลายหลักของกฎหมาย สร้างวัฒนธรรมการออกกฎหมายด้วยตัวเอง เราได้เห็นทหารมีอำนาจมากขึ้น กอ.รมน. เข้มแข็งแทรกซึมไปในทุกองค์กรของรัฐ แม้กระทั่งการศึกษา สาธารณะ กลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
เฉพาะยุครัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ปี 2557-2566 มีการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.11 แสนล้านบาท และมีทหาร ตำรวจ รวมถึงอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ในพื้นที่ร่วม 5 หมื่นนาย
“ปี 2562-2565 มีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยกว่า 90 ราย มันสะท้อนว่า อำนาจทหาร หรือ คสช. เพิ่มมากขึ้น เพราะยุคก่อน คสช. สมัยรัฐบาลพลเรือน แต่ละปีมีการสังหารผู้ต้องสงสัยต่ำกว่าปีละ 10 คน” น.ส. อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักสิทธิมนุษยชนผู้ก่อตั้งกลุ่มด้วยใจ กล่าว
เจ้าหน้าที่ตำรวจถืออาวุธควบคุมการเดินทางของรถไฟที่วิ่งระหว่างจังหวัดปัตตานีและยะลา ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2556 (รอยเตอร์)
แนวทางที่ คณะพูดคุยฯ ในยุครัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จนถึง รัฐบาลเศรษฐา คือ พยายามดำเนินแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ซึ่งฝ่ายรัฐเองมองว่าประสบความสำเร็จ
“การพูดคุยฯ ถือว่าพัฒนามากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตอนที่ท่าน พล.อ. วัลลภ กรุณาทำไว้ เป็นพื้นฐานสำคัญในการริเริ่มแผน JCPP ผมก็มาสานต่อ พัฒนาให้คืบหน้ามากขึ้น ทำให้เราเดินหน้าร่วมกัน เป็นเครื่องมือสำคัญในการเดินหน้าไปสู่ข้อตกลงสันติสุขในอนาคต” นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยฯ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย ชาวบ้านจึงมองว่า การพูดคุยฯ ไม่ได้ให้ความหวังแก่พวกเขา
“การพูดคุยสันติสุขที่เขาบอกว่าคุย ๆ กันอยู่ ไม่เห็นจะมีอะไรไปข้างหน้าเลย คุยครั้งนึงก็ระเบิดครั้งนึง เกิดความสูญเสีย พอเจ้าหน้าที่จับเยอะ ๆ ระเบิดก็จะเงียบไป สลับไปมาแบบนี้ตลอด ชาวบ้านก็ได้แต่หวังให้ชีวิตดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่มีหวัง” นายอาหามะ อีซอ ชาวบ้านจังหวัดยะลา กล่าว
หลังจากอยู่ในอำนาจร่วม 9 ปี พล.อ. ประยุทธ์ พยายามลงเล่นการเมืองต่อ ด้วยการเป็น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่พรรคได้ สส. เพียง 36 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 2566 ไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ พล.อ. ประยุทธ์ จึงประกาศวางมือทางการเมือง และในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี
จรณ์ ปรีชาวงศ์ และรุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน