คนโบกรถบ่อนระยองติดโควิด-19 เสียชีวิต เป็นรายที่ 61
2020.12.28
กรุงเทพฯ
ในวันจันทร์นี้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 หนึ่งราย ซึ่งเป็นพนักงานโบกรถในบ่อนที่เป็นจุดเริ่มต้นการระบาดที่จังหวัดระยอง เมื่อสุดสัปดาห์ผ่านมา ส่วนนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดที่เป็นแหล่งกระจายเชื้อโควิดระลอกใหม่ ตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องกักตัว 14 วัน แม้ไม่พบว่าติดเชื้อ
นายสาธิต ได้เขียนข้อความบนเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัว ในวันนี้ ระบุว่า “มีเคส เสียชีวิต 1 ราย ที่โรงพยาบาลระยอง เป็นชายอายุ 45 ปี มีโรคประจำตัว คือโรคหัวใจขาดเลือดอยู่เดิม พบประวัติมีความเสี่ยง เป็นคนโบกรถที่บ่อน จากผลตรวจวันที่ 27 ธันวาคม 2563 พบว่าชายรายนี้มีผลตรวจติดเชื้อโควิด-19 และในเช้าวันนี้ (28 ธันวาคม 2563) ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย จึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยรถซาเล้งของเพื่อน แต่มีอาการหยุดหายใจระหว่างทาง เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์จึงทำ CPR เป็นเวลา 30 นาที แต่ไม่สามารถยื้อไว้ได้” ซึ่งนายสาธิต ได้แสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตรายก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. เป็นเวลาเกือบสองเดือน ก่อนจะพบผู้เสียชีวิตรายล่าสุด ดังกล่าววันนี้ รายที่ 61 โดยพบเป็นผู้เกี่ยวข้องกับกรณีที่จังหวัดระยอง จากการแถลง ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลายสิบราย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ผู้ติดเชื้อมีความเชื่อมโยงกับบ่อนการพนัน ในจังหวัดระยอง ซึ่งล่าสุดนายสาธิต ยืนยันในการแถลงข่าวร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขว่า จะได้ดำเนินการกวาดล้างบ่อนการพนันในพื้นที่ภายใน 7 วัน หลังจากบ่อนกลายเป็นต้นตอในการแพร่ระบาดครั้งนี้
“เราจะชำระล้าง เคลียร์อบายมุขในจังหวัดระยองให้หมดสิ้นไป เนื่องจากเราเห็นว่า แหล่งที่เกิดอบายมุข หรือแหล่งอโคจรเป็นแหล่งแพร่ระบาดเชื้อโรค มีคนมารวมอยู่จำนวนมาก มีความเสี่ยงทั้งจำนวนคน ทั้งความแออัดของสถานที่ คนระยองจะรวมใจกันเคลียร์แหล่งอบายมุขที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบ่อนหรืออะไรก็ตาม เพื่อจะล้างเมืองระยองให้สะอาด พร้อมเพื่อจะต้อนรับคนที่จะมาเที่ยวระยองในอนาคต” นายสาธิต ระบุในการแถลงข่าว ช่วงบ่ายวันจันทร์นี้
ขณะเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยในการแถลงข่าวประจำวันของ ศบค. ระบุว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องกักตัวเองหลังจากไปตรวจราชการที่สมุทรสาคร ขณะเดียวกัน ห้องปฏิบัติการ 2 แห่งยืนยันแล้วว่า นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ติดเชื้อโควิด-19
“มีผลการตรวจห้องปฏิบัติยืนยัน พบเชื้อโควิด-19 กับข้าราชการที่อยู่ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร ข้าราชการท่านนั้นมีประวัติในการทำงานอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว… คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 ก็ได้เข้าไปประชุมกับข้าราชการท่านนี้... ท่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ท่านก็กักตัวเองอยู่บ้านแล้ว” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม
นพ.ทวีศิลป์ ระบุอีกว่า นับตั้งแต่วันนี้ถึงช่วงปีใหม่ จะมีการตรวจคัดกรองโรคอย่างเข้มงวด ในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขประเมินว่า หากไม่มีความเข้มงวด อาจทำให้ช่วงปีใหม่ มีผู้ติดเชื้อระดับหลักพันถึงหลักหมื่นรายต่อวัน
“วันนี้มีติดเชื้อเพิ่มขึ้น 144 ราย เป็นติดเชื้อในประเทศ 115 ราย ติดเชื้อจากแรงงานต่างด้าว 14 ราย อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 15 ราย รวมตัวเลข 6,285 ราย ตัวเลขคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าว อยู่ที่ 1,370 ราย หายป่วยไปแล้ว 4,180” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยว่า ในระลอกนี้ มีผู้ติดเชื้อจากที่ต่าง ๆ กระจายอยู่ใน 43 จังหวัดแล้ว โดยกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศ สามารถระบุเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่เชื่อมโยงกับจังหวัดสมุทรสาคร กระจายไปยังสมุทรสาคร สุโขทัย ปทุมธานี นนทบุรี นครนายก นครปฐม สมุทรปราการ กรุงเทพฯ และลพบุรี สอง กลุ่มที่เชื่อมโยงกับจังหวัดระยอง คือ ระยอง ชลบุรี เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และสาม กลุ่มที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ในกรุงเทพฯ ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี และระยอง
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน ด้านการแพทย์และชุดเคลื่อนที่เร็ว กระจายตัวอยู่ใน 54 จังหวัด เพื่อเข้าตรวจประชาชนที่คิดว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อในประเทศรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 2,045 คน และเสียชีวิตสะสม 60 คน (ยังไม่รวมรายที่ระบุว่าเสียชีวิตที่จังหวัดระยอง)
ผวจ.สมุทรสาครติดเชื้อ-อนุทินกักตัว
ด้าน นายอนุทิน ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัว ระบุว่า นายวีระศักดิ์ ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากทำงานอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นายวีระศักดิ์ไม่มีอาการป่วย และเชิญชวนให้ประชาชนให้กำลังใจนายวีระศักดิ์
“เมื่อท่านผู้ว่าฯ เป็นผู้ติดเชื้อ ผมก็ต้องเป็นผู้เสี่ยง เพราะเพิ่งประชุมและทำงานกับท่านผู้ว่าฯ แพทย์ให้ความเห็นว่า ผมเป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำ เพราะผมและท่านผู้ว่าฯ ใส่หน้ากากอนามัย ตลอดเวลาที่ประชุมร่วมกัน ผมจึงต้องเฝ้าระวังอาการตัวเอง 14 วัน และวันนี้ได้ตรวจหาเชื้อตามแพทย์แนะนำแล้ว ผลเป็น negative (ลบ)” นายอนุทิน ระบุ
“เพื่อลดความเสี่ยงของผู้อื่นที่จะต้องมาพบ มาประชุม มาทำงานร่วมกับผม และเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ผมจึงยกเลิกการพบปะกับบุคคลต่าง ๆ ทั้งหมด ทันทีที่ทราบผลการตรวจของท่านผู้ว่าฯ และขอกักตัวเอง 14 วัน เพื่อเฝ้าสังเกตอาการตัวเอง ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข นับจากวันนี้เป็นต้นไป” ข้อความตอนหนึ่ง ของนายอนุทิน
นายกฯ ยืนยันรัฐบาลไม่ได้ปล่อยเชื้อโรค
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล หลังถูกถามถึงกระแสข่าว ที่ว่ารัฐบาลเป็นผู้ปล่อยเชื้อโควิด-19 เพื่อหยุดการชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลของประชาชน โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ปล่อยเชื้อโรค
“บางคนออกมาพูดว่ารัฐบาลปล่อยเชื้อโรคออกมาเพื่อประโยชน์อย่างอื่น คนพวกนี้ใช้ไม่ได้ ขออย่าไปให้ค่าข่าวพวกนี้ รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลประชาชน… ผมเองก็มีโอกาสติด ถ้าผมไปที่โน่นที่นี่… ทุกอย่างมีบทเรียน มีเคสตัวอย่าง การบริหารราชการก็เป็นแบบนี้ ผมได้มอบหมายหน่วยงานทุกหน่วยงานรับผิดชอบ ไม่ใช่การโยนความรับผิดชอบ ไม่ใช่ผมปล่อยปละละเลย ทุกเรื่องผมไม่เคยทิ้งสักงาน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
การเปิดเผยครั้งนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 15 โดยห้ามประชาชนเข้าพื้นที่เสี่ยง และชุมนุมรวมตัวกัน โดยสามารถสรุปข้อกำหนด 8 ข้อ ได้ดังนี้ 1. ห้ามประชาชนใช้หรือเข้าไปในพื้นที่ หรือยานพาหนะที่เสี่ยงต่อการติดโรค 2. ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดอื่น ๆ สั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรคทั้ง 3. ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่แออัด 4. ให้เจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองการเดินทาง และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว
5. ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 6. ให้ ศปก.ศบค. ปฏิบัติงานเพื่อยุติสถานการณ์การแพร่ระบาด ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 7. ให้แต่ละจังหวัดดำเนินการตามมาตรการของ นายกรัฐมนตรี หรือ ศบค. เพื่อป้องกันการระบาดระลอกใหม่ และ 8. ให้คำสั่งต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ และจังหวัดต่าง ๆ ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นตามข้อกำหนดนี้
กทม. สั่งปิด 4 สถานที่เสี่ยงโควิด
ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ศูนย์ข้อมูลโควิด-2019 ออกประกาศ ระบุว่า รัฐบาลได้มีมาตรการคุมเข้มการแพร่กระจายโควิด-19 ช่วงวันที่ 29 ธ.ค. 2563-4 ม.ค. 2564 โดยให้ปิดสถานที่ ที่มีกิจกรรมคนแออัด เช่น 1. สนามม้า 2. สนามชนไก่และสนามซ้อมไก่ชน 3. สนามชนโคและสนามกัดปลา และ 4. สถานบริการ หรือ สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ กิจการอาบ อบ นวด
โดยให้เปลี่ยนสถานบริการ เช่น ผับ บาร์ ให้เป็นร้านอาหาร สามารถขายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ และให้ปิดบริการก่อนเที่ยงคืน (24:00) โดยห้ามมีการเต้น-รำวง ห้ามบริการปรนนิบัติและบริการร้องเพลงกับลูกค้า