ครม. เห็นชอบมอบอำนาจ พ.ร.บ. 31 ฉบับ ให้นายกฯ คุมโควิด-19
2021.04.28
ปัตตานี
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาให้ออกประกาศ การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ซึ่งเป็นการโอนอำนาจของรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทั้งสิ้น 31 ฉบับ มาให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อใช้สำหรับบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
“ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และมีประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 นั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548” ตอนหนึ่ง ของราชกิจจานุเบกษา ระบุ
“คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564 ให้ยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 และให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน” ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ระบุ
ประกาศดังกล่าวจะทำให้ พ.ร.บ. 31 ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558, พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510, พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551, พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533, พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 เป็นต้น อยู่ภายใต้อำนาจการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์
หลังการออกประกาศดังกล่าว นายสมคิด เชื้อคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนว่า การดึงอำนาจตัดสินใจมาไว้ที่นายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เปรียบเสมือนการยึดอำนาจอีกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์
“เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 หรือ 7 ปีที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์นำคณะนายทหารยึดอำนาจการบริหารประเทศจากรัฐบาลประชาธิปไตย อ้างว่ามาเพื่อรักษาความสงบ วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ทำสำเร็จคือสงบทั้งประเทศ เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศสงบไม่มีคนลงทุน ประชาชนไม่มีเงิน ไม่มีงานทำ โดนยึดรถ ยึดบ้าน ชาวบ้านติดโควิดนอนรอความตายอย่างสงบตามที่ท่านประกาศว่าจะรักษาความสงบจริงๆ”
ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า มติเห็นชอบของ ครม. มิใช่การยึดอำนาจโดยนายกรัฐมนตรีตามที่ถูกโจมตี
“จากประกาศดังกล่าวรัฐมนตรียังมีอำนาจอยู่ ยกเว้นบางเรื่องที่นายกรัฐมนตรีสั่งการได้ จากเดิมที่จะต้องผ่านรัฐมนตรี ขอยืนยันว่าไม่ได้ไปยึดอำนาจรัฐมนตรี แต่เป็นเหมือนให้อำนาจนายกฯสั่งการได้ด้วย” นายอนุชา กล่าว
ไทยเสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย อาการหนักอีก 695 ราย และพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,012 ราย
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ประเทศไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง ทำให้ยอดติดเชื้อสะสมรวม 61,699 ราย
“วันนี้บวกไปที่ 2,012 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่รับการรักษาในโรงพยาบาล 1,893 ราย มีผู้ที่พบจากการคัดกรองเชิงรุก 108 ราย และเดินทางจากต่างประเทศ 11 ราย ผู้เสียชีวิตยอดวันนี้เพิ่มไป 15 คน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 178 คน จำนวนผู้ที่ยังรับการรักษาอยู่ วันที่รายงานที่ 27119 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้หนัก 695 ราย และจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 199 ราย ในส่วนของผู้เสียชีวิต 15 ราย เป็นเพศชาย 11 ราย และเพศหญิง 4 ราย” พญ.อภิสมัย กล่าว
ขณะที่ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจส่วนตัว ระบุว่า ได้ทำการปรับ พล.อ.ประยุทธ์ ฐานละเมิด พ.ร.บ.โรคติดต่อ กรณีไม่สวนหน้ากาอนามัยขณะเข้าร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว
“ผมจึงได้แจ้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน ประกาศกรุงเทพมหานคร (ลงวันที่ 25 เมษายน 2564) เรื่อง ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก เป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งความผิดดังกล่าว พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ ตามระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ พ.ศ.2563 โดยมีอัตราการเปรียบเทียบปรับตามบัญชีท้าย เป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท"
“ต่อมา ผม พร้อมด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต จึงเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้กล่าวหา ในฐานความผิดดังกล่าว นายกรัฐมนตรี ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ จึงได้ให้พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เปรียบเทียบปรับตามอัตราดังกล่าว”
ยะลาเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม-ตี 4 ปัตตานีห้ามเดินทางข้ามจังหวัดคุมโควิด-19
นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า จังหวัดจะยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของจังหวัด หลังจากช่วงที่ผ่านมาพบแพร่ระบาดในอำเภอเมือง เบตง และกรงปินัง ซึ่งยังมีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
“มาตรการที่ดีที่สุดคือการชะลอหรือหยุดการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อไม่ให้นำเชื้อไปแพร่ตามที่ต่างๆ ดังนั้นการยกระดับมาตรการต้องทำพร้อมกันในทุกด้าน ทั้งการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงในพื้นที่ การตั้งด่านรอยต่อระหว่างจังหวัด และการห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานตั้งแต่เวลา 22.00น.-04.00น. โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1-18 พฤษภาคม 2564” นายชัยสิทธิ์ กล่าว
ขณะที่ พลตำรวจตรีทินกร รังมาตย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา กล่าวว่า จังหวัดยะลาบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ไม่สวมหน้ากากในที่สาธารณะแล้ว โดยที่ผ่านมาได้จับกุมประชาชนที่ฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าวแล้ว 4 ราย ซึ่งทั้งหมดถูกปรับเป็นเงินระหว่าง 1,000 - 2,000 บาท
ด้าน นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า จังหวัดได้ควบคุมการเข้าออกพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดแล้ว โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
“เราตั้งด่านฝั่ง สงขลา และ นราธิวาส ทุกคนที่เข้าออกตรงนี้ต้องมีการรายงานตัวที่ด่าน บอกว่ามาจากไหน จะไปไหน ถ้าเป็นคนนอกพื้นที่ต้องบอกด้วยว่า มากี่คืน หรือออกนอกพื้นที่ต้องบอกเจ้าหน้าที่ และรายงาน อสม. เพื่อเข้ากระบวนการคัดกรอง ซึ่งผู้ติดเชื้อของปัตตานีมาจากสองที่คือ สงขลา และนราธิวาส ส่วนฝั่ง ยะลาถือว่า ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงก็สามารถเดินทางผ่านไปมาได้ปกติ” นายราชิต กล่าว
โดยผู้ที่จะสามารถเดินทางเข้าออกพื้นที่จังหวัดปัตตานีได้ ประกอบด้วย 1. ผู้ขับรถขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์และการดำรงชีวิตของประชาชน 2. ผู้ปฏิบัติงานในกิจการ/กิจกรรมเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการการสื่อสารโทรคมนาคม การก่อสร้าง การซ่อมบำรุง 3. ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ ยานพาหนะเพื่อการกู้ชีพ กู้ภัยฉุกเฉิน รถพยาบาลการธนาคาร การศึกษา การขนส่งประชาชน 4. ผู้เดินทางตามเงื่อนไขในกระบวนการยุติธรรม และ 5. เจ้าหน้าที่ผู้เดินทางไปปฏิบัติราชการตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆของทางราชการ
ขณะเดียวกัน นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ระบุว่า จังหวัดได้ประกาศปิดสถานที่เสี่ยง 28 ประเภท เช่น สถานบันเทิง สถานบริการ และร้านเกมส์แล้ว ขณะที่ให้เลื่อนเวลาปิดห้างสรรพสินค้าเป็นเวลา 20.00 น. รวมถึงห้ามจัดงานเลี้ยงด้วยเช่นกัน“ขอความร่วมมือประชาชนงดออกนอกเคหสถานหรือที่พำนัก ตั้งแต่เวลา 22.00 น.- 04.00 น. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน-11 พฤษภาคม 2564 สำหรับผู้ที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน หรือเพื่อการรักษาพยาบาล การขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภค หรือการประกอบอาชีพเป็นปกติ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็น ยังคงสามารถทำได้ การจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันมากกว่า 20 คน ต้องขออนุญาตจากนายอำเภอท้องที่ทุกครั้ง เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสม” นายจารุวัฒน์ กล่าว
ในวันพุธนี้ จังหวัดยะลา พบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 4 ราย ยอดสะสม 39 ราย ปัตตานี พบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 9 ราย ยอดสะสม 72 ราย สงขลา พบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 52 ราย ยอดสะสม 567 ราย และนราธิวาส พบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 5 ราย ยอดสะสม 504 ราย