“เดอะ ปาตานี” ขอรัฐบาลกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่น ช่วยต้านโควิด-19
2021.07.02
ปัตตานี
“เดอะ ปาตานี” ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกำหนดอนาคตของตนเองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เรียกร้องให้ทางการไทยกระจายอำนาจให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นและเอ็นจีโอ มีส่วนในการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากขึ้นในห้วงเวลานี้ ซึ่งมีผู้ป่วยล้นเตียงจากอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนไม่ไว้วางใจข้อมูลเรื่องวัคซีนของรัฐและการต่อต้านวัคซีน
นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ เดอะ ปาตานี ซึ่งมีที่ตั้งในจังหวัดยะลา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันศุกร์นี้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลไม่สามารถสื่อสารเรื่องโควิด-19 กับคนพื้นที่ให้ได้อย่างชัดเจน และไม่สอดคล้องบริบททางวัฒนธรรม
“ความไม่ไว้ใจยังเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงด้วย เพราะมันมีความขัดแย้งทางการเมืองอยู่แล้วระหว่างท้องถิ่นกับรัฐบาล” นายอาเต็ฟ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
นายอาเต็ฟ ได้ระบุตัวอย่างความสับสน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านให้ข้อมูลต่อประชาชนว่าจะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา แต่เมื่อไปถึงจุดฉีดกลับได้ซิโนแวค สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความไม่ไว้ใจของประชาชน ซึ่งบางส่วนยังอ้างศาสนาเพื่อเลี่ยงการฉีดวัคซีนโควิด-19 อีกด้วย
ปัจจุบัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสามจังหวัดชายแดนใต้อยู่ที่ประมาณ 6 คน ต่อประชากรหนึ่งพันคน ในขณะที่ประชากรทั้งประเทศติดเชื้อในอัตราส่วน 4 คน ต่อประชากรหนึ่งพันคน ตามตัวเลขที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รวบรวมไว้ ซึ่งนายอาเต็ฟ เห็นว่ารัฐบาลต้องรีบดำเนินการจัดการ
“ผมเห็นว่ารัฐควรมอบอำนาจให้ท้องถิ่นตั้งกลไกเฉพาะ ผมเข้าใจว่าเมืองไทยเอง ยังไม่ได้เชื่อมั่นว่าท้องถิ่นจัดการได้ดี เพราะท้องถิ่นไม่ได้รับโอกาสเพียงพอในอดีต แต่ท้องถิ่นหลายที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจัดการได้ดีกว่าส่วนกลาง เช่น เทศบาลนครยะลา แม้มีข้อจำกัดด้านต่างๆ” นายอาเต็ฟ กล่าว และระบุว่า องค์กรภาคเอกชนบางแห่ง เช่น สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข สามารถสื่อสารกับคนท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงแรกของการระบาดเมื่อต้นปีที่แล้ว
ด้านโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ได้กล่าวตอบถึงข้อเรียกร้องของเดอะ ปาตานี แต่ระบุว่าทาง กอ.รมน. ซึ่งเป็นกลไกของรัฐบาลได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง
“ได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งการปรับด่านตรวจ ตามจุดต่าง ๆ ให้เป็นด่านตรวจโควิด วัดอุณภูมิ... นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนพี่น้องประชาชน กำลังพลได้แจกหน้ากากอนามัย ให้ความรู้เรื่องโควิดและความสำคัญของการฉีดวัคซีน แจกอาหาร เปิดครัวด้วยรถพระราชทานและมีการจัดชุดเดลิเวอรี ส่งอาหารตามชุมชนห่างไกล” พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวกับเบนาร์นิวส์
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ รัฐบาลได้บังคับใช้การควบคุมการเข้าออกพื้นที่แคมป์คนงานก่อสร้าง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รวมสงขลาทั้งจังหวัด) เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน ในส่วนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้อนุญาตให้ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดในกรณีที่จำเป็น และจังหวัดสงขลาได้ประกาศเคอร์ฟิวในห้วงเวลาสี่ทุ่มถึงเช้าตรู่ เมื่อวันพุธอีกด้วย
จากกราฟฟิกของ ศอ.บต. ในสัปดาห์นี้ มีผู้ป่วยโควิดรักษาตัวในโรงพยาบาลในสามจังหวัดมากกว่า 3,200 คน ซึ่งคณะแพทย์ในจังหวัดปัตตานีระบุว่า มีคนไข้ล้นเตียง ขณะที่ทางจังหวัดต่างต้องเร่งจัดเตรียมเตียงเพิ่มเติม รวมทั้งห้องรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นการเฉพาะ
ทัศนคติต่อต้านวัคซีน
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในปัตตานี ระบุว่า อัตราการฉีดวัคซีนในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังต่ำมาก กล่าวคือ ประชาชนในปัตตานี จำนวน 726,015 คน ได้รับวัคซีนเพียง 31,821 คน คิดเป็น 4.38 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนในยะลาได้รับวัคซีน 24,456 คน จาก 538,602 คน คิดเป็น 4.54 เปอร์เซ็นต์ และประชาชนในนราธิวาส จำนวน 804,429 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 57,512 คน คิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในระดับประเทศนั้น มีจำนวนประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรก ประมาณ 11.1 เปอร์เซ็นต์ และได้รับครบสองเข็มแล้วประมาณ 4.3 เปอร์เซ็นต์
นายอาเต็ฟ กล่าวว่า จากการสำรวจของ เดอะ ปาตานี พบว่า นอกจากภาครัฐไม่ได้พยายามสื่อสารกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ประชาชนบางส่วนยังมีทัศนคติที่ต่อต้านวัคซีน
นางไซหมะ เปาะกะ ผู้ประกอบอาชีพค้าขายในจังหวัดปัตตานี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองอยากฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ยังลังเลในความปลอดภัย
“ฉันก็อยากฉีดนะวัคซีน แต่ข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับซิโนแวคในพื้นที่ หลายคนตายหลังฉีดวัคซีน แถมไม่มีสักเคสเดียวที่รัฐออกมายอมรับ โดยส่วนใหญ่โยนว่าตายเพราะเลือดอุดตันบ้าง ตายเพราะโรคประจำตัวบ้าง ฉันเชื่อว่ามันต้องเกี่ยวข้องกับวัคซีน” นางไซหมะ กล่าว และระบุว่า ตนจะรอฉีดวัคซีนยี่ห้ออื่นที่มีคุณภาพดีกว่า
ด้าน นายเจะรอฮิง (สงวนนามสกุลเพื่อความเป็นส่วนตัว) ประชาชนในจังหวัดปัตตานี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันศุกร์นี้ว่า ตามหลักการอิสลามต้องฝากความหวังที่อัลลอฮ์
“ทุกอย่างอัลลอฮ์กำหนด ใครจะติดโควิดก็เป็นความประสงค์ของอัลลอฮ์อยู่แล้ว หน้ากากหรือฉีดวัคซีน ก็ไม่ได้ช่วยอะไร การดุอาอ์มากกว่าที่จะช่วยเราได้” นายเจะรอฮิง ระบุ