ปัตตานีเร่งเพิ่มเตียง หลังผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล

มารียัม อัฮหมัด
2021.07.01
ปัตตานี
ปัตตานีเร่งเพิ่มเตียง หลังผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ยกเตียงกระดาษระหว่างจัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม ที่สนามองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี วันที่ 30 มิถุนายน 2564
เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่การแพทย์ในจังหวัดปัตตานี เร่งเพิ่มเตียงอีก 700 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนัก และขยายโรงพยาบาลสนามทั่วทั้งจังหวัดอีกกว่า 1,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หลังจากมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งต้องรักษาตัวที่บ้าน เพราะปัญหาเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ

ศูนย์ประสานงานบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาผลกระทบ โควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า ณ ปัจจุบัน ในจำนวนประชากรของจังหวัดชายแดนใต้ 2,069,046 คน มีผู้ป่วยรับการรักษาโควิด-19 กว่า 3,200 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่กล่าวว่ามีความจำเป็นต้องปรับการเตรียมการในการรักษา

นพ. รุสตา สาและ หัวหน้ากลุ่มงานด้านพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาบาลจังหวัดปัตตานี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันพฤหัสบดีนี้ว่า จังหวัดได้ปรับการเตรียมการให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยให้โรงพยาบาลในตัวจังหวัดรองรับผู้ป่วยสีแดงที่มีอาการหนัก ส่วนโรงพยาบาลอำเภอ 11 แห่ง มีการปรับแผนให้สามารถรับผู้ป่วยสีเหลือง และให้แต่ละอำเภอมีโรงพยาบาลสนาม แห่งละ 100 เตียง สำหรับผู้ป่วยสีเขียวที่มีอาการไม่รุนแรงอีกด้วย

ปัจจุบัน โรงพยาบาลปัตตานี ให้การรักษาผู้ป่วยสีแดงอยู่ 139 คน ส่วนโรงพยาบาลอำเภอรักษาผู้ป่วยสีเหลือง ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ 196 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ข่าว ระบุว่า มีผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวที่บ้านอีกในระดับร้อยคน มีผู้ป่วยในนราธิวาส 719 ราย และในยะลา 1,259 ราย

“ในภาพรวมของโรงพยาบาลในอำเภอเมือง เราจะเปิดให้เหลือไว้ 700 กว่าเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยสีแดง รวมกับโรงพยาบาลสนามที่กางเตนท์ใช้สนาม อบจ. อีก 250 เตียง ใครที่รักษาอาการดีขึ้นก็จะไปอยู่โรงพยาบาลสนาม ขณะนี้ เราพยายามเร่งเคลียร์ผู้ป่วยที่นอนรักษาที่บ้านให้เข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลสนามโดยเร็วที่สุด” นพ. รุสตา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นพ. รุสตา กล่าวว่า มีผู้ป่วยบางคนอยู่ที่บ้านเพราะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จัดทีมแพทย์ติดตามอาการ ให้คำแนะนำทางวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ส่งยา และเวชภัณฑ์ ไปให้ที่บ้านเพื่อลดภาระของโรงพยาบาลสนามในขณะที่ยังมีไม่พอ

ในภาพรวม ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในระลอกสาม ซึ่งเริ่มจากสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2564 ส่วนในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากการทำงานในประเทศมาเลเซีย หลังทางการมาเลเซียประกาศล็อกดาวน์

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ ได้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ในโรงเรียนตะฟิตห์มัรกัส จังหวัดยะลา เริ่มจากการที่โรงเรียนไม่ได้รีบคัดแยกเด็กที่มีอาการป่วยด้วยโควิด-19 ออกมาแต่เนิ่น ๆ ทำให้เชื้อติดต่อไปยังเพื่อนนักเรียนอีก 402 คน จากนักเรียนกว่า 500 คน โดยโรงเรียนได้ปล่อยเด็กให้เดินทางกลับภูมิลำเนาในจังหวัดต่าง ๆ ทำให้เชื้อแพร่เพิ่มเติมในอีก 12 จังหวัด ซึ่งในกรณีนี้ นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า พบเชื้อโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์แอฟริกาใต้และอังกฤษ และได้เร่งติดตามว่าเชื้อกระจายไปจังหวัดใดบ้าง

ในเรื่องของปัญหาของการระบาดระลอกสามที่กระจายอย่างกว้างขวางนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวกล่าวว่า เป็นเพราะไม่มีวัคซีนเพียงพอ และประชาชนขาดความรับผิดชอบต่อสังคม

“สาเหตุที่เตียงไม่พอ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล อาจต้องให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวที่บ้านเป็นเพราะหลายสาเหตุ ทั้งการฉีดวัคซีนของประชาชนถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก มีจำนวนมากยังต่อต้านวัคซีน... ยังมีการเดินทางข้ามจังหวัดไปมา ยังมีการรวมตัว ยังเล่นการพนัน พฤติกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่ตระหนักของการแพร่ระบาด” เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวระบุ

เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน นี้ รัฐบาลได้ประกาศห้ามประชาชนเดินทางข้ามจังหวัด งดการรวมกลุ่ม และปิดแคมป์ก่อสร้าง เพื่อลดการแพร่เชื้อ

ในการป้องกันนั้น เจ้าหน้าที่ระบุว่า ประชาชนในปัตตานี จำนวน 726,015 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 31,821 คน คิดเป็น 4.38 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนในยะลา ได้รับการวัคซีน 24,456 คน จาก 538,602 คน คิดเป็น 4.54 เปอร์เซ็นต์ และประชาชนในนราธิวาส จำนวน 804,429 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 57,512 คน คิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม มีประชาชนบางกลุ่มที่ยังไม่เชื่อมั่นในการจัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล

“ฉันก็อยากฉีดนะวัคซีน แต่ข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับซิโนแวคในพื้นที่ หลายคนตายหลังฉีดวัคซีน แถมไม่มีสักเคสเดียวที่รัฐออกมายอมรับ โดยส่วนใหญ่โยนว่าตายเพราะเลือดอุดตันบ้าง ตายเพราะโรคประจำตัวบ้าง แต่วัคซีนอาจเป็นสาเหตุ ฉันเชื่อว่ามันต้องเกี่ยวข้องกับวัคซีน” นางไซหมะ เปาะกะ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ถึงสาเหตุที่ยังลังเลในการฉีดวัคซีน 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลชี้แจงว่า มีผู้เสียชีวิตหลังจากการรับวัคซีน 103 ราย แต่ส่วนหนึ่งผลชันสูตรพบว่า ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน และส่วนหนึ่งยังรอผลการตรวจสอบ ทั้งนี้ ในภาพรวม มีประชาชนทั่วประเทศที่ได้รับวัคซีนแล้วเกือบสิบล้านคน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง