รัฐบาลออก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านเยียวยาโควิด-19
2021.05.25
เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลในการกู้เงิน 5 แสนล้านเพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 โดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การกู้เงินของรัฐครั้งนี้เพื่อช่วยเยียวยาแรงงาน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงรองรับความเสี่ยงการแพร่ระบาดในอนาคต ขณะที่ นักวิชาการเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะยังไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติ และรัฐบาลอาจจำเป็นต้องกู้เพิ่มอีกในอนาคต
พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ซึ่งลงนามสนองพระบรมราชโองการ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 บนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา โดยยังไม่ได้ระบุสถาบันการเงินที่รัฐบาลจะใช้กู้เงินดังกล่าว
“มาตรา 3 เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งยังไม่ยุติลง ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย มีมูลค่ารวมกันไม่เกินห้าแสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565” ตอนหนึ่งของ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ดังกล่าว ระบุ
นายสุพัฒนพงษ์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า การกู้เงินครั้งนี้ สืบเนื่องจากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงต้องนำเงินมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
“เงิน 5 แสนล้าน จะมาใช้ดูแลประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อย คนทำงาน รักษาแรงงาน การทำงาน สร้างงานให้กับภาคประชาชนในระดับท้องถิ่น โครงการต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูการระบาดของโควิด… เพื่อที่จะรองรับความไม่แน่นอน ของการระบาด ในอนาคต หรือ การระบาดที่อาจจะต้องทอดยาวขึ้นไปอีกในครั้งนี้” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
รัฐจัดสรร 3 แผนงาน ใช้ในวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มี 9 มาตรา และมีบัญชีแนบท้าย ซึ่งโดยสรุปวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาทนี้จะถูกจัดสรรสำหรับใช้ใน 3 แผนงาน คือ 1. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาล และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากร วงเงิน 30,000 ล้านบาท รับผิดชอบโดย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐที่ ครม. มอบหมาย
2. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง วงเงิน 300,000 ล้านบาท รับผิดชอบโดย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่ ครม. มอบหมาย
3. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงานหรือโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 170,000 ล้านบาท รับผิดชอบโดย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่ ครม. มอบหมาย
ทั้งนี้ ในปี 2563 รัฐบาลเคยออกพระราชกำหนด 3 ฉบับ รวมวงเงินกู้ 1.9 แสนล้านบาท เพื่อใช้แก้ไขสถานการณ์โควิด-19 มาแล้ว ประกอบด้วย 1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท 2. พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท และ 3. พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท
ในวันเดียวกัน พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมของไทย 135,439 ราย เสียชีวิตสะสม 832 ราย หรือ 0.81 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย หายป่วยและกลับบ้านได้แล้ว 89,194 ราย
“ไทยวันนี้ มีรายงานตัวเลข 3,226 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 26 คน ผู้ที่กลับบ้านวันนี้ 3,094 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 45,413 ราย” พญ.อภิสมัย กล่าว
ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้แล้ว 3,024,313 โดส เป็นเข็มแรก 2,044,123 ราย และเข็มที่สอง 980,190 ราย
นักวิชาการมองเศรษฐกิจไทยปี 64 ยังไม่ฟื้นอาจต้องกู้เพิ่มอีก
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า เศรษฐกิจปี 2564 อาจยังไม่เติบโตมากนัก โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่การฉีดวัคซีนโควิด-19
“อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้จะอยู่ในช่วง 1.5 - 2.5 เปอร์เซ็นต์ แต่มีแนวโน้มจะต่ำกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ หากปล่อยให้มีคนติดเชื้อมากกว่า 1 แสนคนขึ้นไป จะมีวิกฤตการว่างงาน และเป็นไปได้น้อยมากที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะถึง 3 ล้านคน แรงงานในภาคการท่องเที่ยว การบริการอาหาร กิจการบันเทิงและสันทนาการ มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างสูงสุด การแก้ปัญหา รัฐต้องทำให้อัตราผู้ป่วยลดลง และเร่งฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 5 แสนคน เพื่อให้สามารถเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวได้ ถ้าหากทำไม่ได้ แนะนำให้เลื่อนการเปิดประเทศไปก่อน” นายอนุสรณ์ กล่าว
“การขยายตัวของภาคการบริโภค และภาคการลงทุนเอกชนจะไม่กระเตื้องขึ้นอย่างที่คาดการณ์กันไว้ การลงทุนภาครัฐ และการชดเชยรายได้ การเยียวยาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญ รัฐบาลอาจต้องกู้เงินเพิ่ม เพื่อนำมาดูแลเศรษฐกิจ และประคับประคองความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชน และกิจการขนาดเล็กขนาดย่อม” นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 1.5 – 2.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเหลือแค่ 5 แสนคน จากปี 2562 ที่เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 3 ล้านคน โดยมองว่า ปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยจะมาจากการที่เศรษฐกิจและตลาดโลกขยายตัว การเบิกจ่ายเงินของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบ คือ ความไม่แน่นอนของการระบาด ความล่าช้าของการกระจายวัคซีน ความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
ด้าน นายพิทธิกรณ์ ปัญญามณี นักวิจัยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การประกาศ พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉินครั้งนี้ สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่สามารถจัดการปัญหาโควิด-19 ได้
“การกู้เงินฉุกเฉินครั้งนี้ ว่ากันตามความสมเหตุสมผล งบประมาณส่วนหนึ่งควรจะถูกจัดสรรไปให้กระทรวงสาธารณสุข แต่ปรากฎว่า งบก้อนแรกราว 3 แสนล้าน ถูกแบ่งให้กระทรวงการคลัง เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการระบาดระลอกที่ 3 แต่ที่ผ่านมาการบริหารจัดการเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนนั้นกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่ม เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่ก็ใช้เวลานานเกือบปี กว่าจะทำสำเร็จ” นายพิทธิกรณ์ กล่าว
“เราต้องตั้งคำถามเหมือนเดิมอีกว่า รัฐบาลจะนำเงินที่กู้มาไปช่วยเหลือในลักษณะเดิม ๆ หรือเปล่า เพราะมันไม่ถึงประชาชน ไม่ถึงรากหญ้า และธุรกิจขนาดเล็ก การแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจด้วยวิธีเดิมนั้น ไม่ต่างอะไรกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาการจัดการงบให้ดี และละเอียดกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา” นายพิทธิกรณ์ กล่าวเพิ่มเติม