ศบค. มีมาตรการห้ามชุมนุม-มั่วสุม เริ่มวันนี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.12.30
กรุงเทพฯ
ศบค. มีมาตรการห้ามชุมนุม-มั่วสุม เริ่มวันนี้ ชายแขวนโคมไฟ ช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่ย่านเยาวราช กรุงเทพฯ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2563
เอเอฟพี

ในวันพุธนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงต่อสื่อมวลชนในวันนี้ว่า ศบค. ได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยห้ามมั่วสุม-ชุมนุม ขณะที่พบผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 250 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 6,690 ราย ด้าน นายอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎร เชื่อมาตรการห้ามชุมนุมเป็นการหวังผลทางการเมืองของรัฐ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวในการแถลงข่าว สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวัน ระบุว่า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ศบค. จึงได้ออกมาตรการห้ามการชุมนุม หรือมั่วสุม ในพื้นที่ควบคุมสูง และควบคุมสูงสุด

“ประกาศ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 หนึ่งคือการมั่วสุม ห้ามไม่ให้มั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใด ๆ ทั่วราชอาณาจักร ห้ามการชุมนุม หรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคน แออัด เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่ควบคุม เว้น กิจกรรมภายในครอบครัว ภายในเคหสถานของตนเอง หรือกิจกรรมของทางราชการ” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ

“เคานต์ดาวน์ปีใหม่คือ การนับถอยหลัง แต่ถ้าสถานการณ์ยังพบมีการไปยืนเกาะกลุ่ม ในมือมีเครื่องดื่มมืแอลกอฮอล์และขาดสติ หลังจากนี้จะต้องเคานต์อัพ คือการนับจำนวนคนป่วยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่อยากเห็นภาพล็อคดาวน์รอบที่ 2 เหมือนที่หลายประเทศทำกัน… ทางที่ดีควรจะอยู่บ้านมากกว่า” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ศบค. อนุญาต ให้จังหวัดอื่น ๆ สามารถจัด การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมได้ แต่ต้องขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่นั้นๆ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ศบค. ได้ประกาศรายชื่อจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดคือ สมุทรสาคร ขณะที่จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุม คือ สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม และกรุงเทพฯ

“อัพเดทตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ไปที่ 250 ราย ซึ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 241 ราย แล้วก็เป็นการนับจำนวนของคนที่อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 8 ราย แล้วก็ไม่เข้าสถานที่กักกัน 1 ราย ทำให้ผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ 6,690 ราย ตัวเลขที่อยู่ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 1,383 ราย หายแล้ว 4,212 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,417 ราย และเสียชีวิตสะสม 61 ราย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ ยืนยันว่า สำหรับประชาชนที่เดินทางข้ามจังหวัด ปัจจุบัน ศบค. ยังไม่ได้มีมาตรการให้กักตัวในบ้านเป็นเวลา 14 วัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มาตรการกักตัวขึ้นอยู่กับการประกาศของแต่ละจังหวัดที่ประชาชนเดินทางไป

สำหรับ มาตรการห้ามชุมนุม หรือมั่วสุมที่ ศบค. ประกาศนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 15 โดยห้ามประชาชนเข้าพื้นที่เสี่ยง และชุมนุมรวมตัวกัน โดยสามารถสรุปข้อกำหนด 8 ข้อ ได้ดังนี้ 1. ห้ามประชาชนใช้หรือเข้าไปในพื้นที่ หรือยานพาหนะที่เสี่ยงต่อการติดโรค 2. ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดอื่น ๆ สั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรคทั้ง 3. ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่แออัด 4. ให้เจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองการเดินทาง และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว

5. ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 6. ให้ ศปก.ศบค. ปฏิบัติงานเพื่อยุติสถานการณ์การแพร่ระบาด ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 7. ให้แต่ละจังหวัดดำเนินการตามมาตรการของ นายกรัฐมนตรี หรือ ศบค. เพื่อป้องกันการระบาดระลอกใหม่ และ 8. ให้คำสั่งต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ และจังหวัดต่าง ๆ ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นตามข้อกำหนดนี้

ด้าน นายอานนท์ นำภา ทนายสิทธิมนุษยชน ในฐานะแกนนำผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในปี 2564 ที่จะถึงนี้ การเคลื่อนไหวเรียกร้องจะยังดำเนินต่อไป แต่รูปแบบขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานการณ์

“เรื่องประกาศห้ามชุมนุม ผมคิดว่า มันเป็นประกาศทางการเมือง เพราะการชุมนุมที่ไม่ใช่ฝ่ายพวกผมก็ทำได้ปกติ การเกณฑ์คนไปรับเสด็จฯ หรือ กิจกรรมของฝ่ายรัฐยังทำได้อยู่ อย่างไรก็ตาม ในปีหน้ายืนยันว่า จะมีกาชุมนุม แต่การชุมนุมจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ คือ ทุกอย่างดำเนินต่อไม่มีปัญหาจะยังมีการเคลื่อนไหวแน่นอนเพราะ ตอนนี้มันมีข้อมูลจำนวนมากที่เรากำลังหากันอยู่ และพร้อมที่จะออกมาเผยแพร่” นายอานนท์ กล่าว

“สำหรับการฟ้องร้องดำเนินคดีกับแกนนำถือว่า ทำให้พวกผมเสียเวลาเฉย ๆ แต่ไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของพวกเราได้ พวกเราคงใช้เวทีการชุมนุมในการโต้กลับฝ่ายรัฐบาล” นายอานนท์ ระบุผ่านโทรศัพท์

ประชาชนในนามคณะราษฎรชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา โดยข้อเรียกร้องหลักคือ การให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามปราบปรามการชุมนุมของผู้เห็นต่างจากรัฐบาลด้วยกฎหมาย โดยนับแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 มีประชาชนอย่างน้อย 90 ราย ถูกควบคุมตัวระหว่างการต่อต้านรัฐบาล มีการดำเนินคดีกับแกนนำต่อเนื่องตลอดเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563 อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมยังคงเดินหน้าจัดการชุมนุมในหลายพื้นที่ต่อไป

ในวันเดียวกัน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ได้ออกคำสั่ง เลขที่ 35/2563 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ระบุว่า ให้มีการปิดสถานที่สำคัญ และห้างร้าน ในพื้นที่ อ.บางละมุง หลังพบผู้ติดเชื้อยืนยัน 108 รายในพื้นที่ โดยการปิดครั้งนี้จะมีผลทันที และบังคับใช้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

โดยให้ปิดห้างสรรพสินค้า ร้านค้า สถานบริการ สถานศึกษา สถาบันกวดวิชา และศูนย์เด็กเล็ก สวนสาธารณะ สระว่ายน้ำ สวนสนุก โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ ตลาดนัดพระเครื่อง ร้านนวด สถานเสริมความงาม ร้านเกมส์ ร้านอินเตอร์เน็ต แต่ยกเว้น กรณีที่เกี่ยวกับธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ศูนย์ให้บริการโทรศัพท์ ร้านขายยา และร้านจำหน่ายเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

สำหรับ ร้านสะดวกซื้อที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ให้ปิดบริการตั้งแต่เวลา 22:00 น. ถึงเวลา 05:00 น. ของวันรุ่งขึ้น กำหนดให้ร้านขายอาหารอาหาร ขายได้เฉพาะแบบซื้อกลับบ้านเท่านั้น และให้พิจารณางดกิจกรรมที่รวมคน กิจกรรมรื่นเริง การสังสรรค์ กิจกรรมนันทนาการ ทั้งในและนอกตัวอาคาร

โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ กระทบธุรกิจร้านอาหาร และสถานบันเทิงแล้ว

นายปิยลาภ (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี อาชีพนักดนตรีกลางคืนจากจังหวัดนครปฐม-ราชบุรี เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ นักดนตรีได้รับผลกระทบแล้ว โดยร้านอาหารที่มีการเล่นดนตรีกลางคืนถูกสั่งปิดทั้งหมด ขณะที่งานแต่งงาน หรือกิจกรรมอื่นๆถูกยกเลิก

“นครปฐมสั่งปิดร้านอาหารที่จำหน่ายเหล้า 22.00 น. ตั้งแต่ประมาณ 24 ธันวาคม ทำให้ร้านที่เล่นอยู่ปิดหมด ปกติรายได้จากการเล่นดนตรีตกสัปดาห์ละ 4 พันบาทหายหมด ส่วนงานอีเว้นท์ 26-28 ธันวาคม และ 31 ธันวาคม 1-2 มกราคม ยกเลิก เสียรายได้ไปประมาณ 1.6 หมื่น รอบแรกงดประมาณ 3-4 เดือน เงินเก็บผมหายไป 5 หมื่นบาท ช่วงนี้ งานเริ่มกลับมาเยอะเหมือนเดิม ก็มีระลอกสอง” นายปิยลาภ กล่าว

“ผมไม่เห็นด้วยกับการเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม อยากให้รัฐยึดแนวเดิมคือ แต่ละจังหวัดให้ผู้ว่าฯ ตัดสินใจ ผ่อนผันให้แต่ละเขตที่มีความเสี่ยงต่างกัน ดูแลให้แต่ละร้านมีมาตรการป้องกันที่ปลอดภัย เช่น จำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ ไม่ให้สูบบุหรี่ในร้าน พนักงานสวมหน้ากาก มีเจลล้างมือบริการทั่วถึง เพราะนักดนตรีได้รับผลกระทบ ส่วนตัวผมยังเล่นร้านอาหารน้อย แต่ถ้านักดนตรีที่เล่นเยอะ น่าจะรายได้หายไปเดือนละ 3 หมื่น ที่ผ่านมา หลายคนต้องไปขายหมูปิ้ง ขายขนมจีน ขายกระเพาะปลาแทนการเล่นดนตรี” นายปิยลาภ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายภูริพงศ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี เจ้าของสถานบันเทิงในจังหวัดขอนแก่น ชี้ว่า ข่าวการระบาดระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายของร้านทันที

“พอมีข่าวโควิดปุ๊บ รายได้จากเฉลี่ยวันละหมื่น เหลือ 3-4 พัน ร้านอาหารเหลือรายได้วันละ 300-400 บาท ถ้ามีมาตรการแบบช่วงก่อนหน้านี้ ก็น่าจะเจ๊ง เพราะ 3 เดือนที่สั่งห้ามขายแอลกอฮอลล์ถือว่า กระทบรายได้ตลอดปีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากรัฐบาลสั่งห้ามขาย แต่ควรจะมีมาตรการที่ดีในการตรวจตราควบคุม เพราะ การห้ามขายแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบกับร้านจำนวนมาก ที่ผ่านมา จากที่ตามข่าวการแพร่ระบาดก็ยังไม่เคยได้ยินว่า เริ่มจากร้านอาหาร แต่มาจากบ่อน หรือลักลอบเข้าเมือง” นายภูริพงศ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

หลังจากรัฐบาลประกาศบังคับใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในเดือนมีนาคม ต่อมาในเดือนเมษายน 2563 ได้มีการสั่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ ทำให้ในหลายพื้นที่ สถานบันเทิง หรือร้านกินดื่มต้องปิดยาวนานถึง 3 เดือน ทำให้สถานบันเทิงหลายแห่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะรายได้หลักมาจากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ มีส่วนร่วมในรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง