กทม. ประกาศปิด ร.ร.-ศูนย์เด็กเล็ก กันโควิด-19 ระบาด
2020.12.23
กรุงเทพฯ
ในวันพุธนี้ กรุงเทพมหานคร ประกาศปิดโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่วันพฤหัสบดีไปจนถึงต้นปีใหม่ หลังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จากตลาดอาหารทะเล ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งการระบาดครั้งนี้ ยังทำให้แรงงานเมียนมาหลายพันรายขาดรายได้ เพราะถูกกักตัว
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) มีมติให้โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก หยุดการเรียนการสอน นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 4 มกราคม 2564
“ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีมติว่าเราจะทำการปิดโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด 437 โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กทั้งหมด 292 โรงเรียน โดยการปิดโรงเรียน ไม่ใช่การล็อกดาวน์ เพียงแต่ต้องการให้คนหยุด 12 วัน ต้องการจะลดกิจกรรม ที่คนใกล้ชิดสัมผัสกัน ซึ่งมีโอกาสในการแก้โรค ซึ่งโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กจะหยุดตั้งแต่วันพรุ่งนี้ และเปิดอีกทีหลังปีใหม่” ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
ร.ต.อ.พงศกร ระบุว่า กทม. ได้ให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัด กทม. ที่ไม่ได้ทำหน้าที่บริการประชาชน ทำงานจากที่บ้าน ขณะที่หน่วยงานที่ให้บริการประชาชนยังทำงานปกติ และขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชนให้งดกิจกรรมที่มีการรวมคน ขณะที่หน่วยงาน กทม. เอง ก็จะยกเลิกการจัดกิจกรรมชุมนุมคนด้วยเช่นกัน
การประกาศของ กทม. ครั้งนี้ สืบเนื่องจาก ปัจจุบันโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดในประเทศอีกครั้ง หลังจากที่พบเจ้าของแพกุ้ง ในตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 และเกิดการแพร่ระบาดไปสู่แรงงานข้ามชาติในตลาด รวมทั้งประชาชนทั่วประเทศ โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยัน 46 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 5,762 ราย ในนั้นเป็นแรงงานข้ามชาติ 1,273 ราย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง ผู้ป่วยรักษาหายแล้วสะสม 4,095 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,607 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 60 ราย
จากการสอบสวนโรคของกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อซึ่งเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง แต่อยู่นอกพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สะสมรวม 65 ราย กระจายอยู่ใน 22 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 16 ราย นครปฐม 10 ราย ฉะเชิงเทรา 6 ราย สมุทรปราการ และสระบุรี จังหวัดละ 5 ราย ปทุมธานี 3 ราย กำแพงเพชร นนทบุรี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 2 ราย รวมทั้ง กระบี่ ขอนแก่น นครราชสีมา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ภูเก็ต สุพรรณบุรี อุตรดิตถ์ สุราษฎ์ธานี นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ ชัยนาท จังหวัดละ 1 ราย ทำให้ล่าสุด ในหลายจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อประกาศปิดสถานศึกษา สถานประกอบการ สถานบันเทิง รวมทั้งประกาศงดจัดกิจกรรมที่รวมหรือชุมนุมคนแล้ว
อย่างไรก็ตาม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวในการแถลงข่าววันนี้ว่า แรงงานเมียนมาเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับคนไทย และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงขอร้องให้คนไทย อย่ารังเกียจแรงงานเมียนมา
“คนเมียนมาที่เข้ามาอยู่กับไทยนะตอนนี้ ขอให้พี่น้องชาวไทยเราได้มองเขาว่า เขาเป็นคนที่ได้มาร่วมชะตากรรมกับเรา ในฐานะที่เขาเข้ามาใช้แรงงาน เขามาเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา เนื่องจากเราต้องพึ่งแรงงานของพวกเขา ด้านที่เขาทำอยู่ เขามาช่วยเราอยู่ แล้วขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับเรา มากันเป็นหมื่นเป็นแสนจะถูกกฎหมายไม่ถูกกฎหมายอะไรก็แล้วแต่ ณ วันนี้เราเป็นญาติ เป็นพี่น้องกันในเมื่อเขาเจ็บไข้ได้ป่วย และเกิดเหตุนี้ขึ้นมา ขอความเข้าใจพี่น้องประชาชนของเราได้ดูแลซึ่งกันและกัน ยามเจ็บป่วยด้วยไข้ เราจะได้ใจและได้คนมาทำงาน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
แรงงานเมียนมาเครียด เป็นจำเลยสังคม ขาดรายได้หลังโควิด-19 ระบาด
นายแสงวาน (สงวนนามสกุล) แรงงานชาวเมียนมาในจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน คนเมียนมารู้สึกกลัวและกังวล ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยต้องทยอยเข้าไปรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และภาวนาไม่ให้ผลเป็นบวก
“ตอนรู้ข่าวที่แพกุ้งนั้นตกใจมาก เพราะมันใกล้ตัว แต่ไม่คิดว่าจะแพร่กระจายเร็วขนาดนี้ คนรอบตัวต่างระแวงกันหมด กลัวอยู่ต่อไม่ได้ กลัวนายจ้างทิ้งเรา ไม่จ้างเราแล้ว มันกลัวไปหมด ทุกอย่างตอนนี้ขึ้นอยู่กับดวงว่า ใครได้นายจ้างดี หรือได้บ้านพักที่ดี ปลอดภัย เพราะต้องอยู่กับที่ ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ และไม่มีรายได้ไปอย่างต่ำจนถึงวันที่ 4 มกราคม เพื่อนบางคนนายจ้างคนไทยยังให้เงินชดเชยบ้าง แต่บางคนไม่ได้เลย” นายแสงวาน กล่าว
ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น น.ส. สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network - MWRN) เปิดเผยว่า จากการสำรวจมีแรงงานเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของแรงงาน 4 พันกว่าราย ซึ่งถูกกักตัวอยู่หลังตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร ที่ได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างระหว่างที่ถูกให้กักตัว
“คนเหล่านี้ ขาดรายได้ บางคนที่พักอยู่ที่นั่นก็ถูกกักตัวไปด้วย ไม่มีการแยกกลุ่มเสี่ยงกับไม่เสี่ยง ไม่ใช่เฉพาะที่ทำงานในแพกุ้ง ยังมีคนที่ทำงานในโรงงานก็ถูกกักตัวไปด้วย เท่าที่สอบถาม ถ้าโรงงานใหญ่เขาก็รับผิดชอบ แต่ถ้าโรงงานขนาดเล็กก็ไม่ได้มีเงินชดเชย ทำให้แรงงานขาดรายได้ และสวัสดิการต่าง ๆ ปัจจุบัน อยู่ได้ด้วยการช่วยเหลือของรัฐเรื่องน้ำ และอาหาร ผลกระทบคือสภาพจิตใจ แรงงานข้ามชาติตกเป็นจำเลยของสังคม ว่าเป็นตัวแพร่เชื้อ แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะเริ่มติดเชื้อจากเจ้าของแพกุ้ง” น.ส. สุธาสินี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ในมุมมองของคนที่ทำงานเรื่องสิทธิแรงงานมองว่า รัฐบาลควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการรับมือกับปัญหามากกว่านี้ เข้าใจรัฐบาลว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ฉุกเฉิน แต่ควรมีมาตรการที่พร้อมจะรองรับ เช่น ประเมินเรื่องอาหาร และที่อยู่ในการกักตัวล่วงหน้า ในระยะยาว รัฐบาลควรนำแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่ในประเทศทั้งหมดเข้าสู่ระบบ เพื่อจะได้เข้าสู่การมีประกันสังคม และเข้าสู่ระบบสาธารณสุข โดยหากสถานการณ์คลี่คลาย ถ้าภาคธุรกิจขาดแคลนแรงงาน ก็ควรมีมาตรการในการนำเข้าแรงงานที่ได้มาตรฐาน และมีการคัดกรองเข้ม” น.ส. สุธาสินี กล่าว
ด้าน นายซาไล บาวี นักวิชาการชาวเมียนมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การตอบสนองของรัฐบาลต่อเหตุการณ์การแพร่กระจายโควิด-19 ของรัฐบาลไทยนั้น ค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการพูดถึงแรงงานข้ามชาติในแง่ลบ มองประชาชนทั้งไทยและเมียนมาเป็นผู้ร้าย โดยไม่ได้ตั้งคำถามกับวิธีการรับมือของตัวเองเลย
“แรงงานเมียนมาไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ พวกเขาเข้ามาทำงานเพื่อรายได้ขั้นต่ำ คำถามสำคัญคือ ถ้ารัฐบาลไทยจริงจังกับการควบคุมโควิด-19 จริง แล้วรัฐไทยปล่อยแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาได้อย่างไร ทั้งที่มีทั้งทหาร ตำรวจชายแดน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แต่ยังเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ รัฐบาลต้องมีคำตอบ ถ้าปล่อยไปโดยไม่มีใครผิด ความไม่ชัดเจนจะนำมาซึ่งปัญหาในอนาคตแน่นอน” นายซาไล ระบุ
“เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เมื่อรู้ว่าคนไทยจำนวนหนึ่งเห็นว่าการเร่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในแรงงานเมียนมาที่จังหวัดสมุทรสาครนั้น เป็นเรื่องที่เสียดายงบประมาณ ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้คนที่อยู่อาศัยในแผ่นดินไทยตอนนี้ ควรจะได้รับการตรวจหาเชื้อเท่า ๆ กันหมด เพราะหากไม่ตรวจอย่างจริงจัง ผลเสียจะตกอยู่ที่คนไทยทุกคนอยู่ดี” นายซาไล ระบุเพิ่มเติม
ต่อการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า กระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการหาทางแก้ไขปัญหาปัญหาแรงงานข้ามชาติอยู่
“ได้มีการประชุมกันโดยตลอด กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเอ็นจีโอ ปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ พยายามหามาตรการมาแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างอยู่ เพื่อนำเขาเข้าสู่ระบบตามขั้นตอนของรัฐ ขณะที่การนำแรงงานไร้ฝีมือกลับเข้าประเทศ ก็อยู่ในขั้นตอนการหามาตรการรองรับเช่นกัน โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ศบค. และประเทศต้นทาง แต่ยังไม่สามารถระบุวันที่จะดำเนินการได้อย่างแน่ชัด” นายสุชาติ กล่าวผ่านโทรศัพท์
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 กระทรวงแรงงานได้ตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงแรงงาน (ศบค.รง.) ขึ้น ณ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานแล้ว โดยแรงงานสามารถขอรับการช่วยเหลือได้สายด่วน 1506 กด 5