ศาลฎีกายกฟ้อง-ถอนหมายจับยิ่งลักษณ์ คดีฮั้วโรดโชว์ 240 ล้านบาท
2024.03.04
กรุงเทพฯ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยกฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 6 ราย ในวันจันทร์นี้ คดีฮั้วโรดโชว์เพื่อเอื้อประโยชน์โดยมิชอบต่อ บริษัท มติชน และสยามสปอร์ต มูลค่าประมาณ 240 ล้านบาท พร้อมเพิกถอนหมายจับ
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้องร้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ และจำเลยอื่น ๆ รวม 6 ราย เพราะเชื่อว่าใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้าง “โครงการโรดโชว์ สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020” เพื่อเอื้อประโยชน์แก่เอกชน” เหตุเกิดในปี 2556 ช่วงท้ายของการเป็นนายกรัฐมนตรีของ น.ส. ยิ่งลักษณ์
คดีนี้ น.ส. ยิ่งลักษณ์เป็นจำเลยที่ 1, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 3, บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 4, บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 5 และ นายระวิ โหลทอง กรรมการบริษัท สยามสปอร์ต จำเลยที่ 6
“จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการนำงบกลางมาจัดทำโครงการ Roadshow ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมของประเทศ และโครงการ Roadshow เป็นการดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐสภาเท่านั้นตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล ศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยถึงดุลพินิจของฝ่ายบริหารในการกำหนดนโยบายดังกล่าว” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ
“ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมหรือแนะนำโดยมิชอบเพื่อให้จำเลยที่ 1 อนุมัติงบกลางอย่างไร ส่วนจำเลยที่ 3 เพิ่งทราบว่าต้องขอใช้งบกลางจากการเสนอตามลำดับขั้นของข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน จึงเป็นเพียงการดำเนินการตามหน้าที่เท่านั้น การอนุมัติใช้งบกลางมาดำเนินการโครงการ Roadshow จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี” คำพิพากษา ระบุ
คำพิพากษา ระบุว่า วินิจฉัยแล้วจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกฟ้อง
หลังฟังคำพิพากษา นายนพดล หลาวทอง ทนายความของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า มั่นใจว่าลูกความไม่มีความผิด และดำเนินโครงการด้วยความสุจริตมาโดยตลอด
“เราเชื่อมั่นในความสุจริตเพราะดูจากพยานหลักฐาน อีกทั้งหลักฐานฝ่ายผู้กล่าวหาเองก็มีข้อบกพร่องเยอะ รวมถึงตนเองมีการรวบรวมหลักฐานจากทุกศาลมาต่อสู้จึงมีความเชื่อมั่นตั้งแต่แรกแต่ครั้งนี้ก็ได้รับความเมตตาจากศาล” นายนพดล กล่าว
ด้าน นายนิวัฒน์ธำรง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวกับสื่อมวลชนหลังทราบคำพิพากษาว่า ศาลมีความเมตตา โดยได้ดูรายละเอียดทั้งหมดจากคำให้การทั้งฝ่ายโจทก์ และจำเลยจึงส่งผลให้เกิดการตัดสินในวันนี้
“เรื่องที่เกิดขึ้น คุณยิ่งลักษณ์มีส่วนร่วมในเรื่องนี้เพียงน้อยมาก เพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานที่ดำเนินการตามนโยบายในการจัดกิจกรรม” นายนิวัฒน์ธำรง ระบุ
“จะเรียกว่าเป็นการล้างมลทินก็คงไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องของการที่ได้ปฏิบัติงานอย่างสุจริตเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่เมื่อมีคนไปฟ้อง ป.ป.ช. ก็ต้องตรวจสอบแล้วพบว่ามีมูลจะนำไปสู่กระบวนการของศาลซึ่งตอนนี้ก็ถือว่าโล่งใจเพราะต่อสู้กันมาหลายปี” นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวเพิ่มเติม
ต่อประเด็นดังกล่าว ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า คำตัดสินวันนี้มีผลทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ มีโอกาสเดินทางกลับประเทศเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“ผมเชื่อว่าครั้งนี้คุณทักษิณ และตระกูลชินวัตรวางแผนเอาไว้ดี มีการพูดคุยประนีประนอม กลายเป็นภาวะจำยอมที่กลุ่มอำนาจเก่าจำเป็นต้องพึ่งพาคุณทักษิณในการประคับประคองอำนาจ เลยทำให้คนคุมเกมทั้งหมดมาอยู่ที่ตระกูลชินวัตร รวมถึงคุณยิ่งลักษณ์ด้วย” ผศ.ดร. โอฬาร ระบุ
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ พร้อมเพิกถอนหมายจับ กรณีถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนกันยายน 2554 โดยศาลเห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง
น.ส. ยิ่งลักษณ์ ถูกเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทยให้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2554 ต่อมาถูกกลุ่มประชาชนในนาม กปปส. ประท้วงขับไล่ระหว่างปี 2556-2557 และแม้ว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์จะประกาศยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งในต้นปี 2557 แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การชุมนุมยังไม่ยุติกระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการรัฐประหาร บริหารประเทศเอง และเริ่มดำเนินคดีกับ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในข้อหาทุจริต
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการจำนำข้าวที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นหนึ่งในจำเลย แต่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เดินทางมาตามนัดศาล โดยได้หลบหนีออกนอกประเทศ
ซึ่งต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ศาลฯ ได้ตัดสินลับหลังให้จำคุก น.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา เพราะเชื่อว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ รับรู้การทุจริตในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) แต่ไม่ดำเนินการยับยั้ง จึงถือเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ
นับตั้งแต่ปี 2560 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ยังไม่เคยเดินทางกลับประเทศไทยอีก โดยได้ไปอาศัยอยู่ที่ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพี่ชาย ก่อนที่เดือนสิงหาคม 2566 นายทักษิณ จะเดินทางกลับประเทศ เข้ารับโทษจำคุก 1 ปีในโรงพยาบาลตำรวจ ก่อนที่จะได้รับการพักโทษปล่อยตัวเป็นอิสระในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 กรณีที่เกิดขึ้นทำให้มีคนคาดหมายว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางกลับประเทศเช่นเดียวกับพี่ชาย
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และรุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน