นราธิวาสฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก หลังพบติดเชื้อในเรือนจำจังหวัด 116 ราย
2021.04.05
ปัตตานี และนราธิวาส
ในวันจันทร์นี้ จังหวัดนราธิวาส เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนกลุ่มเสี่ยงแล้ว หลังจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส 116 ราย เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 โดยในระยะแรก นราธิวาสได้รับวัคซีน 5,000 โดส เตรียมกระจายฉีดใน 13 อำเภอ
นายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จังหวัดนราธิวาสว่า จากการพบผู้ติดเชื้อในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ทำให้จังหวัดต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา
“ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส จึงต้องมีการประสานการปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที... แผนการกระจายวัคซีนของจังหวัดนราธิวาส จำนวน 5,000 โดส ซึ่งสามารถฉีดได้จำนวน 2,500 คน กลุ่มเป้าหมาย คือ ทีมสาธารณสุขด่านหน้า บุคลากรทางการแพทย์ที่สมัครใจ และจะเพิ่มเติมกลุ่มเจ้าหน้าที่ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาสที่ยังไม่ติดเชื้อ” นายไพโรจน์ กล่าว
“ในเดือนมิถุนายนนี้จะมีวัคซีนจากบริษัท แอสตราเซเนกา มาเพิ่มเติม สำหรับจังหวัดนราธิวาสมีเป้าหมายในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประมาณ 450,000 คน ทั้งนี้ เทศบาลเมืองนราธิวาสได้แจ้งงดการจัดงานสงกรานต์แล้ว ด้านท่าอากาศยานนราธิวาสยังคงใช้มาตรการ ด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดนราธิวาสจะต้องรายงานตัว ณ อำเภอปลายทาง และผ่านการพิจารณาว่าจะมีการกักตัวหรือไม่” นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ที่จะฉีดในจังหวัดนราธิวาส กลุ่มแรกเป็นวัคซีนของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ประเทศจีน ได้รับการจัดสรรวัคซีนระยะที่ 1 วันที่ 5-9 เมษายน 2564 จำนวน 5,000 โดส สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 2,500 ราย ในพื้นที่ 13 อำเภอ เป้าหมายจะฉีดให้ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ผู้เสี่ยงต่อการสัมผัส ประชาชนที่มีโรคประจำตัว และประชาชนทั่วไป โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส พิจารณากระจายวัคซีนตามความเสี่ยงของพื้นที่ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนด
ผู้ที่จะรับวัคซีนต้องลงทะเบียน ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต คัดกรอง ซักประวัติ ประเมินความเสี่ยง ลงนามในใบยินยอมรับวัคซีน รอฉีดวัคซีน ฉีดวัคซีน พักสังเกตอาการ 30 นาที สแกนไลน์แอป “หมอพร้อม” และตรวจสอบก่อนกลับ รับเอกสารการปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน โดยในวันนี้ มีการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และโรงพยาบาลสุไหงโกลก
นายแพทย์นสุเทพ หะยีสาและ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า เริ่มฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่แล้วในวันนี้ โดยเป็นไปตามความสมัครใจ
“วันนี้เป็นวันแรกที่โรงพยาบาลนราธิวาสเปิดให้ฉีดวัคซีนซิโนแวค เป็นความยินดีของเจ้าหน้าที่ที่มารับวัคซีน ส่วนตัวเมื่อวานได้ทำการตรวจโควิด-19 แล้วและผลเป็นลบ วันนี้เลยมารับวัคซีน จากสถานการณ์ในจังหวัดนราธิวาสเกิดปัญหาด้วยคนไข้ติดโควิดในเรือนจำเป็นปริมาณมาก ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วย เข้ารับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทาน” นพ.สุเทพ กล่าว
ในวันเดียว นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโกลก ก็ได้เข้ารับวัคซีนโควิด-19 ที่ ห้องประชุมพรุประกาย ชั้น 2 อาคารร้านค้าสวัสดิการ โรงพยาบาลสุไหงโกลก พร้อมกับบุคลากรทางการแพทย์
“เริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายในวันนี้เป็นวันแรก ที่กำหนดไว้ จำนวน 640 คน ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าของโรงพยาบาลสุไหงโกลก อสม. เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรและเจ้าหน้าที่ตำรวจ คาดว่าจะฉีดครบทั้งหมดภายใน 1 สัปดาห์ ตามที่โรงพยาบาลได้นัดหมายไว้” นายรุ่งเรือง ระบุ
ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 เวลา 20.00 น. ว่ามีการตรวจพบ เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 ภายในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส จึงได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
“เรือนจำจังหวัดนราธิวาส มีผู้ต้องขัง 2,334 คน เก็บสิ่งส่งตรวจแล้ว 124 คน ติดเชื้อ 92 คน ในส่วนของเจ้าหน้าที่เรือนจำมีจำนวน 97 คน เก็บสิ่งส่งตรวจแล้ว 83 คน ติดเชื้อ 24 คน และอีก 14 คนจะต้องมีการเก็บสิ่งส่งตรวจเพิ่ม ด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในกลุ่มผู้สัมผัส จำนวน 185 คน เก็บสิ่งส่งตรวจแล้ว 128 คนยังไม่พบการติดเชื้อ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมทั้งสิ้น 116 คน” นายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ได้เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์
นพ.วิเศษ ระบุว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจังหวัดนราธิวาส จึงจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส และเตรียมบุคลากรดูแลตลอด 24 ชั่วโมงด้วย
“วันนี้จะจัดทีมเข้าไปทำโรงพยาบาลสนาม โดยจะจัดเวรแบ่งเป็น 2 ทีม ทีมละ 12 ชั่วโมงดูแลต่อเนื่องให้ได้ 28 วัน แล้วจะให้เจ้าหน้าที่เรือนจำที่ติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด นอกจากนี้จะส่งทีมสาธารณสุขเข้าไปดำเนินการแยกกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อสังเกตอาการ ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายในการปฏิบัติงาน โดยใช้มาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีล (BUBBLE AND SEAL) คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า แยกกลุ่มเปราะบาง” นพ.วิเศษ กล่าวในการประชุม ศบค. จังหวัดนราธิวาสวันจันทร์นี้
ขณะเดียวกัน กรมราชทัณฑ์ ก็ได้ประกาศงดเยี่ยมญาติแบบปกติทุกเรือนจำทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2564 โดย งดนำผู้ต้องขังออกทำงานนอกเรือนจำ งดย้ายผู้ต้องขังระหว่างเรือนจำ และงดนำบุคคลภายนอกเข้าเรือนจำ รวมถึมีการแยกกักโรคผู้ต้องขังเข้าใหม่โดยห้ามย้ายหรือออกจากห้องเป็นระยะเวลา 14-21 วัน และประสานโรงพยาบาลแม่ข่ายในการเข้าตรวจหาเชื้อในผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกรายอย่างน้อย 2 ครั้งก่อนออกจากห้องแยกกักโรค
ไทยพบติดเชื้อเพิ่ม 194 ราย ป่วยสะสม 29,321 ราย
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยประจำวันที่ 5 เมษายน 2564 ว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 194 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 29,321 ราย กลับบ้านแล้ว 27,840 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 1,386 ราย แบ่งเป็นอยู่ในโรงพยาบาล 920 ราย และโรงพยาบาลสนาม 466 ราย มีอาการหนัก 12 ราย และใช้เครื่องช่วยหายใจ 6 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมรวม 95 ราย
สำหรับ ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น 203,650 โดส เป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 166,243 ราย และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 37,407 ราย
นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ เปิดเผยในการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขว่า หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว ประชาชน 8.88 เปอร์เซ็นต์มีผลข้างเคียงไม่รุนแรง ขณะที่ 91.12 เปอร์เซ็นต์ไม่พบผลข้างเคียง โดยผลข้างเคียงที่พบมากที่สุดคือ การอาเจียน 2.34 เปอร์เซ็นต์ ปวดเมื่อยเนื้อตัว 2.22 เปอร์เซ็นต์ อักเสบบริเวณที่ฉีด 1.76 เปอร์เซ็นต์ และอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ ท้องเสีย เหนื่อย มีผื่น และคลื่นไส้ ตามลำดับ