ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราวคดีสื่อฟ้องนายกฯ ออกข้อกำหนดคุมข่าวปลอม
2021.08.06
กรุงเทพฯ
ในวันศุกร์นี้ ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวคดีที่ตัวแทนสื่อออนไลน์ฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนข้อกำหนดเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ซึ่งในวันนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการชั่วคราว เพราะนายกรัฐมนตรีประกาศข้อกำหนดดังกล่าว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลแพ่งระบุว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ศาลได้ออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานในคดีที่ตัวแทนจากสำนักข่าว The Reporters, Voice TV, The Standard, ประชาไท และอื่น ๆ รวม 12 คน พร้อมด้วยทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นฟ้องในคดีเลขที่ พ.3618/2564 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดที่ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) รวมถึงขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและไต่สวนฉุกเฉินคดีดังกล่าว เพราะเห็นว่าข้อกำหนดฯ ของ พล.อ. ประยุทธ์ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพสื่อและประชาชน
โดยในวันศุกร์นี้ ศาลแพ่งได้อ่านคำสั่งดังกล่าว ก่อนจะเปิดเผยคำสั่งผ่านเอกสารข่าวแจกสื่อมวลชน โดยมีตัวแทนจากสำนักข่าวออนไลน์หลายคน พร้อมด้วยทนายความเข้าร่วมฟัง
ศาลแพ่งระบุว่า ข้อกำหนดฯ ข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว มิได้จำกัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จ ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสิบสองคนและของประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้ ทั้งไม่ต้องด้วยบางมาตราแห่งรัฐธรรมนูญฯ
ในส่วนของการให้อำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ นั้น ศาลเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“ไม่ปรากฏว่า มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดให้ดำเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” คำสั่งศาลระบุ และยังได้มีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ด้าน นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งว่าความให้ฝ่ายโจทก์ กล่าวว่า ในลำดับต่อไป เจ้าพนักงานศาลจะได้ส่งสำเนาคำฟ้องให้กับจำเลย ซึ่งคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบถึงการพิจารณาคดีเพื่อการเพิกถอนข้อกำหนด แต่ยังไม่ได้กำหนดนัดวันขึ้นศาลเพราะสถานการณ์โควิด
หลังจากทราบคำสั่งศาล น.ส. ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters หนึ่งในโจทก์ฟ้องคดี กล่าวว่า คำสั่งศาลครั้งนี้จะช่วยให้สื่อมวลชนสามารถใช้เสรีภาพในการทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่
“ในฐานะสื่อเราก็จะใช้สิทธิเสรีภาพของเราเองด้วยความรับผิดชอบด้วย เราคงไม่ดำเนินการหรือทำอะไรที่มันก่อให้เกิดความหวาดกลัวอย่างที่ทุกคนวิตกกังวลอย่างแน่นอน ที่สำคัญเราคงไม่ไปทำเรื่องของเฟกนิวส์ เพราะมันเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย” น.ส. ฐปณีย์ กล่าวหลังทราบคำสั่งศาล
ในส่วนรัฐบาลนั้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่สามารถให้ความคิดเห็นใด ๆ ได้ เพราะคณะทำงานกฎหมายของรัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ในเรื่องนี้
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนการประกาศข้อกำหนด ตาม พรก. ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 พลเอกประยุทธ์ ได้โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือการจงใจตัดต่อบิดเบือนคำพูดเพื่อสร้างความเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก ทั้งจากสื่อมวลชน ผู้มีชื่อเสียง และผู้ใช้สื่อทั่วไป จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีกับคนผิด
หลังจากเกิดการระบาดของโควิดระลอกสาม ได้มีสื่อมวลชน ผู้มีชื่อเสียง และประชาชน วิจารณ์รัฐบาลถึงประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหากันอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ ศาลแพ่งระบุว่า รัฐบาลยังมีมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับ ที่สามารถใช้ดำเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความ หรือข่าวสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ได้ และรัฐยังสามารถใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการกำกับให้ความรู้เพื่อการรู้เท่าทัน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนแก่ประชาชนได้
องค์กรสิทธิมนุษยชน 17 องค์กรร่วมตำหนิรัฐบาล
เมื่อวันพุธที่ผ่านมานี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน 17 องค์กรได้แถลงการณ์ตำหนิการประกาศของ พลเอก ประยุทธ์ ว่าเป็นการโจมตีต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในประเทศไทย
นอกจากนั้น องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้กฎหมายปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หลังจากที่เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย ของแอมเนสตี้ฯ ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาว่า ร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและ พ.ร.บ.จราจรทางบก จากการไปร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหาย เนื่องในวาระครบ 1 ปี 1 เดือน การหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และร่วมเสวนากับญาติและบุคคลใกล้ชิดกับผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 ที่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม นายวีรยุทธ ธีระกมล นักวิจัยปริญญาเอก สาขาการสื่อสารศึกษา มหาวิทยาลัยลัฟบะระ ในประเทศอังกฤษ กล่าวว่า การที่ศาลแพ่งสั่งห้ามใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ดี
“มองในแง่ดี เราก็ยังเห็นนะว่า ศาลเองก็คุ้มครองเสรีภาพของสื่อและประชาชน และเสรีภาพในการที่จะพูดหรือนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศมีความขัดแย้งที่รุนแรงในหลาย ๆ มิติ การพูดความจริงไม่ควรจะเป็นการสร้างปัญหาใด ๆ ให้กับสื่อ ตราบเท่าที่สื่อเองใช้พื้นที่สื่อสารอย่างมีความรับผิดชอบ” นายวีรยุทธ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมรายงานข่าว