ศบค. เผยทางการเร่งขยายเตียงรับผู้ป่วยโควิด-19
2021.04.09
กรุงเทพ และ ปัตตานี
ในวันศุกร์นี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ทางหน่วยงานรัฐบาลกำลังเร่งเพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีก 5,000 เตียง ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งในกรุงเทพ ไม่มีความสามารถรองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นได้ หลังจากมีการระบาดของโรคระลอกใหม่โดยมีแหล่งกระจายเชื้อมาจากสถานบันเทิงระดับหรู
โดยในวันศุกร์นี้ ศคบ. ระบุว่าผู้ป่วยรายใหม่ 559 ราย เพิ่มขึ้นถึงกว่าห้าเท่าตัวเมื่อเทียบกับวันอาทิตย์ที่มีการเผยแพร่ว่ามีการระบาดจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อและย่านอื่นๆ ในกรุงเทพ และมีจำนวนผู้ป่วยสะสมยืนยันทั้งสิ้น 30,869 ราย นอกจากนั้น ในวันเดียวกันนี้ มีผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดนราธิวาสเสียชีวิตด้วยโควิด-19 จำนวน 1 ราย
นพ.ทวีศิลป์ แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า รัฐบาลกำลังเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนเตียงผู้ป่วยของโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ
“วันนี้ ท่าน(พล.อ.ประยุทธ์)ก็เลยสั่งการมายังส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขา สมช. ว่าบ่ายนี้ให้ประชุมกัน ต้องขยายศักยภาพของเตียงใน กทม. ซึ่งทำได้ถึง 5 พันกว่าเตียง เพิ่มการรักษาตัวอยู่ในโรงแรม ซึ่งมีจำนวนห้องที่ว่าง สามารถจัดทำเป็นฮอสปิเทล ได้จำนวนหนึ่ง และโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีพื้นที่กว้างๆ ท่านสั่งการให้ทาง เลขา สมช. ประชุม จัดการเรื่องนี้เลย ส่วนการผูกติดโรงพยาบาลเอกชน ถ้าตรวจแล้วต้องนอนก็ไปหาข้อสรุปมา เพื่อผ่อนคลาย ตรวจเสร็จแล้วต้องมีระบบรถรับส่ง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
“ณ ตอนนี้ มีข่าวคราวก็คือ โรงพยาบาลเอกชนไม่ตรวจสวอป น้ำยาหมดจริงไหม จริงๆ แล้ว น้ำยาทั้งหลายยังพอมี แต่เกณฑ์เดิม คือ ใครตรวจพบต้องแอดมิต พอเจอแล้วปล่อยให้คนไข้เดินไปที่อื่นๆ ไม่ได้ เตียงก็เต็มแล้ว เกินศักยภาพเขาแล้ว ก็เลยไม่สามารถที่จะตรวจต่อได้ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของการต้องการจำนวนเตียงมากขึ้น ภาคเอกชนบอกว่า ยินดีที่จะตรวจให้แต่ว่าเตียงไม่พอ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม
ในวันเดียวกัน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนเตียงนั้น กรมการแพทย์ได้ดำเนินการจัดหาเพิ่มเติมแล้ว โดยเบื้องต้นเชื่อว่าเพียงพอที่จะรองรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล
“แนวคิดในการบริหารจัดการเตียงเพื่อรองรับคนไข้ ผู้ติดเชื้อโควิดทุกรายควรได้รับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ไม่ให้รักษาที่บ้าน โรงพยาบาลไหนตรวจโรงพยาบาลนั้นต้องดำเนินการประสานในเครือข่ายเพื่อให้ผู้ป่วยทุกรายได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ประเด็นปัญหาคืออาจจะไม่รับข้ามเครือข่าย ตอนนี้กรมการแพทย์ได้ดำเนินการจัดหา ฮอสปิเทล เอาโรงแรมมาทำเป็นโรงพยาบาล เพื่อรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือผู้ป่วยที่มีอาการน้อยๆ แล้วก็ไม่มีโรคแทรกซ้อนไปนอน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
“วันนี้ เราหาเตียงได้แล้ว 800 เตียง คาดว่าจะแล้วเสร็จพันเตียง ใน 1-2 วัน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนาม 450 เตียงภายในวันอาทิตย์นี้ โดยผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียงให้โทรไปที่ 1668” นพ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
นพ.สมศักดิ์ ระบุว่า ในเดือนสิงหาคม 2563 โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย 2,532 เตียง เป็นของโรงพยาบาลเอกชน 1,656 เตียง ขณะที่ ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2564 โรงพยาบาลเอกชนมีเตียงทั้งหมด 717 เตียง ตอนนี้ ยังว่างอยู่ 293 เตียง
การแถลงครั้งนี้ สืบเนื่องจาก ในช่วง 1-2 วันนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น สมิติเวช ศรีนครินทร์, รามคำแหง, พญาไท 1, พญาไท 2, ปิยะเวท, เพชรเวช หรือ เมดพาร์ค ประกาศงดให้บริการตรวจโควิด-19 ทำให้เกิดกระแสข่าวว่า การงดให้บริการเนื่องจากน้ำยาสำหรับตรวจเชื้อหมด โดยในช่วงเดือนเมษายน 2563 ศบค. เคยเปิดเผยว่า ทั่วประเทศมีเตียงผู้ป่วยทั้งหมด 4,820 เตียง เครื่องช่วยหายใจ 10,184 เครื่อง
นพ.ทวีศิลป์ ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค. ได้อนุมัติให้ สถานบริการใน 41 จังหวัดที่มีความเสี่ยงปิดให้บริการชั่วคราว โดยเริ่มต้นวันที่ 10-23 เมษายน 2564 และ อีก 36 จังหวัด ที่เหลือให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาว่าหากมีความเสี่ยงก็สามารถสั่งปิดได้ โดยในทุกจังหวัดให้มีการตรวจตรากวดขันมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอกับประชาชน
ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ขอให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดเป็นบทเรียนสำหรับประชาชน
“ผมคิดว่ามันมีบทเรียนกันแล้ว ก็หยุดกันซะที ใครเป็นก็รักษา ไม่ว่าจะเป็นใคร วันนี้ก็เป็นบทเรียนอันนึงว่า สถานที่อโคจร ก็ไม่ควรไป... เว้นระยะห่าง หน้ากาก ล้างมือ เว้นไปที่อโคจร นายกฯ ไปสั่งห้ามคนไปก็ไม่ใช่ มีอย่างเดียวก็ต้องปิดสถานบริการถูกไหมล่ะ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้ต้องขังนราธิวาสเสียชีวิตจากโควิด 1 ราย
พญ. พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย มีผู้ป่วยที่หายแล้ว 28,128 ราย และยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,645 ราย
“วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 คน เป็นรายที่ 96 เป็นผู้ป่วยชายไทยอายุ 60 ปี เป็นผู้ต้องขังมีประวัติป่วยเป็นวัณโรค อยู่ในจังหวัดนราธิวาส โดยผู้เสียชีวิตรายนี้มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า วันที่ 31 มีนาคม มีอาการนอนไม่หลับ ซึม และเหนื่อยหอบ 1 เมษายน ส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อ มีิอาการแย่ลง และเสียชีวิตในวันที่ 8 เมษายน 2564” พญ. พรรณประภา กล่าว
ด้าน กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยรายละเอียดการเสียชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดนราธิวาสในจดหมายข่าวว่า ผู้ต้องขังรายดังกล่าวเป็นชายอายุ 60 ปี ถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563… เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ได้มีอาการป่วยและเหนื่อยหอบร่วมด้วย แต่ไม่มีไข้ เจ้าหน้าที่จึงรับตัวรักษาที่สถานพยาบาลเรือนจำ จนกระทั่งในวันที่ 31 มีนาคม 2564 เริ่มมีอาการหูแว่ว พูดคนเดียว นอนไม่หลับ แต่สัญญาณชีพยังปกติ และไม่มีไข้... แพทย์ได้สั่งยากลุ่มคลายเครียดและช่วยให้นอนหลับ ซึ่งผู้ต้องขังได้รับประทานยาตามแพทย์สั่ง และทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ก่อนที่จะเสียชีวิต
รัฐบาลยินดีเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมจัดหาวัคซีน
ในวันเดียวกัน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงระบุว่า การหาวัคซีนฉุกเฉินมีความเป็นไปได้น้อย แต่ปัจจุบัน มีเอกชนที่ต้องการเข้ามาร่วมจัดหาวัคซีนกับภาครัฐแล้ว ซึ่งรัฐบาลยินดีเปิดโอกาสดังกล่าว
“ช่วงเวลานี้จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน การจะจัดหาวัคซีนให้ได้จำนวนมากที่จะกระจายไปได้เป็นวงกว้างมีความเป็นไปได้น้อยมาก แต่เรียนยืนยันว่า เรามีความสามารถหาวัคซีนให้ได้จนกระทั่งเพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน… ภาคเอกชนได้แสดงเจตจำนงที่จะขอเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีน ซึ่งจะเป็นการดำเนินการส่วนเสริมให้กับการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งในการนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันก่อนหน้านี้แล้วว่า ยินดี การร่วมดำเนินการก็ต้องเป็นไปตามที่ภาครัฐได้กำหนดไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะหาวัคซีนชนิดใดได้ และเข้ามาตอนไหน” นพ.นคร กล่าว
ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 8 เมษายน 2564 ฉีดวัคซีนสะสมรวม 466,374 โดส ใน 77 จังหวัด เป็นผู้รับวัคซีนเข็มแรก 405,911 ราย ผู้รับวัคซีนเข็มที่สอง 60,463 ราย